posttoday

40 ปี การสาธารณสุขมูลฐาน (19)

23 เมษายน 2562

สรรพสิ่งล้วนเปลี่ยนแปลง จึงไม่แปลกที่ในที่สุดสาธารณรัฐคาซัคสถานก็ย้ายเมืองหลวงอีกครั้งไปอยู่ที่ แอสทานา

สรรพสิ่งล้วนเปลี่ยนแปลง จึงไม่แปลกที่ในที่สุดสาธารณรัฐคาซัคสถานก็ย้ายเมืองหลวงอีกครั้งไปอยู่ที่ แอสทานา

*********
นพ.วิชัย โชควิวัฒน

การประชุมเพื่อ “เฉลิมฉลอง” ครบรอบ 40 ปี การสาธารณสุขมูลฐานควรจัดที่นครอัลมา-อะตา เพราะภาพจำของวงการสาธารณสุขโลก คือ ปฏิญญาอัลมา-อะตา แต่เพราะ “สรรพสิ่งล้วนเปลี่ยนแปลง”สหภาพโซเวียตรัสเซียล่มสลาย สาธารณรัฐคาซัคสถานแยกตัวเป็นอิสระ และได้ย้ายเมืองหลวงไปตั้งใหม่ที่นครเเอสทานา การประชุมครั้งนี้จึงจัดขึ้นที่แอสทานา ส่วนนครอัลมา-อะตา ก็เปลี่ยนชื่อเป็นภาษาคาซัคว่า อัลมาตี (Almaty)

อัลมา-อะตา เชื่อกันว่ามาจากรากศัพท์ภาษาคาซัค ซึ่งหมายถึงแอปเปิล และมักแปลว่า “อุดมด้วยแอปเปิล” รากศัพท์เดิมคือ “อัลมาเตา” (Almatau) ซึ่งหมายถึง “ภูเขาแอปเปิล” คำว่า อัลมา-อะตา เป็นภาษารัสเซีย หมายถึง “ต้นกำเนิดของแอปเปิล”(Father of Apples)เมื่อคาซัคสถานได้เอกราชจึงเปลี่ยนชื่อเมือง เป็นภาษาคาซัค คือ อัลมาตี

แท้จริงแล้วอัลมาตี หรือ อัลมา-อะตา ก็มิใช่เมืองหลวง “เก่าแก่”ของคาซัคสถาน แต่เป็นเมืองหลวง ตั้งแต่ พ.ศ. 2472 จนถึง พ.ศ. 2540 ก่อนหน้านั้น คาซัคสถานมีเมืองหลวงมาก่อนหลายเมือง เริ่มจากเมืองซูยาบ (Suyab) ศูนย์กลางของอาณาจักรเทอร์คิกโบราณ ต่อมาเป็นเมืองบาลาซากุน (Balasagun)เมืองหลวงของ รัฐคาราคานิด ต่อมาคือเมืองคอยลิค (Koylyk)ของอาณาจักรคาร์ลุค

ในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 8-10 ต่อมาคือเมืองยานีเคนท์ (Yanykent)ของรัฐโอกุซ จากนั้นเป็นเมือง ซาเรย์-ดซุค (Sarqy-Dzhuk)ของอาณาจักรโนเกย์ เมืองสำคัญของอาณาจักรคาซัค (Kazakh Khanate) คือ เมืองโซซัก (Sozak)

ต่อมาเป็นเมืองไซกานัก (Syganak)ในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 12-14 เมืองหลวงสุดท้ายของข่านคาซัค คือ เตอร์กีสถาน (Turkestan)ซึ่งดำรงอยู่จนถึง คริสต์ศตวรรษที่ 18

ก่อนสถาปนาอัลมาตีเป็นเมืองหลวง มีเมืองที่มีสถานะเป็นเมืองหลวงก่อนหน้านั้นอีก 2 เมือง คือ ออเรนเบิร์ก (Orenberg)ในช่วง พ.ศ. 2463-2468 และ ไคซิลออร์ดา (Kyzylorda) ในช่วง พ.ศ.2468-2472

เมืองออเรนเบิร์ก เป็นเมืองศูนย์กลางความเจริญของอาณาบริเวณนี้มายาวนาน เคยใช้เป็นที่คุมขังนักโทษการเมือง เช่น อัลยาเบฟว์, เชฟเชนโก, เซอราคอฟสกี และเคยมีบุคคลสำคัญมาเยือนเมืองนี้ เช่น มหากวีปุชกิน เลียฟ ตอลสตอย และมายาคอฟสกี

