posttoday

40 ปี การสาธารณสุขมูลฐาน (20)

30 เมษายน 2562

การตัดสินใจสร้างเมืองหลวงใหม่ในภาวะที่ประเทศอยู่ในวิกฤตเศรษฐกิจ จึงเป็นการตัดสินใจอย่าง “กล้าหาญ”ขณะเดียวกันก็มีความเสี่ยงสูง เพราะประสบการณ์การย้ายหรือสร้างเมืองหลวงใหม่ของหลายประเทศ มีทั้งที่ประสบความสำเร็จและล้มเหลว

การตัดสินใจสร้างเมืองหลวงใหม่ในภาวะที่ประเทศอยู่ในวิกฤตเศรษฐกิจ จึงเป็นการตัดสินใจอย่าง “กล้าหาญ”ขณะเดียวกันก็มีความเสี่ยงสูง เพราะประสบการณ์การย้ายหรือสร้างเมืองหลวงใหม่ของหลายประเทศ มีทั้งที่ประสบความสำเร็จและล้มเหลว

******************

นายแพทย์วิชัย โชควิวัฒน

ในปี 2561 ซึ่งเป็นปีที่จัดการประชุม 40 ปี การสาธารณสุขมูลฐาน คาซัคสถานมีผลิตภัณฑ์มวลรวมประชาชาติ 508,000 ล้านดอลลาร์ เป็นอันดับที่ 42 ของโลก (ของไทย 1.33 ล้านดอลลาร์) รายได้เฉลี่ยต่อหัวประชากร ปีละ 27,494 ดอลลาร์ เป็นอันดับที่ 53 ของโลก ขณะที่ของไทย ปีละ 18,944 ดอลลาร์

คาซัคสถานมีเนื้อที่กว้างใหญ่ไพศาล ราว 2.72 ล้านตารางกิโลเมตร ใหญ่กว่าไทยราว 5 เท่า ขณะที่มีประชากรเพียง 18 ล้านคน เป็นประเทศที่อุดมด้วยน้ำมัน แก๊สธรรมชาติ และทรัพยากรธรรมชาติอื่นๆ ทั้งยูเรเนียม โครเมียม ตะกั่ว และสังกะสี (เป็นอันดับ 2 ของโลก) แมงกานีส (อันดับ 3) ทองแดง (อันดับ 5) นอกจากนี้ยังมีถ่านหิน เหล็ก ทองคำ และเพชร

แต่ในปีที่คาซัคสถานได้เอกราชจากสหภาพโซเวียตเมื่อ พ.ศ. 2534 นั้น ประเทศอยู่ในภาวะวิกฤตเศรษฐกิจ รัฐบาลมีเงินแค่พอจ่ายเงินเดือนและสวัสดิการให้แก่พนักงานของรัฐเท่านั้น ในท้องตลาดสินค้าต่างๆขาดแคลน ไม่มีแม้แต่นม ขนมปัง เกลือ และไม้ขีดไฟ การตัดสินใจย้ายไปสร้างเมืองหลวงใหม่จึงเป็นการตัดสินใจที่กล้าหาญมาก

มีภาษิตบทหนึ่งของชาวคาซัคสถานกล่าวว่า “ชีวิตมนุษย์มีการเปลี่ยนแปลงใหญ่ทุก 50 ปี”จากความรู้ใหม่ๆ ทุกศตวรรษจะมีการเปลี่ยนแปลงอย่างรุนแรงครั้งใหญ่ เพราะทัศนะต่อโลกของประชาชนมีการเปลี่ยนแปลงไป

การตัดสินใจสร้างเมืองหลวงใหม่ในภาวะที่ประเทศอยู่ในวิกฤตเศรษฐกิจ จึงเป็นการตัดสินใจอย่าง “กล้าหาญ”ขณะเดียวกันก็มีความเสี่ยงสูง เพราะประสบการณ์การย้ายหรือสร้างเมืองหลวงใหม่ของหลายประเทศ มีทั้งที่ประสบความสำเร็จและล้มเหลว

