posttoday

ฮิตเลอร์กับกษัตริย์เอ็ดเวิร์ดที่ 8

08 เมษายน 2562

ศ.ดร.ไชยันต์ นักวิชาการรัฐศาสตร์เปิดห้องความรู้นำตำนานฮิตเลอร์กับกษัตริย์เอ็ดเวิร์ดที่ 8 มาเล่าสู่กันฟัง

รสนิยมทางการเมืองของเจ้าชายเอ็ดเวิร์ดก็ไม่ถือว่าเป็นเรื่องแปลกพิสดารเท่าไรนัก เพราะชนชั้นสูงส่วนใหญ่อังกฤษมักจะโน้มเอียงไปทางระบอบขวาจัดอย่างระบอบนาซีของฮิตเลอร์อยู่แล้ว

*************

โดย ศ.ดร.ไชยันต์ ไชยพร นักวิชาการคณะรัฐศาสตร์ ภาควิชาการปกครอง จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

เจ้าชายเอ็ดเวิร์ดที่แปดเสด็จขึ้นครองราชย์เป็นกษัตริย์ของอังกฤษในปี ค.ศ. 1936 พระองค์เป็นที่รู้จักในฐานะที่เป็นกษัตริย์ที่บูชาความรักโดยยอมสละราชสมบัติเพื่อแต่งงานกับแม่หม้ายชาวอเมริกัน ซึ่งการแต่งงานนั้นขัดต่อจารีตและราชประเพณีของอังกฤษ แต่ในอีกด้านหนึ่งโดยเฉพาะในทางการเมือง ก็มีหลักฐานที่บ่งชี้ว่า พระองค์เอนเอียงไปทางฮิตเลอร์และระบอบนาซีด้วย ตามหลักฐานล่าสุด พบว่า ที่จริงแล้ว ฮิตเลอร์ได้วางแผนมานานที่จะตีสนิทกับพระเจ้าเอ็ดเวิร์ด

เริ่มตั้งแต่ปี ค.ศ. 1933 ที่ฮิตเลอร์ได้ขึ้นดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของเยอรมนี เขาได้พยายามส่งเสริมหรือเชียร์ให้ฟรีดริกเก้ สาวน้อยผู้สูงศักดิ์ติดต่อเพื่อสานสัมพันธ์กับพระเจ้าเอ็ดเวิร์ด ซึ่งขณะนั้นเป็นเจ้าชายหนุ่มโสดและเป็นนักรัก โดยแผนของฮิตเลอร์ก็คือ เขาหวังว่าจะให้อังกฤษกลับไปเหมือนสมัยสมเด็จพระราชินีนาถวิกตอเรียที่บรรดาราชนิกูลของอังกฤษแต่งงานกับราชนิกูลของเยอรมัน เพื่อจะทำให้สายสัมพันธ์ระหว่างสองประเทศแน่นแฟ้นเพื่อผลประโยชน์ทางการเมืองของฮิตเลอร์และเยอรมนี

แต่แผนของฮิตเลอร์ที่จะใช้ฟรีดริกเก้ไม่สำเร็จ เพราะทางฝ่ายพ่อแม่ของฟรีดริกเก้เห็นว่าเธอยังอายุน้อยเกินไปที่จะแต่งงานกับผู้ที่จะก้าวขึ้นเป็นกษัตริย์ของอังกฤษในอนาคต เมื่อแผนหนึ่งไม่ผ่าน ฮิตเลอร์ก็ส่งชนชั้นสูงเยอรมันที่มีสายสัมพันธ์เป็นเครือญาติกับราชวงศ์วินเซอร์ไปลอนดอนเพื่อเป็นสายลับคอยแอบเก็บข้อมูลเกี่ยวกับเจ้าชายเอ็ดเวิร์ดและพระบรมวงศานุวงศ์

ข้อมูลที่ฮิตเลอร์ได้รับก็คือ เจ้าชายเอ็ดเวิร์ดหันเหไปทางอเมริกา เพราะพระองค์ไปมีความสัมพันธ์กับเทลม่าและฟรีดา สองสาวที่มีสายสัมพันธ์ทางครอบครัวกับทางอเมริกา แต่ทั้งสองสาวนั้นแต่งงานแล้ว รวมทั้งวอลลีส ซิมสั สาวคนโปรดที่พระองค์มีอะไรด้วย เมื่อฮิตเลอร์ทราบเรื่อง เขาได้ส่งจารชนที่เขาไว้ใจที่สุดคนหนึ่ง นั่นคือ ฟอน ริบเบนทรอพ ไปตีสนิทกับพระองค์และวอลลีส

