posttoday

ความมั่นคงกับสิทธิเสรีภาพ

02 พฤษภาคม 2562

การข่าวกรองเกี่ยวข้องกับประชาชนในประเทศอย่างแยกกันไม่ออก หากปราศจากซึ่งความร่วมมือจากประชาชน การข่าวกรองก็ไร้ประสิทธิภาพ

การข่าวกรองเกี่ยวข้องกับประชาชนในประเทศอย่างแยกกันไม่ออก หากปราศจากซึ่งความร่วมมือจากประชาชน การข่าวกรองก็ไร้ประสิทธิภาพ

*********

โดย...ภุมรัตน ทักษาดิพงศ์

หลายท่านให้ความสนใจและบางคนแสดงความกังวลต่อ พ.ร.บ.ข่าวกรองแห่งชาติ ฉบับใหม่ที่เพิ่งประกาศลงในพระราชกิจจานุเบกษาเมื่อวันที่ 15 เมษายน 2562 โดยเกรงว่า บางส่วนของ พ.ร.บ.นี้อาจเปิดโอกาสให้มีการละเมิดสิทธิเสรีภาพของประชาชนได้ ความห่วงกังวลดังกล่าวถือว่าเป็นเรื่องทีดี ที่ประชาชนจะช่วยกันปกป้องเสรีภาพของตนและไม่ให้ถูกละเมิดโดยหน่วยงานรัฐ

อย่างไรก็ดี หากท่านได้ศึกษาบทบาทและการทำงานของสำนักข่าวกรองแห่งชาติซึ่งเป็นผู้ใช้ พ.ร.บ.ข่าวกรองแห่งชาติ พ.ศ.2562 น่าจะทำให้ความกังวลของท่านลดลง

รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2562 ให้ความสำคัญด้านการข่าวกรองมากขึ้น มาตรา 52 เขียนไว้ว่า“รัฐต้องพิทักษ์รักษาไว้ซึ่งสถาบันพระมหากษัตริย์ เอกราช อธิปไตย บูรณภาพแห่งดินแดน และเขตที่ประเทศไทยมีสิทธิอธิปไตย เกียรติภูมิและผลประโยชน์ของชาติ ความมั่นคงของรัฐ และความสงบเรียบร้อยของประชาชน เพื่อประโยชน์แห่งการนี้ รัฐต้องจัดให้มีการทหาร การทูต และการข่าวกรองที่มีประสิทธิภาพ กำลังทหารให้ใช้ประโยชน์เพื่อการพัฒนาประเทศด้วย “

ไม่ว่าพรรคการเมืองใดขึ้นมาเป็นรัฐบาลบริหารประเทศ ก็ต้องทำตามมาตรา 52 โดยมีเครื่องมือสำคัญคือ การทหารที่เข้มแข็ง การทูต การข่าวกรองที่มีประสิทธิภาพ เศรษฐกิจที่แข็งแกร่ง การบังคับใช้กฎหมายที่เข้มงวด และอื่นๆ ในการบริหารจัดการความมั่นคงของประเทศจากภัยคุกคามและความเสี่ยงต่าง ๆ

การข่าวกรองจึงเปรียบเสมือน “หู ตา”ของรัฐบาล หากตาผ้าฟาง หูหนวก ตาบอด คนๆนั้นก็ไม่สมประกอบ ดำเนินชีวิตอย่างปรกติสุขไม่ได้ เช่นเดียวกัน หากรัฐมีการข่าวกรองที่อ่อนแอก็เป็นอันตรายต่อการรักษาไว้ซึ่งสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ และไม่อาจต่อต้านภัยคุกคามจากภายในและภายนอกได้ ประเทศก็ปราศจากความมั่นคง

