posttoday

ภารกิจของประชาชนหลังเลือกตั้ง

28 มีนาคม 2562

ภารกิจของประชาชนหลังการเลือกตั้งมีความสำคัญและยิ่งใหญ่มากกว่าการไปลงคะแนน นั่นคือการคอยตรวจสอบการทำงานของส.ส.ที่ได้เลือกเข้าสภา

ภารกิจของประชาชนหลังการเลือกตั้งมีความสำคัญและยิ่งใหญ่มากกว่าการไปลงคะแนน นั่นคือการคอยตรวจสอบการทำงานของส.ส.ที่ได้เลือกเข้าสภา

******************************

โดย...ภุมรัตน์ ทักษาดิพงศ์ อดีตผู้อำนวยการ สำนักข่าวกรองแห่งชาติ

ประชาชนผู้มีสิทธิออกเสียงเลือกตั้งได้แสดงเจตนารมณ์ของตนไปแล้วในการเลือกตั้งทั่วไปเมื่อวันที่ 24 มี.ค. 2562 ภายใต้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ พรรคไหนได้ที่นั่ง สส.เขต และ สส.บัญชีรายชื่อ รวมกันแล้วจำนวนเท่าไร ซึ่งเป็นการแข่งกันระหว่างสองพรรค คือ พรรคเพื่อไทย หรือพรรคเอาทักษิณ ซึ่งเป็นแชมป์เก่า และพรรคพลังประชารัฐ หรือพรรคไม่เอาทักษิณ ซึ่งเป็นผู้ท้าชิง ส่วนที่เหลือก็เป็นพรรคที่จะเข้าร่วมกับพรรคใหญ่ดังกล่าวพรรคใดพรรคหนึ่ง

ผลการเลือกตั้งเป็นอย่างไร ประชาชนทั่วไปทราบกันดีอยู่แล้ว แต่ถ้าเป็นมวยก็ต้องบอกว่า มีการ “พลิกล็อก” อย่างถล่มทลาย โดยเฉพาะพรรคประชาธิปัตย์ที่แพ้อย่างยับเยิน โดยเฉพาะในเวที กทม. และไม่อาจผูกขาดพื้นที่ภาคใต้ดังที่เคยเป็นมา พรรคประชาธิปัตย์คงรู้ว่าจะทำอย่างไรที่จะปรับปรุงภาพลักษณ์ใหม่ หรือ “รีแบรนดิ้ง” ตัวเอง ในขณะที่พรรคอนาคตใหม่ก็พลิกล็อกถล่มทลายเหมือนกันโดยได้รับเลือกมากอย่างคาดไม่ถึง มีเสียงวิจารณ์ว่า การที่พรรคเพื่อไทยและแนวร่วมได้เสียงไม่ถึงตามเป้าหมายที่กำหนด เพราะคนที่วางแผนคิดว่าจะเรียกคะแนนท่วมท้น กลับแพ้ปรากฏการณ์ 8 กุมภาพันธ์ และปรากฏการณ์ฮ่องกง

ที่น่าสนใจ “กูเกิล เทรนด์” ซึ่ง “ทำงาน” มาแล้วที่ประธานาธิบดีทรัมป์ชนะการเลือกตั้ง โดยสำรวจจากจำนวนคนที่เข้าไปค้นดูชื่อและพรรคในกูเกิลก่อนการเลือกตั้ง ซึ่งบอกได้ว่าคนสนใจผู้สมัครและพรรคใดมากที่สุดที่พบว่า สถิติของคนที่เข้าไปค้นดูหรือสนใจพรรคอนาคตใหม่ในกูเกิลมาเป็นอันดับ 1 ชนิดทิ้งห่างพรรคอื่นๆ แบบขาดลอย หลายคนสงสัยว่า โพลแบบนี้จะใช้ได้กับเมืองไทยหรือไม่ ในที่สุดโพลแบบนี้ดูจะแม่นยำกว่าโพลอื่นด้วยซ้ำ นอกจากใช้ได้ผลกับกรณีของประธานาธิบดีทรัมป์ในสหรัฐแล้ว ยังใช้ได้ผลกับการเลือกตั้งในเมืองไทยครั้งนี้ด้วย

