posttoday

เรียนรู้ "บลูเฮาส์" เราเริ่มรัฐร่วม สามัญสู่สุดสูง

10 มีนาคม 2562

โมเดลที่น่าสนใจของการอนุรักษ์ "บลูเฮาส์" กลุ่มอาคารประวัติศาสตร์ของชุมชนหนึ่งในฮ่องกง ที่สร้างสมดุลระหว่างการ "อนุรักษ์" และ "พัฒนา"

โมเดลที่น่าสนใจของการอนุรักษ์ "บลูเฮาส์" กลุ่มอาคารประวัติศาสตร์ของชุมชนหนึ่งในฮ่องกง ที่สร้างสมดุลระหว่างการ "อนุรักษ์" และ "พัฒนา"

*************************************

โดย...อาทิตย์ โกวิทวรางกูร เครือข่ายมักกะสัน [email protected]

ตอนที่ผ่านมาได้เล่าเบื้องหลังการต่อสู้เพื่อหาทางออกให้กับบลูเฮาส์ กลุ่มอาคารประวัติศาสตร์ของชุมชนหนึ่งในฮ่องกง

จากจุดเริ่มของแผนอนุรักษ์และพัฒนาที่ตัดคนออกจากสมการ จนเกิดการต่อต้านและเคลื่อนไหวของผู้อยู่อาศัยเดิม ร่วมกับองค์กรสาธารณกุศลและองค์กรอนุรักษ์ จนในที่สุดบรรลุถึงข้อตกลงร่วมที่ไม่เคยมีมาก่อนในประวัติศาสตร์ของฮ่องกง

ตัวละครสำคัญหนึ่ง คือ Carrie Lam ขณะนั้นรับผิดชอบกระทรวงการพัฒนา (Development Bureau) (ขณะนี้เธอเป็น Chief Executive ของฮ่องกง) เธอได้ร่วมหารือและรับฟังไอเดียการเก็บ “คน” และ “อาคาร” ไว้ด้วยกัน นำไปสู่การเปิดทางเลือกใหม่ให้กับบลูเฮาส์ในปลายปี 2007

ช่วงที่เธอดูแลกระทรวงการพัฒนานั้นเอง มีการริเริ่ม Revitalizing Historic Buildings Through Partnership Scheme หรือโครงการฟื้นคืนชีวิตอาคารประวัติศาสตร์ผ่านความร่วมมือ

แนวคิดคือการสร้าง สมดุล ระหว่างการ “อนุรักษ์” และ “พัฒนา” ด้วยการฟื้นคืนชีวิต (Revitalizing) อาคารอนุรักษ์ ผ่านการบูรณะ (Renovation) และสร้างรูปแบบการใช้งานใหม่ (Adaptive-reuse)

รัฐจะทำงานร่วมกันกับองค์กรไม่แสวงหากำไร โดย (1) คัดเลือกอาคารที่มีศักยภาพในการฟื้นฟูออกมา (2) เปิดให้องค์กรไม่แสวงหากำไรส่งแผนเข้าประกวด (3) รัฐคัดเลือกองค์กรและแผนงานที่เหมาะสมที่สุด

ผู้ได้รับการคัดเลือก รัฐจะสนับสนุนงบประมาณบูรณะอาคาร (บางส่วนหรือทั้งหมด) ค่าเช่า และต้นทุนเพื่อเริ่มกิจการ หรือส่วนขาดทุนจากการดำเนินงานในสองปีแรก

กลุ่มอาคารบลูเฮาส์ ถูกบรรจุในแผนฟื้นคืนชีวิตนี้ด้วย (รายละเอียดเพิ่มเติมดูได้ที่ https://www.heritage.gov.hk/en/rhbtp/about.htm)

โจทย์หนึ่งคือ ทำอย่างไรให้ผู้อยู่อาศัยเดิมที่จะอยู่ต่อ สามารถจ่ายค่าเช่าในราคาที่รับไหว...โดยที่โครงการบลูเฮาส์ก็อยู่รอดทางการเงินอย่างยั่งยืน

Jack Chan Jick-chi กรรมาธิการอนุรักษ์มรดกของรัฐบาลฮ่องกง กล่าวว่า “เราเขียนลงไปในข้อกำหนดของสัญญาเช่า ว่าองค์กรไม่แสวงหากำไรที่จะเข้ามาทำโครงการนี้ ต้องเก็บค่าเช่าในราคาที่สมเหตุสมผลกับผู้อยู่อาศัยที่
ตัดสินใจจะอยู่ต่อ”