การข่าวกรองเกี่ยวข้องกับประชาชนในประเทศอย่างแยกกันไม่ออก หากปราศจากซึ่งความร่วมมือจากประชาชน การข่าวกรองก็ไร้ประสิทธิภาพ ดังนั้น ประชาชนซึ่งมีสิทธิเสรีภาพในด้านต่างๆ (ดูหมวด3 สิทธิเสรีภาพของปวงชนชาวไทย) แต่ “บุคคลจะใช้สิทธิหรือเสรีภาพเพื่อล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขมิได้”(มาตรา 49 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2562)

ในขณะที่รัฐบาลเน้นการพัฒนาประเทศไปสู่ “ไทยแลนด์ 4.0”และให้กระทรวง ทบวงกรม จังหวัดต่าง ๆ เร่งพัฒนาไปสู่ความเป็น 4.0 โดยการนำนวัตกรรมเทคโนโลยีทันสมัยมาใช้ในการบริหาร สำนักช่าวกรองแห่งชาติก็ต้องพัฒนาตนเองให้เป็น “สำนักข่าวกรองแห่งชาติ 4.0 “ด้วยเช่นกัน โดยการทบทวนและปรับปรุงอำนาจหน้าที่ เครื่องมือ ที่กำหนดไว้ใน พ.ร.บ.สำนักข่าวกรองแห่งชาติ พ.ศ. 2528 ให้สอดคล้องกับ ภัยคุกคามจากนอกประเทศและภายในประเทศต่อความมั่นคงของชาติที่เปลี่ยนไปทั้งรูปแบบและความรุนแรง พ.ร.บ.ข่าวกรองแห่งชาติ พ.ศ.2528 เป็นเครื่องมือเก่ารุ่น 1.0 ในขณะที่ภัยคุกคามและเทคโนโลยีได้พัฒนาไปเป็น 4.0 แล้ว

การปรับปรุง พ.ร.บ.ข่าวกรองแห่งชาติ พ.ศ.2562 นี้มี วัตถุประสงค์ เพียงแค่ (1) ให้เจ้าหน้าที่สามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพภายในขอบเขตอำนาจตามกฎหมายและสอดคล้องกับภัยคุกคามที่เปลี่ยนไป และได้รับความร่วมมือจากหน่วยงานภาครัฐและเอกชน

(2) ให้เจ้าหน้าที่ได้รับความคุ้มครองทางกฎหมาย ที่สำคัญคือ เมื่อได้รับอำนาจและความคุ้มครอง หากบุคลากรของหน่วยงานนี้นำข้อมูลที่ได้มาไปเปิดเผยโดยไม่ได้รับอนุญาตหรือไม่ได้เป็นส่วนหนึ่งของงาน หรือกระทำความผิดต่อหน้าที่หรือความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ ต้องได้รับโทษสองเท่าของโทษที่กฎหมายกำหนดไว้สำหรับความผิดนั้น (มาตรา 16)

อำนาจหน้าที่ระบุไว้ในมาตรา 5 ของพระราชบัญญัติที่ปรับปรุงใหม่นี้ สอดคล้องกับ “สถานะ”ของสำนักข่าวกรองแห่งชาติ ที่เป็นทั้ง “องค์การข่าวกรอง”ที่รวบรวมและวิเคราะห์สถานการณ์ต่างประเทศที่จะเป็นภัยคุกคามหรือกระทบต่อผลประโยชน์ ความมั่นคงของชาติ และเป็น “องค์การรักษาความปลอดภัย”ที่รับผิดชอบงานเชิกรุก ทั้งงานต่อต้านการบ่อนทำลาย ต่อต้านการจารกรรม ต่อต้านการก่อวินาศกรรมและการก่อการร้าย และการรักษาความปลอดภัยเชิงรับ ในการให้ความรู้แก่ส่วนราชการอื่นว่าด้วย พ.ร.บ.และระเบียบการรักษาความปลอดภัยแห่งชาติทั้ง รปภ.บุคคล สถานที่ ข่าวสาร และ พ.ร.บ.ความลับของทางราชการ

