posttoday

ภาพการเลือกตั้งที่เปลี่ยนไป

21 กุมภาพันธ์ 2562

วิธีการเลือกตั้งแบบใหม่ที่ถูกนำมาใช้ในครั้งนี้ คงไม่มีพรรคใดได้คะแนนนำสุดโต่งแต่ผู้เดียว แต่คะแนนจะเฉลี่ยกันไปให้พรรคขนาดกลางและเล็ก

วิธีการเลือกตั้งแบบใหม่ที่ถูกนำมาใช้ในครั้งนี้ คงไม่มีพรรคใดได้คะแนนนำสุดโต่งแต่ผู้เดียว แต่คะแนนจะเฉลี่ยกันไปให้พรรคขนาดกลางและเล็ก

**********************

โดย...ภุมรัตน ทักษาดิพงศ์ อดีตผู้อำนวยการสำนักข่าวกรองแห่งชาติ

หลังจากสมัครรับเลือกตั้งกันเรียบร้อยแล้ว ตั้งแต่นี้ไปก็เข้าโหมดการเมืองเต็มตัว การหาเสียงจะคึกคักกันอย่างที่สุด ใครมีกลยุทธ์ระดับเซียนใดๆ ก็งัดออกมาใช้กันได้อย่างเต็มที่ แต่อย่าให้หกล้มหัวคะมำแบบพรรคไทยรักษาชาติ (ทษช.) ที่เปิดตัวอย่างกระหยิ่มยิ้มย่องแบบจ๊อกกี้ที่นั่งอยู่บนม้าที่โด๊ปยาเต็มที่ วางแผนที่จะแซงหน้าตัวอื่นเข้าวิน แต่แล้วม้าล้มหัวทิ่ม จ๊อกกี้ตกม้าตายเอาดื้อๆ เจ้าของคอกวางแผนทุ่มเงินแทงม้าตัวนี้แบบสุดตัว จนไม่คิดแผนสำรอง ต้องมาปรับแผนกันให้วุ่นวายไปหมด

การเลือกตั้งวันที่ 24 มี.ค. 2562 จะดุเดือด เข้มข้น เพราะเป็นการเดิมพันครั้งสำคัญ สองฝ่ายแพ้ไม่ได้ รัฐบาลแพ้ไม่ได้ พรรคเพื่อไทยก็แพ้ไม่ได้ เพราะแต่ละฝ่ายต่างก็มีเดิมพันสูง ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับประชาชนว่าจะเลือกใคร เพราะผ่านไป 7 ปีแล้วที่ไม่มีการเลือกตั้ง ไม่รู้ว่าอารมณ์ของประชาชนจะคงที่หรือเปลี่ยนไปมากน้อยอย่างไร

วิธีการเลือกตั้งแบบใหม่คงไม่มีพรรคใดได้คะแนนนำสุดโต่งแต่ผู้เดียว แต่คะแนนจะเฉลี่ยกันไปให้กับพรรคขนาดกลางและเล็ก ผู้เชี่ยวชาญต่างชาติมองว่าเป็นเรื่องที่ดีสำหรับประเทศกำลังพัฒนา เช่น ไทย เพราะหากพรรคใดพรรคหนึ่งได้คะแนนมากเกินไปจนยึดอำนาจในสภาได้อย่างเบ็ดเสร็จ พรรคที่เหลือหรือไม่ได้คะแนนก็จะออกมาต่อสู้นอกสภาและอาจเกิดความรุนแรง แต่เมื่อคะแนนถูกจัดสรรปันส่วนผสมกันไป ทุกฝ่ายก็ไปต่อสู้กันในสภา มีอะไรก็ไปพูดกันในสภา การต่อสู้นอกสภาตามถนนหนทางแบบเก่าก็ไม่มีหรือลดน้อยลง