สัญญาระบุไว้ว่า จะต้องคงราคาค่าเช่าเดิมเอาไว้ แต่หลังจากโครงการเปิดดำเนินการ (หลังบูรณะอาคารเสร็จ) จะพิจารณาปรับค่าเช่าทุก 2-3 ปี โดยอิงกับดัชนีราคาผู้บริโภค ... และระหว่างการบูรณะ จะต้องจัดหาที่พักชั่วคราวให้กับผู้อยู่อาศัยเดิมด้วย

สำหรับคนที่ไม่อยู่ต่อจะได้รับเงินชดเชย และสิทธิย้ายไปอยู่ในโครงการที่อยู่อาศัยของรัฐ

Laurence Lam Kwok-wai แห่ง St. James’ Settlement หนึ่งในองค์กรที่เสนอแผนบลูเฮาส์ กล่าวว่า “การบูรณะอาคารที่ไร้คน ง่ายกว่ามาก ... แต่เราเชื่อว่า ‘คน’ นั้นสำคัญ ในการส่งต่อประวัติศาสตร์ของชุมชน”

ไอเดียเริ่มแรก คือการเปลี่ยนกลุ่มอาคารบลูเฮาส์ ไปเป็น ฐานทัพสำหรับศิลปินท้องถิ่น เพื่อโปรโมทศิลปะชุมชน และการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม ในย่านหว่านจ๋าย

“เรามิได้ทำเพียงเพื่อฟื้นบรรยากาศวันวาน แต่ทำเพื่อให้สถานที่นี้ เป็น ‘จุดรวมพลัง’ แห่งชุมชน ของวันนี้และวันหน้า”

ลี ผู้อยู่ในบลูเฮาส์มา 35 ปี มองว่าการคงค่าเช่าช่วงแรกไว้เป็นเรื่องดี แต่เขาและเพื่อนบ้านคนอื่นๆ ต้องการร่วมด้วยในการคัดสรรองค์กรที่จะเข้ามาทำโครงการนี้

“เราห่วงว่าธุรกิจและผลประโยชน์จะมากเกินไป เราไม่อยากเห็นบลูเฮาส์กลายเป็นร้านอาหารกินดื่มราคาแพงแบบ The Pawn”

(The Pawn ที่ว่า คือโครงการฟื้นฟูโรงรับจำนำเก่า ตรงถนนสายสำคัญเส้นรถรางพาดผ่าน ในย่านหว่านจ๋าย ที่แม้อาคารจะคงอยู่ แต่ข้างในกลายเป็นร้านอาหารหรูๆ ชิกๆ ที่คนหยิบมือเดียวเข้าถึงได้)

ข้อกังวลของลีคงบรรเทาลง เมื่อรู้ว่าข้อเสนอที่พวกเขาร่วมกันทำ กำหนดให้ผู้เช่าร้านเป็นกิจการเพื่อสังคม และเน้นให้เกิดเศรษฐกิจหมุนเวียนในระดับชุมชน

ปี 2009 ข้อเสนอซึ่งจัดทำขึ้นร่วมกันระหว่างกลุ่มผู้อยู่อาศัยเดิมในบลูเฮาส์ และ 3 องค์กรพันธมิตร ในชื่อโครงการว่า Viva Blue House ถูกยื่นเข้า Revitalizing Historic Buildings Through Partnership Scheme

องค์กรทั้ง 3 ได้แก่

(1) St.James’ Settlement องค์กรการกุศลที่เริ่มต้นขึ้นตรงท้ายซอยเดียวกันกับบลูเฮาส์เมื่อเกือบ 70 ปีก่อน ทุกวันนี้ให้บริการสาธารณะอย่างครอบคลุมและไม่จำกัดเฉพาะย่านนี้ รับเป็นองค์กรเจ้าภาพ ยื่นเสนอโครงการ

(2) Heritage Hong Kong Foundation องค์กรการกุศล ก่อตั้งปี 2006 เพื่อเป็นศูนย์รวมไอเดียและการเคลื่อนไหว ในประเด็นมรดกประวัติศาสตร์และการอนุรักษ์ของฮ่องกง