นอกจากมีหน้าที่ “รวบรวม วิเคราะห์ ศึกษา วิจัย พัฒนากิจการข่าวกรองและต่อต้านข่าวกรอง”แล้ว หน้าที่สำคัญประการหนึ่งคือ “การประสานงานข่าว”ตามมาตรา 12 ซึ่งกำหนดให้มี “ศูนย์ประสานข่าวกรองแห่งชาติ (ศปข.) ที่ทำงานร่วมกันในหน่วยข่าวต่าง ๆ ในภูมิภาคอย่างใกล้ชิด หน้าที่ของศูนย์นี้ นอกจากรับข่าวแล้ว ยังต้อง “กระจ่ายข่าว”ให้กับหน่วยข่าวที่เกี่ยวข้องด้วย นอกจากนั้น ต้องเสนอแนะนโบบายและมาตรการข่าวกรอง ต่อต้านข่าวกรอง การรักษาความปลอดภัยฝ่ายพลเรือนต่อสภาความมั่นคงแห่งชาติและนายกรัฐมนตรีด้วย

บางฝ่ายกังวลกับข้อความบางตอนในมาตรา 6 ที่ว่า “อาจใช้เครื่องมืออีเล็คโทรนิกส์ เครื่องมือทางวิทยาศาสตร์ เครื่องโทรคมนาคม หรือเทคโนโลยีอื่นใด เพื่อให้ได้มาซึ่งข้อมูลหรือเอกสารดังกล่าวได้”ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีดังกล่าวเป็นเพียงเครื่องมือหนึ่งที่อาจนำมาใช้ในการย้อนรอย “ฝ่ายตรงข้าม”ที่นำเทคโนโลยีสมัยใหม่ รวมทั้งเทคโนโลยีข้อมูลข่าวสารที่พัฒนาไม่หยุดยั้งมากระทำต่อไทย ดังนั้น เราก็ต้องพัฒนาและใช้ความก้าวหน้าของเทคโนโลยีสมัยใหม่ย้อนรอยกระทำต่อฝ่ายตรงข้ามและ “คนไม่ดี”โดยไม่ได้มีความมุ่งหมายใด ๆ ที่จะกระทำต่อ “คนดี”ที่สิทธิเสรีภาพของเขาต้องได้รับความคุ้มครอง

“ความซื่อสัตย์ต่อวิชาชีพ”เป็นเรื่องที่สำนักข่าวกรองแห่งชาติได้อบรมและย้ำเป็นพิเศษต่อเจ้าหน้าที่ของตนตลอดมา และมีการตรวจสอบอย่างเข้มงวดที่จะไม่มีการใช้วิชาชีพไปในทางที่ผิด แม้มาตรา 5 (8) ระบุว่า “ปฏีบัติหน้าที่อื่นตามที่บัญญัติไว้ในพระราชบัญญัตินี้ หรือตามที่นายกรัฐมนตรีหรือสภาความมั่นคงแห่งชาติมอบหมาย “สำนักข่าวกรองแห่งชาติยึดหลักการทำงานว่า “ทำงานด้านความมั่นคงของชาติให้รัฐบาล โดยไม่คำนึงว่ารัฐบาลนั้นมาจากพรรคใด และไม่คำนึงว่า นายกรัฐมนตรีคนนั้นเป็นใคร หรือมาจากพรรคใหน” ที่ผ่านมา ฝ่ายการเมืองก็เข้าใจและไม่เคยใช้หน่วยงานนี้เพื่อผลประโยชน์ทางการเมือง

ท่านที่อยากรู้เรื่องราวของหน่วยงานเล็กๆ แห่งนี้เพิ่มเติม สามารถหาอ่านได้จากหนังสือ “39ปีกับสำนักข่าวกรองแห่งชาติ”และ“ไล่ล่าจารชน”ซึ่งทั้งหมดเป็น “เรื่องจริง”