posttoday

อย่าชักศึกเข้าบ้าน

19 เมษายน 2562

สิ่งที่ท่านรัฐมนตรีต่างประเทศ ดอน ปรมัตถ์วินัย ได้แสดงท่าทีของรัฐบาลไทยต่อการกระทำของบรรดา “ทูตเผือก” ทั้งหลาย นับว่าเป็นการแสดงจุดยืนที่มั่นคงของไทย

สิ่งที่ท่านรัฐมนตรีต่างประเทศ ดอน ปรมัตถ์วินัย ได้แสดงท่าทีของรัฐบาลไทยต่อการกระทำของบรรดา “ทูตเผือก” ทั้งหลาย นับว่าเป็นการแสดงจุดยืนที่มั่นคงของไทย

***************************************************

โดย...ภุมรัตน์ ทักษาดิพงษ์ อดีตผู้อำนวยการสำนักข่าวกรองแห่งชาติ

สิ่งที่ท่านรัฐมนตรีต่างประเทศ ดอน ปรมัตถ์วินัย ได้แสดงท่าทีของรัฐบาลไทยต่อการกระทำของบรรดา “ทูตเผือก” ทั้งหลาย นับว่าเป็นการแสดงจุดยืนที่มั่นคงของไทย ไม่มากและไม่น้อยเกินไป และอิงข้อตกลงระหว่างประเทศแบบมวยหลัก คนไทยสบายใจที่มีรัฐมนตรีต่างประเทศแบบท่านดอนที่ดูแลผลประโยชน์และศักดิ์ศรีของชาติ จากประสบการณ์การเป็น “นักการทูตมืออาชีพ” ตลอดชีวิตการทำงานของท่านได้แสดงจุดยืนของประเทศอย่างมั่นคง ที่ทำให้ฝรั่งสะอึกไปเหมือนกัน

ท่านรัฐมนตรีได้เตือนคนไทยไว้ว่า “ เราทุกคนจะต้องช่วยกันเพื่อประโยชน์ของประเทศชาติและประชาชน ช่วยกันดันและยกระดับประเทศ แทนที่จะช่วยฉุดประเทศ ซึ่งไม่ว่าจะโดยเจตนาหรือไม่ ประโยชน์ที่พึงได้ต่อประเทศก็จะเสียไป.......การต่างประเทศไม่ได้มาจากคนที่ทำงานด้านการต่างประเทศเท่านั้น แต่ทุกภาคส่วนสามารถช่วยส่งเสริมและสนับสนุนให้ประเทศของตัวเองมีฐานะที่ได้รับการยอมรับจากนานาประเทศได้.......อย่าทำอะไรแบบไม่คิดอ่านให้รอบคอบ ไม่ตระหนักถึงผลดีผลเสีย ไม่ดูหน้าดูหลังอะไรทั้งสิ้น หรือจะเอาแต่ประโยชน์ฝ่ายเดียว ไม่คำนึงถึงสิ่งที่จะทำขยายวง ซึ่งอาจกลายเป็นปัญหาภายในบ้านเมือง ในภูมิภาค และกระทบต่อความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ....”

สิ่งที่เกิดขึ้น เราอย่าไปโทษฝรั่งฝ่ายเดียว แต่มีคนไทยบางกลุ่มที่ขอบ “ชักน้ำเข้าลึก ชักศึกเข้าบ้าน” โดยหวังเอาฝรั่งมาเสริมภาพลักษณ์ของตนเองให้ดูดีขึ้นทำนองว่า ตัวเองขึ้นลำดับ “สากล” แล้ว ส่วนฝรั่งก็หวังจะใช้เป็น “ตัวสำรอง” ในขณะที่ “ตัวจริง” ชักขายไม่ออก การเชิญเอกอัคราชทูตและอุปทูตไปรับ “บันทึกช่วยจำ” ถือว่าเป็นเรื่องที่รุนแรงพอสมควร แต่ฝรั่งอเมริกันและสหภาพยุโรปได้ออกแถลงการณ์ตอบโต้ทำนองว่าที่ไหน ๆ เขาก็ทำกันทำนองว่าเป็นเรื่องปกติในวงการทูต แม้จะมีข้อตกลงว่าด้วยแนวทางปฏิบัติทางการทูตจากการประชุมสหประชาชาติ ค.ศ.1961 มาตรา 41 ที่อ้างอิงอนุสัญญากรุงเวียนนาค.ศ.1815 ก็ไม่ได้ทำให้ทูตพวกนี้สำนึกแต่อย่างใด แต่ยัง “แถ” แบบเอาสีข้างเข้าถูกไปเรื่อย

