posttoday

หมอดูรัฐศาสตร์ : (๕) ชะตากรรมนายกรัฐมนตรีคนใหม่

12 พฤษภาคม 2562

ท่านจะต้องเจอ “สถานการณ์ใหม่ๆ”ที่ผู้เขียนนึกออกก็มีอยู่ ๓ แบบ คือ แบบแรก “ถนอมโมเดล”  แบบที่สองคือ “คึกฤทธิ์โมเดล” ที่รัฐบาลประกอบด้วย ส.ส.หลายพรรค จนสื่อมวลชนยุคนั้นเรียกว่า “รัฐบาลร้อยพ่อพันแม่” แบบสุดท้ายก็คือ “เกรียงศักดิ์โมเดล”

ท่านจะต้องเจอ “สถานการณ์ใหม่ๆ”ที่ผู้เขียนนึกออกก็มีอยู่ ๓ แบบ คือ แบบแรก “ถนอมโมเดล”  แบบที่สองคือ “คึกฤทธิ์โมเดล” ที่รัฐบาลประกอบด้วย ส.ส.หลายพรรค จนสื่อมวลชนยุคนั้นเรียกว่า “รัฐบาลร้อยพ่อพันแม่” แบบสุดท้ายก็คือ “เกรียงศักดิ์โมเดล”

**********

โดย ทวี สุรฤทธิกุล

จัดตั้งมาแล้ว” คงไม่แคล้ว “เขา” ไปได้

ภายหลังจากที่ กกต.สามารถ “ถูลู่ถูกัง” ประกาศผลคะแนนออกมาอย่างทุลักทุเล ท่ามกลางกระแสโต้แย้งและความเคลือบแคลงสงสัยจากผู้คนจำนวนมาก ก็ทำให้เสียงในสภาผู้แทนทั้ง ส.ส.ระบบเขต และ ส.ส.ระบบบัญชีรายชื่อ ค่อนข้างจะ “เป็นใจ” ให้กับผู้หวังสืบทอดอำนาจ และมีความชัดเจนขึ้นมาว่านายกรัฐมนตรีคนต่อไปก็คือ “ขวัญใจคนเดิม”พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นั่นเอง

แม้ว่าคะแนนเสียงในสภาผู้แทนอาจจะ “ปริ่มน้ำ”แต่ด้วย “ความฝัน”ของ “คณะผู้จัดตั้ง”ที่มีพรรคพลังประชารัฐเป็นแกนนำ ดูมั่นใจว่าสามารถประคับประคองรัฐนาวาลำนี้ให้อยู่รอด(แม้จะไม่ปลอดภัย) โดยมี “ข้อมูล”เข้าหูหมอดูคนนี้เป็นระยะๆ ในการดำเนินการเพื่อ “มัดใจ” พรรคการเมืองต่างๆ ให้มาเห็นดีเห็นชอบกับการตั้งรัฐบาลร่วมกันในครั้งนี้

ในช่วงก่อนพระราชพิธีบรมราชาภิเษก ทราบมาว่าได้มีการ “ลอบบี้”คือติดต่อเจรจากันระหว่างพรรคพลังประชารัฐกับบรรดาพรรคการเมืองน้อยใหญ่อย่าง “เอาเป็นเอาตาย”คือถ้ามาร่วมกับพรรคพลังประชารัฐจะได้ “เป็นรัฐบาล”แต่ถ้าไม่ร่วมอาจจะ “ตาย”ต้องประสบเคราะห์กรรมต่างๆ นานา โดยเฉพาะจะถูกสังคมประณามว่า “ทำร้ายประเทศไทย”