อนาคตของพรรคอนาคตใหม่จะเป็นอย่างไรต่อไป ขึ้นอยู่กับการทำตามนโยบายพรรคที่ประกาศไว้และสัญญาที่ให้ไว้กับประชาชน โดยเฉพาะกับคนหนุ่มสาวและคนที่ต้องการเห็นการเมืองไทยก้าวข้ามพ้น “การเมืองน้ำเน่า” เสียที ส่วนคนรุ่นเก่าก็ต้องทำความเข้าใจกับ “โลกของคนรุ่นใหม่” รวมทั้งบทบาทของการใช้สื่อดิจิทัลกับการเลือกตั้ง

สำหรับ สส.ที่ประชาชนเลือกเข้าไปนั้น ประชาชนไม่ได้ให้ไปทำงานฟรี แต่มีเงินเดือน เงินประชุมตำแหน่ง เบี้ยประชุม เงินบำนาญ ให้ ซ้ำยังจัดผู้ช่วย สส.จำนวนหนึ่งไปช่วยงานให้อีก โดยประชาชนจ่ายเงินค่าจ้างให้เสร็จ นอกจากนั้น ประชาชนยังจัดเงินก้อนใหญ่ให้รัฐบาลบริหารประเทศให้เจริญก้าวหน้า แก้ไขปัญหาของประชาชน และยังให้ไปเที่ยวหรือดูงานในต่างประเทศอีกด้วย เมื่อครบวาระก็ยังมีบำนาญให้อีกตลอดชีพ ฯลฯ โดยเงินเหล่านี้มาจากภาษีทั้งทางตรงและทางอ้อมของประชาชนที่เต็มใจและพร้อมให้ ประชาชนขออย่างเดียวคือ
ตั้งหน้าทำงานเพื่อประชาชนตามที่สัญญาไว้ระหว่างหาเสียงเลือกตั้ง ที่สำคัญคือ อย่าเบียดบัง หรือ คอร์รัปชั่นงบประมาณซึ่งมาจากภาษีของประชาชนอย่างที่นักการเมืองรุ่นเก่าหลายคนเคยทำมา

เมื่อลงคะแนนเสียงเลือกตั้งเสร็จเรียบร้อยแล้ว ประชาชนก็อย่าเพิ่งกลับไปนอนต่อ เหมือนอย่างที่ประธานาธิบดีสีจิ้นผิง เรียกว่า “ประชาธิปไตยเศษสตางค์” ที่ 4 ปีประชุมลุกขึ้นมาทีหนึ่งเพื่อรับเศษเงินไปลงคะแนนให้กับคนที่ให้เงิน หลังจากนั้นก็กลับไปนอนต่อ ทั้งที่ประชาชนมีภารกิจสำคัญในการตรวจสอบคนที่ประชาชนเลือกเข้าไปเป็นตัวแทน

ภารกิจของประชาชนหลังการเลือกตั้งสำคัญและยิ่งใหญ่มากกว่าการไปลงคะแนนเสียงเลือกผู้แทนเสียอีก หลังจากที่เสร็จภารกิจในการเลือก “คนดี มีความรู้ความสามารถ” เป็นตัวแทนของประชาชนไปทำหน้าที่แทนแล้ว หลังจากนั้น ตลอดระยะเวลา 4 ปีของการดำรงตำแหน่ง ประชาชนต้องคอยตรวจสอบการทำงานของ สส.ที่ตัวเองเลือกเข้าไป รวมทั้งคนที่เราไม่ได้เลือก เพราะ สส.เป็นตัวแทนของประชาชนทุกคนที่เลือกและไม่ได้เลือกตน ว่าได้ทำหน้าที่ให้บ้านเมืองอยู่เย็นเป็นสุข ประชาชนมีการกินดีอยู่ดี หรือไม่อย่างไร หากพบว่าทำตามที่ประชาชนต้องการ เราก็เลือกเขาเป็นผู้แทนอีกในการเลือกตั้งครั้งหน้า แต่ถ้าพบว่าทำไม่ดี ก่อให้เกิดความเสียหาย ก็ไม่ต้องรอให้ถึง 4 ปี ประชาชนสามารถรวมกลุ่มกันขับไล่ออกไปได้