ฟอน ริบเบนทรอพทำงานได้ผลดีเกินที่ฮิตเลอร์คาดไว้ เพราะภายในไม่กี่สัปดาห์ มีโทรเลขมากมายว่อนไปมาระหว่างเบอร์ลิน วอชิงตันและลอนดอน เป็นเรื่องซุบซิบในหมู่นักการทูตเกี่ยวกับเรื่องที่ฟอนริบเบนทรอพสามารถหว่านเสน่ห์จนวอลลิสยอมขึ้นเตียงกับเขา มีรายงานว่า ฟอน ริบเบนทรอพได้ส่งดอกคาเนชั่นให้วอลลิสทุกครั้งที่ทั้งสองมีอะไรกัน และจำนวนครั้งทั้งหมดที่เขาส่งไปให้เธอคือ ๑๗ ครั้ง

เมื่อฮิตเลอร์ได้ทราบข้อมูลดังกล่าวเกี่ยวกับจารชนมือขวาของเขา จากหนังสือชีวประวัติของฟอนริบเบนทรอพเล่าว่า โดยปกติ ฮิตเลอร์จะเป็นคนที่ไม่ค่อยจะมีอารมณ์ขันเท่าไรนัก แต่เขาก็กลับเฮฮาขบขันเกี่ยวกับเรื่องซุบซิบถึงความสัมพันธ์อันลึกซึ้งที่มือขวาของเขามีกับวอลลิส ขณะเดียวกัน แม้ว่า ตัววอลลิส ซิมสันจะปฏิเสธข่าวลือนี้เสมอ แต่เพื่อนรักของเธอที่ชื่อ แมรี ราฟเฟร ยืนยันว่า เรื่องดังกล่าวนี้เป็นความจริง

แม้ว่า ริบเบนทรอฟจะดันไปมีอะไรกับวอลลิส แต่ภารกิจหลักของเขาคือ พยายามเกลี้ยกล่อมให้เจ้าชายเอ็ดเวิร์ดผู้ที่จะเป็นกษัตริย์อังกฤษในอนาคตเป็นพันธมิตรกับนาซี มีตอนหนึ่งที่ริบเบนทรอฟประสบความสำเร็จ เพราะเจ้าชายเอ็ดเวิร์ดเห็นด้วยที่จะให้ทหารผ่านศึกของอังกฤษและของเยอรมนีได้มีการแลกเปลี่ยนเดินทางมาเยือนประเทศของอีกฝ่ายหนึ่ง แต่พระเจ้าจอร์จที่ห้า พระราชบิดาและกษัตริย์อังกฤษขณะนั้นได้ทรงตำหนิเจ้าชายเอ็ดเวิร์ดว่านั่นเป็นการเข้ายุ่งเรื่องการเมือง ซึ่งเป็นเรื่องที่ไม่สมควรยิ่งสำหรับพระบรมวงศานุวงศ์ และโดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ที่จะขึ้นเป็นกษัตริย์ และเมื่อเจ้าชายเอ็ดเวิร์ดทราบเรื่องที่พระองค์ถูกพระราชบิดาตำหนิ พระองค์กลับไม่ได้ให้ความสนใจ แถมยังมีคนเห็นพระองค์เต้นท่าห่าน (อาการล้อเลียน) ที่บริเวณอพาร์ตเมนท์ของวอลลิสในใจกลางกรุงลอนดอน

อย่างไรก็ตาม รสนิยมทางการเมืองของเจ้าชายเอ็ดเวิร์ดก็ไม่ถือว่าเป็นเรื่องแปลกพิสดารเท่าไรนัก เพราะชนชั้นสูงส่วนใหญ่อังกฤษมักจะโน้มเอียงไปทางระบอบขวาจัดอย่างระบอบนาซีของฮิตเลอร์อยู่แล้ว อีกทั้งในช่วงสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง ที่เจ้าชายเอ็ดเวิร์ดไปเป็นทหาร แม้ว่าจะไม่ได้ต้องไปรบพุ่งด้วยตัวพระองค์เองจริงๆ แต่พระองค์มีประสบการณ์ที่เลวร้ายพอดูจากเหตุการณ์ในครั้งนั้น พระองค์ตั้งปณิธานที่จะไม่คิดสู้กับกองทัพเยอรมัน

ขณะเดียวกันในช่วงทศวรรษ 1920 พระองค์ได้ทรงเห็นระบอบไวมาร์ของเยอมรันล่มสลาย มีคนตกงานมหาศาล เงินเฟ้อ และมีสถานการณ์ที่ดูคล้ายสงครามกลางเมืองระหว่างฝ่ายซ้าย-ขวาในเยอรมนี ในสภาวะอันสับสนวุ่นวายนี้ พระองค์ทรงมีความเชื่อว่า ผู้นำที่เข้มแข็งเท่านั้นที่จะสามารถรักษาเสถียรภาพความมั่นคงและนำความเจริญรุ่งเรืองให้กลับฟื้นคืนมาได้