ผู้นำของคาซัคสถาน คือ ประธานาธิบดี นูร์ซัลตาน นาซาร์บาเยฟว์ ซึ่งเป็นผู้นำในการประกาศเอกราช และเป็นผู้นำต่อเนื่องมาจนทุกวันนี้ เป็นเวลายาวนานราว 30 ปีแล้ว นับเป็นผู้นำที่เข้มแข็ง มีวิสัยทัศน์ และได้รับการยอมรับสูงจากประชาชน พิจารณาได้จากการได้รับการเลือกตั้งมาแล้วหลายสมัย การเลือกตั้งเมื่อ 5 ธันวาคม 2548 นาซาร์ยาเยฟว์ ชนะเลือกตั้งอย่างถล่มทลาย ได้คะแนนโหวตกว่า 90% ในการเลือกตั้งประธานาธิบดีครั้งที่ 5 เมื่อ 26 เมษายน 2558 นาซาร์บาเยฟว์ได้รับเรื่องตั้งด้วยคะแนนถึง 97.7% ในรัฐสภา รัฐบาลก็ครองเสียงข้างมากเด็ดขาดทั้งโดยพรรคการเมืองของนาซาร์บาเยฟว์ และพรรคของลูกสาวนาซาร์บาเยฟว์

การตัดสินใจย้ายเมืองหลวงกระทำอย่างเป็นขั้นตอน ผ่านการพิจารณาของรัฐสภาโดยลำดับ ภายใต้การชี้นำของผู้นำประเทศที่กล่าวว่า “การสร้างเมืองหลวง คือการสร้างหน้าใหม่ของประวัติศาสตร์ชาติ มิใช่คนทุกรุ่นที่จะมีโอกาสในการสร้างสิ่งใหม่เช่นนั้น”และการชูสโลแกน “ก้าวสู่ศตวรรษใหม่กับนครหลวงใหม่”

การตัดสินใจสร้างเมืองหลวงใหม่ นอกจากการชูยุทธศาสตร์การย้ายศูนย์กลางของประเทศไปยังใจกลางของประเทศ ซึ่งเคยเป็นเส้นทางสายไหมทางตอนเหนือแล้ว ยังเป็นการดำเนินนโยบายเปลี่ยนวิกฤตเป็นโอกาสโดยการทำเมกะโปรเจกต์

ภาวการณ์ของคาซัคสถานขณะนั้นคล้ายคลึงกับกรณีของไต้หวันในยุคของประธานาธิบดีเจียงจิงกั๋ว ที่ประสบภาวะวิกฤตใหญ่ ถูกสหรัฐลอยแพ หันไปคบหากับจีนแผ่นดินใหญ่ และเสียที่นั่งในสหประชาชาติ เจียงจิงกั๋วตัดสินใจก้าวออกจากวิกฤต โดยการทำเมกะโปรเจกต์ถึง 10 โครงการ เช่น การสร้างสนามบินนานาชาติแห่งใหม่ การสร้างซูเปอร์ไฮเวย์ใหม่ การสร้างท่าเรือใหม่ โดยต้องกู้เงินจากต่างประเทศเข้ามาทำโครงการ ซึ่งต่อมาพบว่าเป็นนโยบายที่ประสบความสำเร็จอย่างสูง

หัวใจสำคัญแห่งความสำเร็จของคาซัคสถาน คือนโยบายนำพาประเทศสู่เศรษฐกิจการตลาด แทนระบบรวมศูนย์ควบคุมทุกอย่างเหมือนอดีตสหภาพโซเวียตที่ล่มสลายไปแล้ว

ผลการประกวดแนวคิดและการออกแบบมาสเตอร์แปลนการสร้างเมืองหลวงใหม่ ผู้ชนะคือ คิโช คูโรคาวะ (Kisho Kurokawa) สถาปนิกชาวญี่ปุ่น ซึ่งเสนอแนวคิด “นครแห่งเมแทบอลิสม์และการพึ่งพาอาศัยซึ่งกันและกัน” (Metabolism and Symbiosis)

เมแทบอลิสม์ รากศัพท์มาจากภาษากรีก มีความหมายว่า การเปลี่ยนแปลง (Change)การเปลี่ยนแปลงรูปร่าง หรือการลอกคราบ (Metamorphosis) และการแปรเปลี่ยนรูป (transformation)ในทางสถาปัตยกรรม คำนี้มีความหมายถึงแนวโน้มเข้าสู่ยุคของเครื่องจักรต่างๆ (Age of Machines) เช่น เครื่องจักรกลการก่อสร้าง ขณะที่เป็นยุคของชีวิต (Age of Life) ซึ่งต้องอยู่บนรากฐานของความคิดเรื่องนิเวศวิทยา กระบวนการสารสนเทศ การเปลี่ยนแปลง และการพึ่งพาซึ่งกันและกัน ภายใต้แนวคิดดังกล่าว เมืองที่จะสร้างขึ้นจะต้องเป็นสิ่งมีชีวิต ที่มีการเปลี่ยนแปลงและเติบโตตามกระบวนการพัฒนาตลอดเวลา

