posttoday

หมอดูรัฐศาสตร์ : (๑) ชะตากรรมพลเอกประยุทธ์

14 เมษายน 2562

เป็นไปได้ว่าพลเอกประยุทธ์อาจจะ“สู้ยิบตา”ไม่ยอมล้มเลิกความตั้งใจที่จะเป็นนายกรัฐมนตรีสืบต่อ หรือถ้ามีปัญหาในการขึ้นสู่ตำแหน่งนายกรัฐมนตรี เช่น เสียงสนับสนุนในทั้งสองสภามีความหมิ่นเหม่ ก็อาจจะใช้ “อำนาจพิเศษ”ยังที่มีอยู่แก้ปัญหา ********* โดย ทวี สุรฤทธิกุ

เป็นไปได้ว่าพลเอกประยุทธ์อาจจะ“สู้ยิบตา”ไม่ยอมล้มเลิกความตั้งใจที่จะเป็นนายกรัฐมนตรีสืบต่อ หรือถ้ามีปัญหาในการขึ้นสู่ตำแหน่งนายกรัฐมนตรี เช่น เสียงสนับสนุนในทั้งสองสภามีความหมิ่นเหม่ ก็อาจจะใช้ “อำนาจพิเศษ”ยังที่มีอยู่แก้ปัญหา

*********

โดย...ทวี สุรฤทธิกุล

หลังสงกรานต์การเมืองไทยจะเปลี่ยนไป!

ตามตำรารัฐศาสตร์ที่สอนอยู่ในมหาวิทยาลัยต่างๆ มีข้อสรุปที่น่าสนใจข้อหนึ่งว่า “การเมืองไทยเป็นการเมืองของชนชั้นนำ”โดยที่ “การเมือง”ก็คือ “การบริหารประเทศและการปกครองดูแลประชาชน”และ“ชนชั้นนำ”ก็คือ “ผู้ที่มีฐานะทางการเมือง เศรษฐกิจ และสังคม เหนือกว่าผู้คนทั่วไป”นั่นก็คือ “ผู้ที่มีอำนาจ อิทธิพล ความมั่งคั่ง และมีบารมี”นั่นเอง

การเมืองก็เหมือนกับ “การขับรถ”คนขับก็คือชนชั้นนำ ส่วนประชาชนนั้นก็เป็นแค่ผู้โดยสาร ถ้าคนขับทึกทักว่าตนเองเป็นเจ้าของรถ ก็เหมือนกับคนๆ นั้นเป็น “นักเผด็จการ”ขับรถไปในทิศทางต่างๆ ตามอำเภอใจ ไม่สนใจผู้โดยสารว่าจะเดือดร้อน หวาดเสียว นั่งไม่สบาย หรือไม่อย่างไร

แต่ถ้าคนขับนึกอยู่เสมอว่าตัวเขาก็เป็นผู้โดยสารอีกคนหนึ่ง เพียงแต่ได้รับมอบหมายให้ขับรถนี้ไป พาผู้คนให้ไปถึงจุดหมายอย่างปลอดภัย และนึกถึงความทุกข์ร้อนของผู้โดยสารคนอื่นๆ อย่างนี้ก็เป็นคนขับแบบ“นักประชาธิปไตย”ที่เอาใจเขามาใส่ใจเรา และพยายามขับรถให้ดีที่สุด

ขณะนี้คนขับรถของเรายังตะบึงขับรถไปอย่างน่ากลัว

การขับรถแบบ “นักประชาธิปไตย”จะยอมรับให้มีการเปลี่ยนตัวคนขับได้ เพราะเป็นสิทธิของประชาชนที่ฝากความไว้วางใจไว้ให้

ตามหลักสากลนั้นเขาจะมีระยะเวลาในการเปลี่ยนตัวคนขับไว้อย่างสม่ำเสมอ โดยทั่วไปก็คือทุกๆ ๔ ปี นั่นก็คือการเลือกตั้งผู้แทนราษฎรรอบใหม่ ซึ่งถ้าหากเขาชื่นชอบคนขับคนเดิม เขาก็จะเลือกคนขับคนเดิมนั้นให้มา“ขับรถให้อีก”

คือเป็นผู้แทนราษฎรอีกรอบ แต่ถ้าประชาชนเขาไม่ไว้วางใจ เขาก็มีสิทธิที่จะเลือกคนใหม่ ดั่งนี้ต่อเนื่องกันไป เรียกว่าเป็น “วงจรอำนาจในระบอบประชาธิปไตย”ที่ประชาชนมีสิทธิจะมอบให้ใครหรือถอดถอนเอาคืนมาจากใครก็ได้

การเลือกตั้งเมื่อวันที่ ๒๔ มีนาคมที่ผ่านมา ดูเหมือนจะเป็นการเลือกเพื่อ “เปลี่ยนคนขับ”แม้ว่าการรวมคะแนนเสียงในตอนนี้อาจจะยังไม่ชี้ชัดเด็ดขาดว่า “พวกหนุนลุงตู่”กับ “พวกไม่เอาลุงตู่”