การตรวจสอบ สส.ที่เราเลือกเข้าไปเดี๋ยวนี้ทำได้ง่ายกว่า สะดวกกว่า รวดเร็วกว่า โดยผ่านสื่อดิจิทัล หรือสื่อออนไลน์ที่ไปได้กว้าง ไกล เร็ว และตรง รวมทั้งมีผลกระทบอย่างรุนแรงไปยังคนที่ถูกตรวจสอบ นอกจากสื่อทำหน้าที่นี้ ปัจจุบันประชาชนสามารถทำหน้าที่นี้เองได้ จนบางคนบอกว่า “ประชาธิปไตยโดยตรง” แบบกรีกและโรมันกำลังจะกลับมาอีก แม้ไม่ใช่คนทั้งหมดมารวมกันแล้วใช้วิธียกมือก็ตาม แต่เนื่องจากความเร็วและแรง ประชาชนต้องมี “สติ” และ “รับผิดชอบ” ต่อการตรวจสอบของตนด้วยการหาความจริง หลักฐานที่พิสูจน์ได้

รัฐบาลในระยะ “เปลี่ยนผ่าน” ต้องเผชิญกับ “สิ่งท้าทาย” ต่างๆ มากมาย ปัญหาเร่งด่วนของประเทศที่ประชาชนต้องการคือ ความสงบเรียบร้อยของบ้านเมือง เมื่อบ้านเมืองสงบเรียบร้อย รัฐบาลจะมีเวลาในการพัฒนาประเทศ แก้ไขปัญหาประชาชน ทำให้ประชาชนกินดีอยู่ดีมีความสุข ภารกิจที่สำคัญเร่งด่วนประการหนึ่งที่ท้าทายและรัฐบาลชุดใหม่ต้องจัดการให้ได้ คือ “ปัญหาทุจริตคอร์รัปชั่น” แต่ละปี งบประมาณแผ่นดินที่มาจากภาษีของประชาชนถูกโกง เบียดบัง โดยนักการเมืองเลวซึ่งร่วมมือกับข้าราชการเลว บางปีสูงสุดถึงร้อยละ 25-35 จากงบประมาณประจำปี 3.3 ล้านล้านบาท หากสามารถทำให้การทุจริตลดน้อยลงแม้จะไม่หมดไป เงินจำนวนนี้สามารถนำมาใช้พัฒนาประเทศได้มากมายเพื่อให้ประชาชน
กินดีอยู่ดีมีสุขตามที่ได้สัญญากับประชาชนไว้

จากผลการเลือกตั้งครั้งนี้ที่ “พรรคพลังประชารัฐ” ได้คะแนนนิยมจากประชาชน หรือ “ป๊อปปูลาร์โหวต” มากที่สุด สะท้อนให้เห็นว่า ประชาชนต้องการให้หมอคนนี้ที่รักษาคนไข้หนักในห้องไอซียูจนพ้นขีดอันตราย ให้รักษาคนไข้ต่อไปจนกว่าจะหายดี นัยหนึ่งผลการเลือกตั้งสะท้อนความต้องการของประชาชนที่จะให้ พล.อ.ประยุทธ์ เป็นนายกรัฐมนตรีในช่วง “เปลี่ยนผ่านประเทศ” เพื่อให้ประเทศเดินหน้าต่อไปได้อย่างมั่นคง ความต่อเนื่องจะทำให้นักลงทุนมีความมั่นใจมากขึ้นและตัดสินใจลงทุนทันที ซึ่งจะทำให้ประเทศพัฒนา รัฐบาลหาเงินไปช่วยสวัสดิการประชาชนตามที่ได้สัญญาไว้ได้

ก่อนเลือกตั้ง นักการเมืองคิดแต่เอาชนะกันทาง “การเมือง” แต่หลังเลือกตั้ง “บ้านเมือง” ต้องมาก่อน