posttoday

หมอดูรัฐศาสตร์ : (๓) ชะตากรรมประเทศไทย

28 เมษายน 2562

คนจำนวนหนึ่งเชื่อว่า การเลือกตั้งใน พ.ศ. ๒๕๖๒ ช่างดูคล้ายกันกับการเลือกตั้งใน พ.ศ. ๒๕๐๐ จึงเชื่อกันว่าอาจจะมี “การเปลี่ยนแปลงทางการเมือง”จากฝ่ายทหารนั้นเอง

คนจำนวนหนึ่งเชื่อว่า การเลือกตั้งใน พ.ศ. ๒๕๖๒ ช่างดูคล้ายกันกับการเลือกตั้งใน พ.ศ. ๒๕๐๐ จึงเชื่อกันว่าอาจจะมี “การเปลี่ยนแปลงทางการเมือง”จากฝ่ายทหารนั้นเอง

************

โดย...ทวี สุรฤทธิกุล

การเมืองก็เหมือนศาสนา เริ่มจากความเชื่อไปสู่ศรัทธา

ศาสนาต้องการทำให้คนมีชีวิตที่ดี เช่นเดียวกันกับการเมืองที่ต้องการทำให้คนอยู่ดีกินดี ในทำนองเดียวกันที่ศาสนามีหลายแนวคิดหลายลัทธิ การเมืองก็มีหลากหลายความคิดและหลากหลายอุดมการณ์ ทั้งหมดนี้ขึ้นอยู่กับความเชื่อถือของผู้คน และถ้าหากเชื่อถืออย่างมั่นคง ยอมตนถือปฏิบัติภายใต้ความเชื่อความคิดเหล่านั้น ความเชื่อนั้นก็จะกลายเป็นความศรัทธา ซึ่งหลายๆ ศาสนาที่ดำรงคงอยู่มาถึงทุกวันนี้ ก็เป็นด้วยยังมีผู้เชื่อถือศรัทธาสืบมานั่นเอง

ผู้คนในบางประเทศมีความผูกพันกับการเมืองเหมือนเป็นศาสนาของพวกเขา อย่างเช่น คนอังกฤษที่แบ่งเป็นพวกคอนเซอร์เวทีฟกับพวกเลเบอร์ หรือคนอเมริกันที่แบ่งเป็นพวกรีพับลิกันกับพวกเดโมแครต แต่ละพวกก็จะประกาศอุดมการณ์ของตนว่าดีอย่างโน้นดีอย่างนั้น ซึ่งก็คืออุดมการณ์ของแต่ละพรรคที่ถ่ายทอดออกมาเป็นนโยบายต่างๆ ในการบริหารดูแลประเทศนั่นเอง โดยนโยบายเหล่านี้ก็อาจจะมีการปรับเปลี่ยนให้สอดคล้องกับความต้องการของผู้คนที่เปลี่ยนไป ที่สำคัญคือจะต้องทำให้ประสบความสำเร็จ เพื่อพิสูจน์อุดมการณ์หรือนโยบายนั้นๆ ว่าทำได้จริง เพื่อให้พรรคเกิดความน่าเชื่อถือ สุดท้ายประชาชนก็จะนิยมชมชอบพรรคนั้นสืบต่อไป ซึ่งก็คือศรัทธาที่จะทำให้พรรคการเมืองดังกล่าวมีความมั่นคงเป็นที่ยอมรับไปอย่างยาวนาน

คณะราษฎรเคยประกาศ “ศาสนาใหม่”เมื่อวันที่ ๒๔ มิถุนายน ๒๔๗๕ ตามแถลงการณ์ฉบับแรกไว้ว่า “ประเทศจะมีความเป็นเอกราชอย่างพร้อมบริบูรณ์ ราษฎรจะได้รับความปลอดภัย ทุกคนจะต้องมีงานทำ ไม่ต้องอดตาย ทุกคนจะมีสิทธิเสมอกัน และมีเสรีภาพพ้นจากการเป็นไพร่เป็นข้าเป็นทาสของพวกเจ้า หมดสมัยที่เจ้าจะทำนาบนหลังราษฎร สิ่งที่ทุกคนพึงปรารถนาคือความสุขความเจริญอย่างประเสริฐ ซึ่งเรียกเป็นศัพท์ว่า "ศรีอาริยะ" นั้น ก็จะพึงบังเกิดขึ้นแก่ราษฎรถ้วนหน้า”เราจะเห็นว่าคณะราษฎรได้ใช้คำว่า “ศรีอาริยะ” ที่พุทธศาสนิกชนจะเข้าใจในความหมายของ “โลกใหม่” (มาจากคำว่า “โลกพระศรีอาริย์” ที่เป็นโลกแห่งความสุข ผู้คนอิ่มทิพย์ ไม่มีความทุกข์ร้อน ทุกคนมีศีลธรรม ไม่เบียดเบียนกัน) เพื่อเชื่อมโยงให้เห็นว่าคณะราษฎรจะสร้างสิ่งใหม่ๆ ให้เกิดขึ้น แทนที่ “โลกเก่า” คือยุคสมัยของพวกเจ้า(กษัตริย์และขุนนาง) ที่ “ทำนาบนหลังราษฎร”ทว่าความต้องการของคณะราษฎรก็ประสบความล้มเหลว เพราะไม่ประสบความสำเร็จที่จะทำให้คนไทยอยู่ดีกินดี คนจึงสิ้นศรัทธา และคณะราษฎรก็สิ้นความสำคัญ