กระทรวงต่างประเทศจัดการกับเรื่องนี้ได้ดีพอสมควร แต่ต้องดำเนินการต่อไปและต่อเนื่อง และต้องทบทวนระเบียบปฏิบัติที่ทางการไทยได้ “ผ่อนปรน” ให้กับทูตต่างประเทศตลอดมา นับแต่นี้ไป กระทรวงฯ ต้องทำความเข้าใจกับกระทรวงทบวงกรมที่เกี่ยวข้องของไทยมากขึ้น เพราะข้อตกลงข้อที่ 41 ระบุไว้ชัดเจนว่า กิจกรรมทางการที่ทูตทำนั้นต้องทำที่กระทรวงต่างประเทศเท่านั้น จะเอาอะไร จะพบกับใคร จะเดินทางไปไหน กระทรวงต่างประเทศจะเป็นคนจัดการให้ อยากทราบเรื่องราวอะไร กระทรวงต่างประเทศจะบรรยายสรุปให้ ไม่ใช่ว่าทูตนึกจะทำอะไร จะไปไหนก็ไปอย่างที่เป็นอยู่เวลานี้โดยไม่ได้แจ้งให้กระทรวงต่างประเทศทราบ การที่เราผ่อนปรนเช่นนี้ไม่ได้หมายถึงทูตจะทำอะไรได้ตามใจและกระทบต่อผลประโยชน์ของไทย

ประชาชนต้องจับตาดูพฤติกรรมของนักการเมืองไทยมากขึ้น ไม่ให้มีพฤติกรรม “ชักศึกเข้าบ้าน” โดยเอาต่างประเทศมาแทรกแซง กดดันรัฐบาลไทยหรือกระบวนการยุติธรรมของไทยอย่างที่เคยทำมา ครั้งนี้ “การจัดการกับปัญหาที่เกิดขึ้นไม่ได้หวังผลด้านกฎหมาย” เพราะขอกฎหมายยังเป็น “สีเทา” ที่ยังไม่ชัดเจน เราเห็นว่า การกระทำของทูตเหล่านี้เกินกว่าการสังเกตการณ์ การหาข่าวทั่วไป แต่ข้ามเส้นไปเป็นการ “แทรกแซงกิจการภายใน” ของไทย แต่ทูตฝรั่งก็อ้างว่าสิ่งที่เขาทำเป็นเรื่องปกติ ขอบแบบนี้เราไม่ว่ากัน

ผลที่เกิดขึ้นตามมา คือ “การแซงชั่นทางสังคม” ที่คนไทยส่วนใหญ่เห็นว่าการกระทำของทูตพวกนี้ล้ำเส้นจนเป็นการแทรกแซงกิจการภายในของไทย ดังนั้น จะเห็นว่า ปฏิกิริยาของคนไทยและสื่อมวลชนสวนใหญ่มองว่าการกระทำของทูตเหล่านี้ “ล้ำเส้น” และประชาชนมีปฏิกิริยาต่อนักการเมืองไทยที่ไปดึงเอาต่างชาติมาแทรกแซงกระบวนการยุติธรรมหรืออธิปไตยทางศาลของประเทศ ซึ่งเป็นเรื่องที่คนไทยรับไม่ได้ ปฏิกิริยาของสื่อต่าง ๆ ทั้งสื่อออนไลน์ สื่อสิ่งพิมพ์ สื่อวิทยุ สื่อโทรทัศน์ จะมีปฏิกิริยาตอบโต้การกระทำดังกล่าวต่อชัดเจนและต่อเนื่อง และเห็นว่า “รัฐบาลไทยทำถูกแล้ว” แต่ไม่ต้องไกลถึงกับการขับไล่ออกในฐานะบุคคลไม่พึงปรารถนา เพราะหลักฐานทางกฎหมายยังไปไม่ถึงขนาดนั้น

