posttoday

ภาคเกษตรไทยในเงา "คสช."

03 มีนาคม 2562

สำรวจสถานการณ์ด้านต่างๆ ของภาคการเกษตร ในช่วงเวลา ปี 2557-2561 โดยมีข้อมูลปี 2556 เป็นปีเปรียบเทียบ

สำรวจสถานการณ์ด้านต่างๆ ของภาคการเกษตร ในช่วงเวลา ปี 2557-2561 โดยมีข้อมูลปี 2556 เป็นปีเปรียบเทียบ

****************************

โดย... ดร.เดชรัต สุขกำเนิด อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัย เกษตรศาสตร์

หลังจากการยึดอำนาจของ คสช. เมื่อเดือน พ.ค.2557 ภาคเกษตรไทยก็เป็นหนึ่งในเป้าสายตาของผู้ที่สนใจด้านการเมืองและนโยบายสาธารณะ เพราะก่อนหน้านั้นรัฐบาลยิ่งลักษณ์มักถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่า ดำเนินนโยบายการเกษตรแบบประชานิยม ทำให้ราคาสินค้าเกษตรสูงเกินจริง ผู้คนจึงสนใจว่า คสช.จะดำเนินนโยบายเกษตร และนำพาภาคการเกษตรไปสู่จุดใด

หากกล่าวโดยย่อ อาจกล่าวได้ว่า แม้จะมีการเปลี่ยนแปลงรัฐมนตรีว่าการ/ช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ 3 ชุดในช่วง 4-5 ปีที่ผ่านมา แต่คำสำคัญที่รัฐบาล คสช.มักกล่าวถึงคือ การเพิ่มผลผลิต การลดต้นทุนการผลิต และการบริหารจัดการอุปสงค์และอุปทานให้มีความสมดุล ซึ่งข้อสุดท้ายนั้น รัฐบาล คสช.มองว่าจะเป็นการแก้ไขปัญหาราคาสินค้าเกษตรที่มีความยั่งยืนมากกว่านโยบายแทรกแซงราคาแบบเดิม

บทความนี้จึงขอพาไปสำรวจสถานการณ์ด้านต่างๆ ของภาคการเกษตร ในช่วงเวลา ปี 2557-2561 และมีข้อมูลปี 2556 เป็นปีเปรียบเทียบไว้ด้วย

ภาพรวม GDP ภาคเกษตรไม่โตขึ้น

ในภาพรวมแล้ว GDP ภาคเกษตร ณ ราคาตลาด เริ่มลดลงอย่างมากตั้งแต่ปี 2557 จาก 1.46 ล้านล้านบาทในปี 2556 และลดลงเหลือ 1.33 ล้านล้านบาท ในปี 2557 และลดลงต่อเนื่องเหลือ 1.22 ล้านล้านบาทในปี 2558 (ภาพที่ 1) ก่อนที่จะค่อยๆ เพิ่มขึ้นช้า จนล่าสุดใน
ปี 2561 GDP ภาคเกษตรกลับมาอยู่ที่ 1.32 ล้านล้านบาท ซึ่งยังต่ำกว่า GDP ภาคเกษตร ในปี 2557 กล่าวได้ว่า GDP ภาคเกษตร ไม่โตขึ้นเลยในช่วงเวลา 4-5 ปี ของรัฐบาล คสช.

การผลิตเพิ่มขึ้น แต่ผลิตภาพการผลิตยังไม่เพิ่มขึ้น

ในแง่การผลิตของภาคการเกษตร พบว่า ดัชนีผลผลิตการเกษตรที่ปรับตามฤดูกาล บ่งชี้ว่า ในปี 2556-2561 ผลผลิตการเกษตรของไทยในภาพรวมเพิ่มขึ้นเล็กน้อย โดยเพิ่มขึ้นสูงที่สุดในช่วงต้นปี 2561 ก่อนที่จะเริ่มลดลงในช่วงปลายปี

อย่างไรก็ดี ในแง่ของผลิตภาพการผลิตหรือผลผลิตเฉลี่ยต่อไร่ ในปี 2556-2560 (ปีล่าสุดที่มีข้อมูล) ซึ่งเป็นเป้าหมายสำคัญในเชิงนโยบายของรัฐบาล คสช. กลับว่า เมื่อพิจารณาจากพืชที่สำคัญ 7 ชนิด ในตารางที่ 1 กลับพบว่า ผลผลิตเฉลี่ยต่อไร่ของพืชสำคัญที่เพิ่มขึ้นนั้นมีเพียงข้าวนาปรังและข้าวโพดเลี้ยงสัตว์เท่านั้น ส่วนผลผลิตเฉลี่ยต่อไร่ของอ้อย ยางพารา และปาล์มน้ำมัน กลับมีผลผลิตเฉลี่ยต่อไร่ลดลง

ต้นทุนการผลิตมีทั้งลดและเพิ่ม

รัฐบาล คสช.มีแนวคิดที่ชัดเจนในการที่จะลดต้นทุนการผลิตของภาคเกษตรลงให้ได้ ในระยะแรกโดยการขอความร่วมมือกับผู้ประกอบการและเจ้าของที่ดินให้ลดราคาและค่าเช่าที่ดินลง ตามมาด้วยการรวมกลุ่มของเกษตรกรภายใต้แนวคิดเกษตรแปลงใหญ่ เพื่อให้การจัดการมีประสิทธิภาพมากขึ้น และมีต้นทุนการผลิตลดลง

อย่างไรก็ดี หากพิจารณาในภาพรวมของพืชสำคัญ 7 ชนิด ในตารางที่ 2 แล้วจะพบว่า ในช่วงปี 2556-2560 ต้นทุนการผลิตของพืช 4 ชนิดมีแนวโน้มลดลง ได้แก่ ข้าวนาปี ข้าวนาปรัง ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ และยางพารา ส่วนอ้อยโรงงาน มันสำปะหลัง และปาล์มน้ำมัน กับมีแนวโน้มที่มีต้นทุนการผลิตเพิ่มขึ้น

ภาคเกษตรไทยในเงา "คสช."