บรรดาผู้เชี่ยวชาญด้านการเมืองและการเลือกตั้งทั้งฝรั่งและคนไทยต่างงงไปตามๆ กัน สถานการณ์การเมืองไทยผกผันพอสมควร เพราะ “กฎกติกา” เปลี่ยนไป จำนวนผู้มีสิทธิออกเสียงเลือกตั้งจำนวนผู้สมัครรับเลือกตั้งมีมากขึ้น ไม่ใช่มีเฉพาะพรรคการเมือง นักการเมืองหน้าเก่าๆ ที่คนชักเบื่อหน้าเท่านั้น แต่ครั้งนี้มี “พรรคพลังประชารัฐ” ซึ่งเป็นตัวแทนของ คสช.เข้ามาแข่งด้วย โดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้รับการเสนอชื่อเป็นคู่แข่งชิงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี คู่แข่งนายกรัฐมนตรีมีมากขึ้นและสมน้ำสมเนื้อ พล.อ.ประยุทธ์ มีผลงานเด่นที่หลายอย่างพรรคการเมือง ทำไม่ได้ รูปแบบการหาเสียงก็เปลี่ยนไป เพราะมีสื่อโซเชียลกลายเป็นเครื่องมือหลัก จนมีการกล่าวกันว่า ใครคุมสื่อโซเชียลได้ก็เท่ากับมีโอกาสได้รับเลือกมากขึ้น ส่วนจะจริงหรือไม่อย่างไรอีกไม่นานคงรู้

อารมณ์ของคนเปลี่ยนไป ตรงนี้สำคัญมาก

การเลือกตั้งครั้งนี้เป็น “แบบจัดสรรปันส่วนผสม” เพื่อแก้ไขปัญหาที่ผ่านมา การเลือกตั้งครั้งก่อนๆ จริงอยู่ เราใช้บัตรสองใบ ใบหนึ่งเลือก สส.เขต อีกใบเลือก สส.บัญชีรายชื่อ “ผู้ชนะกวาดเรียบ” ส่วนคะแนนของผู้สมัครที่เหลือทั้งหมดถูกทิ้งตะกร้า แม้ว่าคนที่สองจะแพ้ไม่กี่คะแนนก็ตาม บางทีคนชนะได้คะแนนไม่ถึงครึ่งหนึ่งของผู้มีสิทธิออกเสียงเลือกตั้งในเขตนั้นด้วยซ้ำ บ่อยครั้งที่ประชาชนผู้มีสิทธิออกเสียงเลือกตั้งไม่พอใจผู้สมัครคนใดเลย ก็ไม่ไปใช้สิทธิเลือกตั้ง จึงมีการเสนอช่อง “โหวตโน” เพื่อจูงใจให้คนไปใช้สิทธิ หากไม่พอใจใครก็โหวตโน แต่สุดท้ายคะแนนของคนที่ไม่ได้รับเลือก แม้กระทั่งโหวตโน ถูกเททิ้งตะกร้าทั้งหมด

การเลือกตั้งครั้งสุดท้ายเมื่อวันที่ 2 ก.พ. 2557 ปรากฏว่ามีบัตรเสียถึงร้อยละ 12.05 และโหวตโนร้อยละ 16.57 โดยมีผู้ไปใช้สิทธิร้อยละ 46.79 เท่านั้น ครั้งนี้เป็นการเลือกตั้งแบบใหม่ที่เรียกว่า “จัดสรรปันส่วนผสม” ทุกคะแนนไม่ว่าจะได้ สส.เขตหรือไม่อย่างไร ก็ถูกนับเพื่อหาไปคำนวณหา สส.บัญชีรายชื่อ ซ้ำคะแนนโหวตโน นอกจากไม่ถูกทิ้งแล้ว ยังมีความหมาย เพราะหากคนที่ได้รับเลือกแต่คะแนนน้อยกว่าโหวตโนก็ต้องมีการเลือกตั้ง กันใหม่ ผู้สมัครที่เคยได้คะแนนน้อยกว่าโหวตโนไม่มีสิทธิลงสมัครรับเลือกตั้งอีก ขนาดคนเขาโหวตโนไม่เอาแล้วก็ไม่ควรหน้าด้านเสนอตัวเข้ามาสมัครรับเลือกตั้งครั้งใหม่อีก