อันเป็นเหตุผลโน้มน้าวสำคัญของพรรคพลังประชารัฐ เนื่องจากประเทศไทยในระยะเปลี่ยนผ่านหลังการเลือกตั้งนี้ จะยุ่งยากลำบากอย่างมาก จำเป็นต้องได้รับความร่วมมือร่วมใจจากพรรคการเมืองทุกพรรค เพื่อประคับประคองประเทศชาติให้อยู่รอด จึงจำเป็นต้องมาช่วยกันทำงานกับพลเอกประยุทธ์ และจัดตั้งรัฐบาลให้ได้มากพรรคที่สุด ที่สุดท่าน(พรรคการเมืองทั้งหลาย)จะได้ชื่อว่าเป็น “ผู้ช่วยชาติ”อย่างแท้จริง

ข้อเสนอนี้นับว่า “โรแมนติค” คือฟังดูดีและซาบซึ้งกินใจ แต่ที่แท้จริงนั้นพรรคการเมืองต่างๆ สนใจแต่ตำแหน่งต่างในรัฐบาลนั้นมากกว่า โดยได้ทราบมาว่ามีการ “ขายฝัน”ให้กับพรรคการเมืองต่างๆ จนเคลิบเคลิ้มไปตามๆ กัน เช่น พรรคเล็กบางพรรคที่มีจำนวน ส.ส.แค่ ๒ - ๓ คน ถูกเสนอให้ได้ตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการ ซึ่งโดยปกติถ้าจะใช้ระบบโควต้ากันจริงๆ ตามที่เคยปฏิบัติมาในอดีต

อาจต้องใช้เสียงถึง ๖ – ๗ เสียง ซึ่งแน่นอนว่าการให้ข้อเสนออย่างนี้จะสร้างความยุ่งยากให้กับรัฐบาลอย่างน่ากลัวในอนาคตอย่างแน่นอน ยิ่งไปกว่านั้นยังมีการจัดสรรปันส่วนตำแหน่งต่างๆ ในคณะกรรมาธิการ เช่น ให้ตำแหน่งประธานกรรมาธิการแก่พรรคการเมืองเล็กๆ ซึ่งตำแหน่งประธานกรรมาธิการนี้จะทำให้คนที่มาดำรงตำแหน่งได้สายสะพายในปีแรกที่ดำรงตำแหน่งนั้นในทันที ซึ่งคนจำนวนหนึ่งที่ไม่เคยมีอำนาจวาสนามุ่งหวังเพียงแค่นี้

สภาพการณ์ของรัฐบาลในรูปแบบที่ “ปรนเปรอ”กันจนเสียผู้เสียคนแบบนี้ น่าจะส่งผลถึงการดำรงอยู่ของ “นายกรัฐมนตรีคนใหม่”อย่างแน่นอน ที่เรียกว่าเป็นนายกรัฐมนตรีคนใหม่ก็เพราะว่า ท่านนายกรัฐมนตรี(แม้จะเป็นคนเดิม)จะต้องเจอ “สิ่งใหม่”อย่างน้อยก็ ๒ เรื่อง หนึ่งก็คือ ท่านจะต้อง “ปรับบุคลิกเสียใหม่”แน่นอนว่าเมื่อท่านต้องมาเป็นนายกรัฐมนตรี ท่ามกลางภาวะที่ต้องเอาอกเอาใจ ส.ส.และ ส.ว.อย่างสุดๆ ท่านก็จะต้องมีกริยาที่นอบน้อม จะกระโชกโฮกฮาก จะตวาดหรือทำอารมณ์เสียใส่ท่าน ส.ส.และ ส.ว.เหล่านั้นไม่ได้ ซึ่งท่านก็จะเป็นคนใหม่ไปโดยปริยาย

อีกสิ่งหนึ่งคือ ท่านจะต้องเจอ “สถานการณ์ใหม่ๆ”ที่ผู้เขียนนึกออกก็มีอยู่ ๓ แบบ คือ แบบแรก “ถนอมโมเดล”เพราะในสมัยที่จอมพลถนอม กิตติขจร เป็นนายกรัฐมนตรีภายหลังการเลือกตั้งในปี ๒๕๑๒ ที่รัฐธรรมนูญห้ามไม่ให้ ส.ส.เป็นรัฐมนตรี แต่ ส.ส.ก็มีอิทธิพลสูงมากในการยกมือ ทั้งในการออกกฎหมาย การพิจารณาญัตติ และการโหวตต่างๆ ดังที่มีเรื่องเล่าว่า ทุกสัปดาห์ก่อนการประชุมสภาผู้แทนราษฎร จะต้องมีคนของรัฐบาลไปแจก “ซองขาว”ให้กับ ส.ส.ทุกครั้ง ที่สุดท่านก็ทนได้เพียงปีเศษ แล้วก็ต้องทำรัฐประหารตัวเอง ล้มสภา “รีดไถ”นั้นเสีย