ราคาผลผลิตในภาพรวมตกต่ำลง

แม้ว่ารัฐบาล คสช. จะพยายามอธิบายว่า รัฐบาลจะให้ความสำคัญกับการบริหารจัดการอุปสงค์และอุปทาน ผ่านมาตรการและโครงการต่างๆ เช่น การเกษตรแปลงใหญ่ กิจการประชารัฐเพื่อสังคม หรือการเชื่อมโยงระหว่างเกษตรกรกับผู้ประกอบการ เพื่อรักษาระดับราคาสินค้าเกษตร แต่ปรากฏว่าในช่วงปี 2557-2561 ดัชนีราคาผลผลิตการเกษตรในภาพรวมกลับตกต่ำลง (ภาพที่ 2) โดยตกต่ำมากที่สุดในปี 2561 ซึ่งต่ำกว่าปี 2556 (ซึ่งเป็นปีเปรียบเทียบ) ประมาณร้อยละ 15

ผลตอบแทนของเกษตรกรติดลบ

ความตกต่ำของราคาสินค้าเกษตรในภาพรวม เป็นผลให้ผลตอบแทนสุทธิของเกษตรกรที่ปลูกพืชสำคัญหลายชนิดถึงขึ้นติดลบในช่วงเวลา 4-5 ปีที่ผ่านมา โดยเฉพาะข้าวนาปีและยางพารา ซึ่งเป็นพืชที่มีคนปลูกมากที่สุดสองพืชแรก มีผลตอบแทนสุทธิติดลบตลอดช่วงปี 2557-2560 นอกจากนั้น ในปี 2560 จำนวนชนิดของพืชสำคัญที่มีผลตอบแทนสุทธิของพืชสำคัญกลับมีจำนวนชนิดมากขึ้นไปอีก โดยมีผลตอบแทนติดลบถึง 5 ชนิดจากทั้งหมด 7 ชนิด

เมื่อพิจารณาในแง่ภาพรวมของรายได้การเกษตร พบว่าดัชนีรายได้การเกษตรของไทยมีแนวโน้มลดลง โดยหากกำหนดให้รายได้เมื่อเดือน ม.ค. 2556 เป็นฐานที่ 100 ดัชนีรายได้เกษตรเคยลดลงต่ำสุดจนถึง 70.4 ในเดือน มี.ค. 2559 (หรือเท่ากับลดลงไป 30%) ก่อนที่จะเพิ่มขึ้น และลดต่ำลงอีกครั้งในปี 2561 โดยในเดือน ธ.ค. 2561 ดัชนีรายได้เกษตรมีค่าเท่ากับ 85.7 (หรือลดลงไป 14.3% เมื่อเปรียบเทียบกับเดือนฐาน (ภาพที่ 4))

ภาระค่าใช้จ่ายและภาระหนี้สินเพิ่มขึ้น

ข้อมูลจากรายงานการสำรวจภาวะเศรษฐกิจสังคมของครัวเรือน พ.ศ. 2560 แสดงให้เห็นว่า ภาระค่าใช้จ่ายต่อรายได้ของเกษตรกรที่เป็นเจ้าของที่ดิน เพิ่มขึ้นจาก 72.1% ของรายได้ ในปี 2556 เป็น 77.1% ในปี 2560 ส่วนภาระค่าใช้จ่ายต่อรายได้ของเกษตรกรที่เป็นผู้เช่าก็เพิ่มขึ้นจาก 67.0% เป็น 74.3% ในช่วงเวลาเดียวกัน

ในแง่หนี้สิน ภาระหนี้สินต่อรายได้ของเกษตรกรที่เป็นเจ้าของที่ดิน เพิ่มขึ้นจาก 5.5 เท่าของรายได้ต่อเดือน ในปี 2556 เป็น 7.8 เท่าของรายได้ต่อเดือน ในปี 2560 ส่วนเกษตรกรที่เป็นผู้เช่า ก็มีภาระหนี้สินต่อรายได้เพิ่มขึ้นจาก 6.8 เท่า ในปี 2556 เป็น 8.8 เท่าของรายได้ต่อเดือนในปี 2560 เช่นกัน ซึ่งนับว่าเป็นการเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วมากในช่วงเวลา 4 ปี

สรุป

กล่าวโดยสรุป แม้ว่ารัฐบาล คสช.จะพยายามออกแบบโมเดลในการพัฒนาภาคเกษตร โดยเฉพาะการบริหารจัดการอุปสงค์และอุปทาน แต่จากตัวเลขภาพรวมที่แสดงออกทำให้เห็นว่า ความพยายามดังกล่าวไม่ประสบความสำเร็จ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการบริหารจัดการราคา จนส่งผลเสียต่อรายได้และความเป็นอยู่ของพี่น้องเกษตรกรและภาคเกษตรไทยในที่สุด