พวกใดจะได้ ส.ส.มากกว่ากัน แต่ถ้าดู “ปัญหา”ใน ๓ –๔ เรื่องหลักๆ ก็จะเห็นว่า “ลุงตู่”หรือพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา กำลัง “ตกที่นั่งลำบาก”อาจจะถึงขั้นไปไม่เป็นเลยทีเดียว

เริ่มจาก จำนวน ส.ส.ที่ได้รับเลือกตั้งเข้ามา ที่พรรคเพื่อไทยได้จำนวนมาเป็นอันดับหนึ่ง และเมื่อรวมกับพรรคการเมืองอื่นๆ ที่มีแนวคิดไม่สนับสนุนลุงตู่เหมือนกัน ก็มีจำนวนเกินครึ่งหนึ่งในสภาผู้แทนราษฎร

ภายใต้บรรยากาศของการเมืองแบบ “เลือกข้าง”ย่อมพอประเมินได้ว่า พลเอกประยุทธ์ไม่ได้เป็นที่ “ป้อบปูล่า” เหมือนเดิมอีกแล้ว

ยิ่งเข้ามาเป็นผู้นำรัฐบาลภายใต้ความวุ่นวายในสภาผู้แทนราษฎรแบบนี้ ทั้งยิ่งไม่มี“อำนาจพิเศษ”ในฐานะหัวหน้า คสช.ให้ใช้อีกต่อไป พลเอกประยุทธ์จึงไม่ต่างอะไรกับ“ซามูไรดาบหัก”ที่ไม่อาจจะสู้มารผจญรอบด้านนั้นได้

ตามมาด้วย คะแนนผู้ที่โหวตให้พรรคอนาคตใหม่ แม้จะเป็น“กระแสสร้าง”หรือ “ดราม่าการเมือง”แต่มันก็สามารถเจาะเข้าไปในสมองของคนรุ่นใหม่ ให้เกิดสำนึก “ต่อต้านระบบ”ได้มากพอสมควร

ซึ่งระบบนี้ก็คือระบบการเมืองที่มีคณะทหารเป็นผู้ปกครอง ยิ่งทหารออกมาตอบโต้หนักๆ กลุ่มที่อาศัยประโยชน์จากชัยชนะของพรรคอนาคตใหม่ก็ยิ่ง “เร้าระดม”ให้คนเห็นถึงความน่ากลัวของทหาร เพราะคนพวกนั้นรู้ว่ารัฐบาลของพลเอกประยุทธ์จำเป็นจะต้องพึ่งทหาร จึงเท่ากับได้ดึงมวลชนออกมาเป็นศัตรูกับพลเอกประยุทธ์ให้เพิ่มมากขึ้นด้วย

สุดท้าย ความยากลำบากในการรวบรวมเสียงสนับสนุน"ลุงตู่"ในสภาผู้แทนราษฎร แน่นอนว่าทันทีที่มีการประกาศจำนวน ส.ส.อย่างเป็นทางการ ที่กำหนดไว้ในวันที่ ๙ พฤษภาคม การ “รวมขั้ว” ของพรรคการเมืองในสภาผู้แทนราษฎรน่าจะมีความชัดเจนมากขึ้น

และจะพิสูจน์ความชัดเจนในวันที่มีการประชุมครั้งแรกเพื่อเลือกประธานสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งภาพของงูเห่าจะเลื้อยเข้าเลื้อยออกกี่ตัวๆ ก็จะได้เห็นในวันนั้น และจะนำมาซึ่งความชัดเจนของการที่พลเอกประยุทธ์จะได้เป็นนายกรัฐมนตรีต่อไปหรือไม่ด้วยเช่นกัน ซึ่งก็คงไม่ใช่เรื่องง่ายนัก

นอกจากนี้ หลังการประกาศผลการเลือกตั้ง คงจะมีการฟ้องร้องกันในเรื่องต่างๆ จนปั่นป่วนวุ่นวาย รวมถึงการฟ้องร้องพลเอกประยุทธ์ ที่ทราบว่าขณะนี้ถูก“จองกฐิน”อยู่หลายเจ้า ซึ่งก็มีหลายคนเชียร์ให้“ลุงตู่สู้ๆ”

จึงเป็นไปได้ว่าพลเอกประยุทธ์อาจจะ“สู้ยิบตา”ไม่ยอมล้มเลิกความตั้งใจที่จะเป็นนายกรัฐมนตรีสืบต่อ หรือถ้ามีปัญหาในการขึ้นสู่ตำแหน่งนายกรัฐมนตรี เช่น เสียงสนับสนุนในทั้งสองสภามีความหมิ่นเหม่ ก็อาจจะใช้ “อำนาจพิเศษ”ยังที่มีอยู่แก้ปัญหา

ประเมินว่าอาจจะมีการ“ประลองกำลัง”กันอย่างยืดเยื้อพอสมควร แต่สุดท้ายแล้ว“ลุงตู่ผู้ได้เปรียบ”ก็จะหาทางออกทางรอดได้ในที่สุด นั่นก็คือ “ไม่ว่าทางไหนๆ ลุงตู่ก็จะเป็นนายกฯต่อไป”

เรียกชะตาของคนเช่นนี้ว่า “เสือลำบากแต่ก็อยากอยู่ต่อ”