แบบที่สองคือ “คึกฤทธิ์โมเดล” ที่รัฐบาลประกอบด้วย ส.ส.หลายพรรค จนสื่อมวลชนยุคนั้นเรียกว่า “รัฐบาลร้อยพ่อพันแม่” โดยที่ ส.ส.ในแต่ละพรรคพยายามเรียกร้องเอาผลประโยชน์ต่างๆ ไม่มีสิ้นสุด ถึงขั้นที่ “แอบนอกใจ” ไปเข้าด้วยฝ่ายตรงข้าม รวมถึงทหารที่สูญเสียอำนาจ เพื่อคอยล้มรัฐบาลอยู่ทุกขณะ แม้ว่านายกรัฐมนตรีจะพยายามเอาใจด้วยการให้ความหวังว่าอาจจะมีการปรับรัฐมนตรีเป็นระยะ เช่น ทุกๆ ๒ –๓ เดือน แต่ก็ไม่เป็นที่พอใจ ที่สุดนายกฯคึกฤทธิ์ได้รับข่าวกรองมาว่า ทหารจะทำรัฐประหารหลังปีใหม่ และในต้นเดือนมกราคมปี ๒๕๑๙ นายกฯคึกฤทธิ์ก็ชิง “แจกแห้ว” ให้ทั้งกับทหารและนักการเมืองเหล่านั้นเสีย ด้วยการยุบสภา

แบบสุดท้ายก็คือ “เกรียงศักดิ์โมเดล” ที่พลเอกเกรียงศักดิ์ ชมะนันท์ ขึ้นมาเป็นนายกรัฐมนตรีหลังการเลือกตั้งในปี ๒๕๒๒ ด้วยการสนับสนุนของกลุ่มการเมืองหลายกลุ่ม รวมทั้งมี ส.ว.ที่ทหารแต่งตั้งนั้นมาเป็นฐานอำนาจคอยค้ำจุนรัฐบาล (ก็คล้ายๆ กันกับ ส.ว.ในปี ๖๒ นี้แหละ) แต่ด้วยผลประโยชน์ที่ไม่ลงตัวกัน ทั้งในฝ่าย ส.ส.ที่ไม่เป็นกลุ่มเป็นก้อนชัดเจน (รัฐธรรมนูญ ๒๕๒๑ ไม่ได้กำหนดให้มีระบบพรรคการเมือง ส.ส.จึงเข้ามาในสภาทั้งในแบบที่รวมกันเป็นกลุ่มตามแบบเดิม แต่ใช้ชื่อพรรคไม่ได้ กับทั้งที่สมัครเขามาในนามอิสระ สภาจึงวุ่นวายมาก) และใน ส.ว.ที่ระยะแรกๆ ดูมีความเป็นปึกแผ่นดี แต่ที่สุดเมื่อรัฐบาลง่อนแง่น รวมถึงที่มีกระแสความต้องการที่จะเปลี่ยนายกรัฐมนตรี อย่างที่ในสมัยนั้นเรียกว่า “ข้อมูลใหม่”นายกฯเกรียงศักดิ์ก็ประกาศลาออกกลางสภา และได้พลเอกเปรม ติณสูลานนท์เป็นนายกรัฐมนตรีสืบแทน

ชะตากรรมของนายกฯคนใหม่(ในร่างคนเดิม)จะเป็นไปแบบใดในสามแบบนี้ ก็แล้วแต่ “บุญวาสนา” ของตัวท่านนั้นเถิด