ส่วนไคซิลออร์ดา ได้รับการสถาปนาเป็นเมืองหลวงโดยมติของการประชุมคองเกรส ครั้งที่ 5 ของโซเวียต สาธารณรัฐสังคมนิยมเคอร์กิซ (Soviets of Kirghiz ASSR)เมื่อวันที่ 17 เมษายน 2468 โดยการประชุมครั้งนั้นได้เปลี่ยนชื่อเมืองจากชื่ออัคเมเชต (Akmechet)ซึ่งเป็นชื่อตั้งใหม่เมื่อ พ.ศ.2465 กลับไปใช้ชื่อเดิม

รวมทั้งตั้งชื่อสาธารณรัฐใหม่เป็นสาธารณรัฐสังคมนิยมคาซัค (Kazakh ASSR)และเรียกชื่อ ชนชาติในสาธารณรัฐว่า “คาซัค” เมืองนี้กลับมามีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักเมื่อ พ.ศ.2551 เมื่อ อิลยา อิลยิน นักยกน้ำหนักวัย 23 ปี ได้เหรียญทองในการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกที่กรุงปักกิ่ง อิลยา อิลยิน เป็นแชมป์โลกยกน้ำหนัก 2 สมัย ตั้งแต่ พ.ศ.2546 ตั้งแต่ยังเป็นเยาวชน เขาใช้เงินสร้างสนามกีฬาบนเนื้อที่ 6440 ตารางเมตรในเมือง ไคซิลออร์ดา ซึ่งเป็นที่นิยมไปออกกำลังกายและเล่นกีฬาของเยาวชนในเมืองแห่งนี้

สรรพสิ่งล้วนเปลี่ยนแปลง จึงไม่แปลกที่ในที่สุดสาธารณรัฐคาซัคสถานก็ย้ายเมืองหลวงอีกครั้งไปอยู่ที่ แอสทานา

การสร้างหรือย้ายเมืองหลวงของประเทศต่างๆ ในโลก เกิดขึ้นด้วยเหตุผลความจำเป็นต่างๆ กัน ในประเทศไทยราชอาณาจักรสุโขทัยพ่ายแพ้แก่อยุธยา จึงเสื่อมสลายลง ต่อมาอยุธยาพ่ายแพ้แก่พม่า เมื่อพระเจ้าตากสินขับไล่พม่าจากค่ายโพธิ์สามต้นได้แล้ว ทรงเห็นว่าอยุธยาเสียหายยับเยิน กำลังของพระองค์ท่านก็น้อย จึงย้ายเมืองหลวงไปอยู่ ณ ธนบุรี ซึ่งอยู่ใกล้ปากแม่น้ำเจ้าพระยา ง่ายแก่การที่จะ “ถอยไปตั้งหลัก” ได้ง่าย หากถูกพม่ายกทัพใหญ่มารุกรานอีก

ต่อมาเมื่อพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกปราบดาภิเษกขึ้นเป็นพระมหากษัตริย์แล้ว พิจารณาว่ากรุงธนบุรีเป็นเมืองอกแตก ยากแก่การต่อสู้ข้าศึกเหมือนเมืองพิษณุโลกที่ตั้งอยู่สองฟากแม่น้ำ ทั้งแม่น้ำเจ้าพระยาก็กว้างและลึกกว่าที่พิษณุโลกด้วย ทรงมีประสบการณ์ครั้งป้องกันเมืองพิษณุโลก สู้ศึกอะแซหวุ่นกี้ จึงย้ายพระนครมาฝั่งตรงข้ามทันทีที่เสด็จขึ้นครองราชย์

สหรัฐอเมริกาเลือกวอชิงตัน ดีซี เป็นเมืองหลวง เพราะอยู่ตรงกลางระหว่างรัฐทางเหนือและทางใต้ ออสเตรเลียก็เลือกแคนเบอราเป็นนครหลวงของประเทศ และสร้างเมืองขึ้นใหม่อย่างที่สหรัฐสร้างวอชิงตัน ดีซี กำหนดขนาดของเมืองเพื่อพร้อมรับจำนวนประชากรตามที่กำหนด และเตรียมสร้างเมืองบริวารโดยรอบเมื่อจำนวนประชากรเพิ่มขึ้นถึงขีด แอฟริกาใต้เลือกไปตั้งเมืองหลวงที่ปรีโตเรีย บราซิลไปตั้งเมืองหลวงที่บราซิเลีย และพม่าย้ายเมืองหลวงจากย่างกุ้งไปเนปิดอ เป็นต้น