และแน่นอนว่า ในขณะที่พระองค์ทรงโน้มเอียงไปทางขวาจัด พระองค์ทรงรังเกียจพวกบอลเชวิคในรัสเซียอย่างยิ่ง มีบันทึกเล่าว่า พระองค์ไม่เคยยอมให้อภัยพวกคอมมิวนิสต์ที่สั่งประหารพระเจ้าซาร์นิโคลัสที่สองและครอบครัวในปี ค.ศ. 1918 ด้วยพระเจ้าซาร์นิโคลัสที่สองเป็นพ่อทูนหัวของพระองค์

กล่าวได้ว่า ประสบการณ์เหล่านี้มีอิทธิพลทางความคิดทางการเมืองของพระองค์

พระองค์เชื่อว่า ถ้าเยอรมนีมีความแข็งแกร่งก็จะช่วยเป็นปราการสกัดรัสเซียไว้ได้ และหวังว่า เยอรมนีกับรัสเซียจะทำสงครามกันเอง ในขณะที่อังกฤษก็ยังคงมีความสุขกับจักรวรรดิของตนต่อไปได้

ในขณะที่ฮิตเลอร์ส่งจารชนไปประกบเจ้าชายเอ็ดเวิร์ดและวอลลิส ทางหน่วยสืบราชการลับอังกฤษหรือสก๊อตแลนยาร์ดก็ไม่น้อยหน้า ส่งสายสืบคอยติดตามความเคลื่อนไหวของทั้งสองด้วย และพบว่า นอกจากข่าวลือหรือซุบซิบที่นางมีอะไรกับมือขวาของฮิตเลอร์แล้ว เธอยังคบหากับนาย กาย ทรันเดิล เซลล์แมนขายรถยนต์ อีกด้วย

จากข้อมูลที่ได้ ทำให้ทางสำนักพระราชวังและรัฐบาลตั้งข้อสังเกตว่า ครอบครัวซิมสันอาจจะเป็นพวกที่ชอบแบล็คเมล์ และตัววอลลิสอาจจะเป็นสายลับให้พวกนาซี จากข่าวซุบซิบความสัมพันธ์ลึกซึ้งที่เธอมีกับมือขวาฮิตเลอร์ แต่สำหรับตัวเจ้าชายเอ็ดเวิร์ดเอง เมื่อพระองค์เสด็จขึ้นครองราชย์ในเดือนมกราคม ค.ศ. 1936 พระองค์กลับไม่ได้ทรงระมัดระวังอะไรเลยเกี่ยวกับปัญหาที่อาจเกิดขึ้นตามมา ไม่ว่าจะเป็นเอกสารสำคัญ ฯลฯ
จากสถานการณ์ดังกล่าวนี้เอง ก็ดูจะเป็นไปตามแผนของฮิตเลอร์ นั่นคือ เขาเห็นว่า กษัตริย์พระองค์ใหม่ของอังกฤษ

พระเจ้าเอ็ดเวิร์ดที่แปดเป็นพันธมิตรกับนาซี และเมื่อฮิตเลอร์ยึดไรน์แลนด์ได้สำเร็จในเดือนมีนาคม 1936 สองเดือนหลังจากพระเจ้าเอ็ดเวิร์ดที่แปดขึ้นครองราชย์ ซึ่งการกระทำดังกล่าวของฮิตเลอร์เป็นการละเมิดข้อตกลงระหว่างประเทศทั้งหมด แต่ฮิตเลอร์มั่นใจว่า พระเจ้าเอ็ดเวิร์ดที่แปดจะอยู่ข้างเขา ซึ่งพระเจ้าเอ็ดเวิร์ดที่แปดก็ไม่ได้ทำให้ฮิตเลอร์ผิดหวัง เพราะพระองค์ขอให้นายกรัฐมนตรีนิ่งเฉยต่อการยึดไรแลนด์ของฮิตเลอร์ พระเจ้าเอ็ดเวิร์ดที่แปดทรงครองราชย์อยู่ได้เพียงไม่ถึงหนึ่งปี พระองค์ก็ทรงสละราชสมบัติในเดือนธันวาคม ปีเดียวกันนั้นเอง ข่าวที่แพร่ออกไปคือ พระองค์บูชาความรักยิ่งกว่าราชบัลลังก์ แต่ในความเป็นจริง พระองค์ทรงถูกกดดันทั้งจากทางวังและรัฐบาลให้สละราชสมบัติเพื่อความมั่นคงของประเทศชาติ และหลังจากที่พระองค์สละราชสมบัติแล้ว พระองค์ก็ยังทรงเดินหน้าคบหากับฮิตเลอร์อย่างเปิดเผย โดยไม่สนใจใคร

ดังนั้น กรณีดังกล่าวนี้สะท้อนให้เห็นว่า การสละราชสมบัติ (หรือการถูกบีบให้ออกจากตำแหน่ง) ไม่ได้มาจากเหตุทางชีวิตส่วนตัวเท่ากับการเลือกดำเนินชีวิตที่ส่งผลกระทบต่อความมั่นคงของรัฐ