“เราไม่ควรปล่อยให้รัฐบาลปกป้องมรดกของฮ่องกงเพียงฝ่ายเดียว เพราะรัฐไม่มีความสามารถจะทำเช่นนั้นได้” Margaret Brooke ผู้ก่อตั้ง Heritage Hong Kong Foundation กล่าว เธอเป็นคนอังกฤษ ปัจจุบันอายุ 76 ปี ทำงานเป็นที่ปรึกษาอสังหาริมทรัพย์ในฮ่องกง (และอีกหลายประเทศ) มากว่า 40 ปี

(3) Community Cultural Concern องค์กรการกุศล ก่อตั้งปี 2006 เพื่อสนับสนุนการมีส่วนร่วมของสาธารณะในการสร้างชุมชน ด้วย “นวัตกรรมทางสังคมและวัฒนธรรม”

ปลายปี 2010 ทางการประกาศผลว่า Viva Blue House ได้รับคัดเลือก

จากนั้นเกือบ 3 ปี (2011-2013) เป็นการตระเตรียม ก่อนถึงขั้นตอนบูรณะ ซึ่งเฟสแรกกินเวลาเกือบ 3 ปี (2013-2016)

กลางปี 2016 การบูรณะเฟส 2 เริ่มขึ้น
คู่ขนานด้วยการประชุมประจำเดือนของผู้อยู่อาศัยในบลูเฮาส์ เพื่อเตรียมความพร้อม และซักซ้อมกลไกดูแลจัดการชุมชนกันเอง

โค้งสุดท้ายในปี 2017 Good Neighbour Scheme โปรแกรมในการคัดสรรผู้อยู่อาศัย “รายใหม่” ที่แต่ละคนต้องมีบทบาทในการร่วมสร้างและดูแลชุมชนบลูเฮาส์แห่งนี้ รวมทั้งต้องพร้อมจะจ่ายค่าเช่าในราคาตลาด

ต้นปีมีการประกาศรับสมัครผู้สนใจเข้าอยู่อาศัยในห้องว่าง 12 ยูนิต ใบสมัครหลั่งไหลมาหลายร้อยชุด ผู้สมัครต้องเขียนจดหมายเล่าว่าทำไมจึงอยากเข้ามาอยู่ในบลูเฮาส์ และตนมีความสามารถอะไรที่จะอุทิศให้ชุมชนนี้บ้าง

ในที่สุดโครงการที่ผ่านเรื่องราวการต่อสู้และต่อรองมานับสิบปีก็เสร็จสมบูรณ์ พร้อมเปิดตัวอย่างเป็นทางการในเดือน ก.ย. 2017

ปลายปีนั้นเอง ยูเนสโกได้ประกาศรางวัลอนุรักษ์ประจำปี และรางวัลยอดเยี่ยม (Award of Excellence) ในปีนั้น เป็นของ “บลูเฮาส์”

Award of Excellence เป็นรางวัลขั้นสูงสุดใน 4 กลุ่ม โปรเจกต์ที่จะได้รับรางวัลนี้ ต้องได้คะแนนสูงมากๆ ในทุกเกณฑ์ตัดสิน และส่งผลสะเทือน (Major catalytic impact) ในระดับชาติหรือภูมิภาค

แม้ฮ่องกงจะเคยได้รางวัลจากยูเนสโกมาหลายครั้ง แต่นี่คือ “รางวัลแรก” ในหมวดนี้

คณะกรรมการตัดสินให้ความเห็นว่า “นี่เป็นเครื่องยืนยันอันสูงสุด สำหรับแนวทางการอนุรักษ์เมืองแบบมีส่วนร่วมที่แท้จริง”

“...การร่วมมือในวงกว้างจากกลุ่มผู้อยู่อาศัยเดิม เสริมด้วยองค์กรสาธารณกุศล และองค์กรอนุรักษ์ เพื่อสร้างแคมเปญปกป้องชุมชนคนธรรมดาในหว่านจ๋าย ย่านซึ่งการไล่ปรับพื้นที่ (Gentrification) ไวและเข้มข้น”

“พลังพลเมืองอันพิเศษนี้ ได้ปกป้องมรดกชุมชน ในเมืองที่ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ดุร้ายที่สุดแห่งหนึ่งของโลก”

“นี่คือแรงบันดาลใจ แก่การต่อสู้ทำนองนี้ ในอีกหลายที่ หลายเมือง”