การเลือกตั้งครั้งนี้ “ทุกคะแนนมีความหมาย” จะไม่มีการเทคะแนนทิ้งแม้แต่คะแนนเดียว ขอให้ผู้มีสิทธิออกไปใช้สิทธิเลือกตั้งก็แล้วกัน เมื่อเป็นครั้งแรกที่ใช้วิธีนี้ก็ย่อมมีความสับสนกันบ้าง แต่ไม่ยากที่จะเข้าใจ ถ้าเข้าใจแล้ว ประชาชนจะได้ประโยชน์มากกว่า แล้วเรามาดูว่า การเลือกตั้งครั้งนี้จะมีคนไปใช้สิทธิ กี่เปอร์เซ็นต์ มีบัตรเสีย มีบัตรโหวตโนกี่เปอร์เซ็นต์เมื่อเทียบกับครั้งก่อน

คราวนี้คนไทยที่มีสิทธิลงคะแนนต้องพิจารณารอบคอบกว่าครั้งก่อน เพราะต้องพิจารณาทั้งตัวผู้สมัครว่า มีความรู้ความสามารถและเป็นคนดีกว่าคนอื่นหรือไม่ ต้องพิจารณาพรรคการเมืองที่ผู้สมัครสังกัดอยู่ว่ามีนโยบายโดนใจเราหรือไม่ และต้องดูคนที่พรรคเสนอมาเป็นนายกรัฐมนตรีว่าเก่งพอที่จะนำชาติเดินไปข้างหน้าได้หรือไม่อย่างไร จึงตัดสินใจกาได้ในช่องเดียวใบเดียวเท่านั้น บางคนชอบใจผู้สมัครแต่ไม่พอใจพรรค หรือพอใจพรรคแต่ไม่ชอบผู้สมัคร หรือชอบทั้งพรรคและผู้สมัครแต่ไม่ชอบคนที่ถูกเสนอชื่อเป็นนายกรัฐมนตรี เลยไม่รู้จะตัดสินใจอย่างไร คนในกลุ่มนี้อาจตัดสินใจกา “โหวตโน” ไปเลย เพราะคราวนี้โหวตโนจึงมีความหมาย

บางคนอาจเป็น “แฟนพันธุ์แท้” พรรคเพื่อไทย ซึ่งมองว่าผู้สมัครและ ผู้ถูกเสนอชื่อเป็นนายกรัฐมนตรี จะเป็นใครไม่สำคัญ เขาจะกาให้ผู้สมัครพรรคเพื่อไทยเท่านั้น บางคนชอบลุงตู่ก็กาเบอร์ให้คนที่สมัครในพรรคพลังประชารัฐของลุงตู่ ชอบพรรคประชาธิปัตย์ หรือผู้สมัครพรรคนี้ ก็กาให้พรรคนี้

ก่อนจะจบบทความวันนี้ ขอใช้พื้นที่ที่เหลือประชาสัมพันธ์ว่า ตามที่หลายท่านได้ติดต่อมาว่าหนังสือเรื่อง “ไล่ล่าจารชน” ซึ่งหมดไปแล้ว จะพิมพ์ออกมาอีกเมื่อไร ขอเรียนว่า เวลานี้ผู้สนใจสามารถไปซื้อได้ที่ “ศูนย์หนังสือจุฬา” แห่งเดียว รายได้โดยไม่หักค่าใช้จ่ายจะนำไปใช้เพื่อการกุศลต่อไป รายได้ครั้งที่แล้ว 3 แสนบาท ได้นำไปมอบให้มูลนิธิชัยพัฒนาเรียบร้อยแล้ว ผู้ใดซื้อหนังสือนี้ก็เท่ากับทำบุญไปด้วย