๘๗ ปีต่อมา ใน พ.ศ. ๒๕๖๒ ที่เราเพิ่งผ่านการเลือกตั้ง “ครั้งประวัติศาสตร์” ด้วยวาทกรรมที่ใช้ในการต่อสู้กันว่า “ฝ่ายประชาธิปไตย”กับ “ฝ่ายเผด็จการ”ช่างคล้ายกันกับวาทกรรมของคณะราษฎรที่จะสร้าง “โลกใหม่”แทนที่ “โลกเก่า”จึงทำให้ผู้เขียนอดเป็นห่วงไม่ได้ว่า ชะตากรรมของฝ่ายประชาธิปไตยอาจจะเหมือนกันกับชะตากรรมของคณะราษฎร ที่ได้รับความเชื่อถือจากประชาชนในช่วงแรกๆ (ของคณะราษฎรอาจจะเป็นด้วย “ความมึนงง”ของคนไทยในตอนนั้น ที่คาดไม่ถึงว่าคณะราษฎรจะยึดอำนาจจากพวกเจ้าได้ ส่วนของฝ่ายประชาธิปไตยในการเลือกตั้งเมื่อ ๒๔ มีนาคม ๒๕๖๒ ประชาชนก็อยู่ในภาวะ “มึนงง”เช่นเดียวกัน

แต่เป็นความมึนงงของฝ่ายที่ไม่เชื่อว่าฝ่ายที่ต้องการสืบทอดอำนาจนั้นจะพ่ายแพ้) แต่พอผ่านไปสักระยะหนึ่ง เมื่อฝ่ายประชาธิปไตยนั้น “หมดท่า”เช่น ขณะนี้กำลังถูกบ่อนเซาะในทุกวิถีทางที่จะขัดขวางการเข้าสู่อำนาจในสภาผู้แทนราษฎร รวมถึง(ที่ผู้เขียน “คาดเดา”ไว้ในบทความนี้ก่อนหน้านี้)ว่าการเลือกตั้งอาจจะโมฆะ นั่นก็คือการ “ล้มกระดาน”เพื่อไม่ให้ฝ่ายประชาธิปไตยได้ขึ้นมาแสดงบทบาทในเวทีรัฐสภา แม้แต่จะให้เป็นฝ่ายค้านก็ถูกปิดโอกาสเสีย ก็เท่ากับเป็นการทำลาย “ความหวัง –ความศรัทธา”ของมวลชนที่สนับสนุนฝ่ายประชาธิปไตย ซึ่งอาจจะเป็น “จุดเปลี่ยนครั้งสำคัญ”อีกครั้งของการเมืองไทย

เหมือนกับที่เคยเกิดเหตุการณ์วันที่ ๑๔ ตุลาคม เมื่อ พ.ศ. ๒๕๑๖

คำพยากรณ์ทางรัฐศาสตร์ที่อาศัย “ปูมปกครอง”คือหลักฐานทางประวัติศาสตร์ด้านการเมืองการปกครองของไทย พบว่าภายหลังที่คณะราษฎรประสบความล้มเหลวในการสถาปนา“โลกใหม่”ทำให้คณะราษฎรต้องแตกออกจากกัน ต่อมาคณะทหารที่นำโดยอดีตแกนนำของของคณะราษฎร คือจอมพล ป. พิบูลสงคราม ก็เข้ายึดอำนาจในปี ๒๔๙๐ แล้วก็พยายามจะสร้างประชาธิปไตย โดยให้มีการเลือกตั้งในปี ๒๕๐๐ แต่ด้วยความที่ทหารอยากสืบทอดอำนาจ จึงกระทำทุกวิถีทางเพื่อเอาชนะเลือกตั้ง ที่สุดผู้คนก็ออกมาประท้วง แล้วก็ตามมาด้วยการทำรัฐประหารของพลเอกสฤษดิ์ ธนะรัชต์ แล้วทหารก็ปกครองประเทศไทยเรื่อยมา กระทั่งทหารคิดจะผ่อนคลายบรรยากาศทางการเมือง โดยให้มีเลือกตั้งในปี ๒๕๑๒ แต่ก็คุมสภาไม่ได้ ที่สุดก็ต้องทำรัฐประหารซ้ำ กระทั่งสร้างความอึดอัดให้กับสังคมไทย อันนำมาซึ่งเหตุการณ์วันที่ ๑๔ ตุลาคม ๒๕๑๖ นั้น

คนจำนวนหนึ่งเชื่อว่า การเลือกตั้งใน พ.ศ. ๒๕๖๒ ช่างดูคล้ายกันกับการเลือกตั้งใน พ.ศ. ๒๕๐๐ จึงเชื่อกันว่าอาจจะมี “การเปลี่ยนแปลงทางการเมือง”จากฝ่ายทหารนั้นเอง แต่บ้านเมืองก็ยังไม่สงบเรียบร้อย และทำให้คนสิ้นศรัทธาในทหาร แล้วก็ตามมาด้วยเหตุการณ์แบบที่เกิดขึ้นเมื่อ ๑๔ ตุลาคม ๒๕๑๖ นั้น ด้วยมีความเชื่อว่า “คนรุ่นใหม่”จะยังไม่ล้มเลิกที่จะสร้าง “ประชาธิปไตย”แต่คงไม่ต้องรออีก ๑๖ ปีเหมือนอดีต เพราะคนรุ่นใหม่สมัยนี้ดูจะ “หัวร้อน”กว่าคนรุ่น ๑๔ ตุลา ๑๖ มาก และอาจจะไม่ใช่การต่อสู้กันบนท้องถนน แต่ใช้ “ปลายนิ้ว”นั้นแทน

การเมืองไทยจะมีความมั่นคงหรือไม่ ก็ขึ้นอยู่กับ “ผู้ปกครอง”จะสร้างความศรัทธาเชื่อถือให้กับคนไทยได้หรือไม่ ถ้า “ไม่”เราก็คงจะจะต้อง “ล้มลุกคลุกคลาน”ไปอีกนาน