ส่วนคำ “ซิมไบโอซิส”รากศัพท์ภาษากรีกหมายถึง “ชีวิตร่วมกัน”(common life) ชีวิตที่พึ่งพาอาศัยกันและกัน แนวคิดนี้เป็นทิศทางใหม่ของสถาปัตยกรรม ที่ต้องคำนึงถึงการสร้างสิ่งที่ใช้เทคนิกล่าสุด (State-of-the-art) เป็นนครที่สามารถเยียวยาตนเอง (self-healing city) และผสานเข้ากับระบบนิเวศได้อย่างกลมกลืน

สถาปนิกคิโช คูโรคาวะ เป็นหนึ่งในผู้นำแนวคิดนี้ การสร้างเมืองหลวงใหม่แห่งนี้ จึงมุ่งสร้างนครที่มีชีวิตชีวา ที่พร้อมกับการเติบโตและเปลี่ยนแปลง ขณะเดียวกันก็ยึดหลักการพึ่งพาอาศัยกันและกัน โดยผสานกันระหว่างธรรมชาติและสภาพแวดล้อมของเมือง ตามมาสเตอร์แปลน เมืองใหม่จะประสานกลมกลืนกับเมืองเก่า ซึ่งจะมีการฟื้นฟูบูรณะคู่ขนานกันไป

นอกจากคิโช คูโรซาวะ แล้ว มีสถาปนิกชั้นนำจากหลายชาติเข้ามาร่วมงาน เพราะมีการสร้างอาคารขนาดใหญ่ที่เป็นสัญลักษณ์และที่ทำการแห่งรัฐจำนวนมาก เช่น นอร์แมน ฟอสเตอร์ เป็นผู้ออกแบบก่อสร้างอาคาร สันติภาพสมานฉันท์ อาคารข่านชาดีร์ และศูนย์นาซาร์บาเยฟว์ ซึ่งต่อมาเป็นหอสมุดแห่งชาติ สถาปนิกชาวคาซัคสถานเองก็มีส่วนสำคัญ เช่น เป็นผู้ออกแบบก่อสร้างอาคารทำเนียบประธานาธิบดี กระทรวงการต่างประเทศ สภาผู้แทนราษฎร ศาลฎีกา อาคารที่พักอาศัยของข้ารัฐการ ฯลฯ

นับว่า นโยบายนี้ประสบความสำเร็จมาก มีบริษัทก่อสร้างถึง 432 แห่ง จากประเทศต่างๆ เข้าไปร่วมก่อสร้างนครแอสทานา นอกจากอาคารที่ทำการของรัฐบาลจำนวนมาก รวมทั้งอนุสาวรีย์ สัญลักษณ์ของเมือง ถนนหนทาง ศูนย์การค้า ที่พักอาศัยของพนักงานของรัฐแล้ว ยังมีการสร้างเมืองขึ้นถึง 71 เมือง และโรงงานอีก 135 แห่ง

อาคารที่ทำการของรัฐแต่ละแห่งมีขนาดใหญ่โตมโหฬาร โอ่อ่า สวยงาม แต่ละอาคารออกแบบอย่างมีเอกลักษณ์ จัดวางในตำแหน่งที่เหมาะสมตาม “กรอบความคิด”และ มาสเตอร์แปลน เช่น “พระราชวังแห่ง เอกราช”(Independence Palace) ตั้งอยู่ ณ ใจกลางเมือง ภายนอกมีลวดลายเหมือนตาข่ายสะท้อนลักษณะเชือกรัดกระโจม ผนังภายนอกทาสีฟ้าเหมือนสีธงชาติ ออกแบบโดยสถาปนิกชาวตุรกี มีเนื้อที่ 4,000 ตร.เมตร จุคนได้ 3,100 คน เคยเป็นสถานที่จัดประชุมนานาชาติหลายครั้ง เช่น การประชุมผู้นำอียู เมื่อปี 2553 เป็นที่ทำพิธีรับตำแหน่งประธานาธิบดี เมื่อ พ.ศ. 2554 และ พ.ศ. 2558

การประชุมเฉลิมฉลอง 40 ปี การสาธารณสุขมูลฐานที่แอสทานา จัดขึ้น ณ พระราชวังหรือหอประชุม แห่งนี้