โดยหลายกรณีประสบความสำเร็จและบางกรณีไม่สำเร็จ การจัดประชุมครบรอบ 40 ปี การสาธารณสุขมูลฐานที่กรุงแอสทานา เป็นช่วงเวลาราว 20 ปี หลังการตัดสินใจย้ายเมืองหลวง จึงเป็นโอกาสอันดีที่จะเรียนรู้ประสบการณ์การย้ายเมืองหลวงของสาธารณรัฐแห่งนี้

รัฐบาลคาซัคสถานตัดสินใจย้ายเมืองหลวง เมื่อ 6 กรกฎาคม 2539 โดยมีการดำเนินการตามลำดับขั้น เริ่มจาก ประธานาธิบดีลงนามในรัฐกฤษฎีกาให้สร้างเขตเศรษฐกิจพิเศษเมืองอัคโมลา(Akmola)ซึ่งอยู่ตอนกลางของประเทศ เหนืออัลมา-อะตา ซึ่งอยู่ทางตอนใต้ของประเทศ ห่างขึ้นไปราว 1 พันกิโลเมตร ใช้เวลาเดินทางโดยรถไฟราว 12 ชั่วโมง
ปีต่อมารัฐกฤษฎีกาของประธานาธิบดี เรื่อง ประกาศให้อัคโมลาเป็นเมืองหลวง ได้รับการรับรอง เมื่อวันที่ 20 ตุลาคม 2540 และอัคโมลาได้รับการประกาศเป็นทางการให้เป็นเมืองหลวงเมื่อวันที่ 10 ธันวาคม 2540 โดยในวันเดียวกันนั้น ประธานาธิบดีได้ลงนามแต่งตั้งนายอดัลเบค วิสเกลดิวลี ซัคซีเบคอฟว์ เป็นนายกเทศมนตรีเมืองแอสทานา

ต่อมาประธานาธิบดีได้ออกรัฐกฤษฎีกา เปลี่ยนชื่ออัคโมลาเป็นแอสทานา เมื่อวันที่ 6 พฤษภาคม 2541 และเปิดให้นานาชาติเสนอแนวคิดและการออกแบบการสร้างนครแอสทานา เมื่อวันที่ 10 มิถุนายน 2541

การตัดสินใจเลือกเมืองอัคโมลาเป็นเมืองหลวงใหม่ เป็นการพิจารณาจาก นคร (Cities)ใหญ่น้อยของ คาซัคสถาน รวม 84 แห่ง แบ่งเป็นนครใหญ่ 21 แห่ง และนครขนาดย่อม 63 แห่ง โดยมีเกณฑ์การคัดเลือกรวม 32 ข้อ

เช่น เรื่องที่ตั้งทางภูมิศาสตร์ ได้แก่ควรตั้งอยู่ใจกลางของประเทศเพื่อสะดวกเรื่องการเดินทางจากทุกภาคส่วนของประเทศ และเพื่อเหตุผลด้านการรักษาความมั่นคงปลอดภัย พื้นที่ของเมืองควรเป็นที่ราบเพื่อสะดวกในการก่อสร้าง และอยู่อาศัย ไม่มีภัยคุกคามเรื่องแผ่นดินไหว มีสิ่งแวดล้อมที่สะอาด และควรมีแม่น้ำกว้างใหญ่ไหลผ่าน ควรมีศักยภาพสำหรับการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านวิศวกรรมและคมนาคม สามารถเชื่อมโยงกับเส้นทางหลวงที่พัฒนาไว้แล้ว เพื่อให้สามารถเชื่อมโยงได้ทั้งกับยุโรปและเอเชีย มีพื้นที่ใกล้เคียงที่เป็นผู้นำเศรษฐกิจและอุตสาหกรรมของภูมิภาค เพื่อประกันเรื่องความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ ซึ่งในที่สุดก็เลือกเมืองอัคโมลาขึ้นพัฒนาเป็นเมืองหลวงของประเทศ

การเลือกแอสทานา เป็นชื่อเมืองหลวงใหม่ ถือคติตามเมืองหลวงของเอเชียหลายแห่ง ซึ่งชื่อเมืองแปลว่า “เมืองหลวง” เช่น เป่ยจิง เมืองหลวงของจีนปัจจุบัน ความหมายคือ “เมืองหลวงทางตอนเหนือ”หนานจิง ซึ่งเคยเป็นเมืองหลวง คือเมืองหลวงทางใต้ เกียวโตคือ “นครหลวงแห่งสันติภาพและความสงบ”ฮานอย คือ “นครระหว่างสองแม่น้ำ”ชื่อเดิมคือ “ตงกิน”แปลว่า เมืองหลวง กรุงโซลของสาธารณรัฐเกาหลี ก็แปลว่า เมืองหลวง แอสทานา เป็นภาษา คาซัค แปลว่า เมืองหลวง