ผลทางกฎหมายยังเป็น “สีเทา” แต่ผลทางสังคมแยกเป็น “ขาว” กับ “ดำ” เห็นได้ชัดเจน และเกิด “ โซเชียล แซงชั่น” อย่างรวดเร็วและกว้างขวาง นี่เป็นบทเรียนสำหรับหน่วยงานของรัฐที่อย่าไปเกรงใจฝรั่งมากเกินไป เราต้อง “ไม่ให้รางวัลแก่ผู้ที่ผิดมรรยาททางการทูต” ที่จะทำให้ทูตพึงสำนึกบ้าง คนเป็นทูตก็ต้องมีมรรยาททางการทูตด้วย แม้สิ่งที่ทำอาจไม่ผิดข้อตกลงระหว่างประเทศ แต่โดยมรรยาทเขาไม่ทำกัน ถ้าหากทูตพวกนี้ไปทำแบบนี้ในเมืองจีน ไปยืนสนับสนุนกลุ่มอุยกูร์ หรือทูตฝรั่งไปยืนเชียร์พรรค ดี.เอ.พี.ในมาเลเซีย อาจถูกรัฐบาลจีนและมาเลเซียประกาศเป็น “บุคคลไม่พึงปรารถนา” ไปแล้วก็ได้

นี่เป็นกิจกรรมทางการเมืองที่ “เปิดเผย” ของบางสถานทูตในไทยนำโดยสหรัฐ ท่านลองนึกดูว่า “กิจกรรมทางลับ” ที่จารชนต่างชาติอำพรางมาเป็นนักการทูตเข้ามาวุ่นวาย ติดต่อผู้คน จัดตั้ง “เครือข่ายแหล่งข่าว” ในกลุ่มนักศึกษาปัญญาชน ในสถานทูตก็เต็มไปด้วยพนักงานที่ดักฟังการติดต่อสื่อสารของรัฐบาลและหน่วยงานสำคัญของรัฐตลอด 24 ชั่วโมง มี “กองทุนเพื่อการพัฒนาประชาธิปไตย” ของรัฐบางวอชิงตันและกองทุนเปิดของจอร์จ โซรอส ที่ให้การสนับสนุนด้านการเงินอย่างเงียบ ๆ กับกลุ่มจัดตั้งตามภาคต่าง ๆ ฯลฯ จะน่ากลัวขนาดไหน อย่าคิดว่า “ไทยสปริง” เป็นไปไม่ได้ในเมืองไทย เพียงเพื่อการสถาปนารัฐบาลที่สนับสนุนนโยบายของวอชิงตันในการต่อต้านอิทธิพลของจีนในภูมิภาคนี้ แม้แต่สนับสนุนการ “เปลี่ยนระบอบ” หากทำให้ผลประโยชน์ของวอชิงตันได้รับการตอบสนอง เขาก็พร้อมจะทำ

หากท่านพบเห็นทูตฝรั่งไปทำลับๆล่อๆที่ไหน โดยเฉพาะในจังหวัดใหญ่ ๆ ที่มีมหาวิทยาลัยตั้งอยู่ ให้ช่วยกันถ่ายรูปและโพสต์ในไลน์ ถ้าทูตไปดีก็ไม่มีอะไรต้องเป็นห่วงเพราะคนไทยจะคอยดูแล หัวหน้าส่วนราชการในต่างจังหวัดที่ทูตไปพบก็ต้องรายงานเข้ากระทรวงซึ่งจะส่งต่อไปยังกระทรวงต่างประเทศต่อไป คนไทยทุกคนนอกจากไม่ฉุดรั้งบ้านเมืองแล้ว ก็ต้องช่วยเป็นหูเป็นตาให้กับบ้านเมืองด้วย กระทรวงต่างประเทศก็ต้องพบทวนระเบียบปฏิบัติบ้าง อย่าปล่อยให้ทูตต่างชาติทำอะไรข้ามหัวเราอย่างที่เป็นมา