posttoday

ฝุ่นไทย อย่าไฟไหม้ฟาง

19 กุมภาพันธ์ 2562

ขออย่าให้ปัญหาฝุ่นเป็นไฟไหม้ฟาง คือ มาเร็ว รุนแรง ตระหนก แล้วก็เงียบหายไป เหมือนเรื่องอื่นในสังคมไทย

ขออย่าให้ปัญหาฝุ่นพิษเป็นไฟไหม้ฟาง คือ มาเร็ว รุนแรง ตระหนก แล้วก็เงียบหายไป เหมือนเรื่องอื่นในสังคมไทย

********************

โดย...ศ.ดร.สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ ประธานสถาบันนวัตกรรมชุมชนอัจฉริยะ และอธิการบดี สจล.

วันเสาร์ที่ผ่านมา ผมขึ้นเวทีเสวนาเรื่องวิกฤตฝุ่นพิษ PM2.5 ที่วิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักร (วปอ.) ร่วมกับอธิบดีกรมควบคุมมลพิษ และอธิบดีกรมอนามัย รู้สึกดีใจมากที่เห็น “จุดเปลี่ยน” จากผู้ใหญ่ของบ้านเมือง ที่ให้ความสนใจเรื่องมลพิษทางอากาศของประเทศไทย โดยเฉพาะวิกฤตที่กำลังเกิดขึ้นในกรุงเทพฯ

จากมุมมองและประสบการณ์ของผู้ปฏิบัติงานภาครัฐ กรมควบคุมมลพิษแสดงถึงความจริงจังและความพยายามแก้ปัญหา ขณะที่ทางฝ่ายสาธารณสุขได้แสดงความห่วงใย และให้ข้อมูลชัดเจนว่า ฝุ่นละอองขนาดเล็กที่เกิดขึ้นเป็นอันตรายมาก สร้างความเสี่ยงให้เกิดโรคหลอดเลือด โรคปอด และโรคมะเร็งมากขึ้นจริง คนไทยหลายกลุ่ม ทั้งสตรีมีครรภ์ เด็ก ผู้สูงอายุ และคนทำงานในสภาพแวดล้อมฝุ่นพิษ จะมีความเสี่ยงรุนแรงจริง เราจึงต้องช่วยกันแก้ปัญหานี้กันจริงจัง

ยิ่งมีหลักฐานชัดเจนว่าเด็กเล็กในกรุงเทพฯ เป็นโรคภูมิแพ้มากกว่าเมื่อก่อน ข้อแนะนำของกรมอนามัย คือ ต้องพยายามไม่ไปรับฝุ่นพิษนี้ ซึ่งในความเป็นจริงมันยากเหลือเกิน เพราะคนกรุงเทพฯ ต้องออกนอกบ้านทำมาหากิน เด็กต้องไปเรียนหนังสือ ชอบวิ่งเล่นกลางแจ้งตามวัย ผู้สูงอายุหลายคนยังต้องกระเสือกกระสนทำงานกลางแจ้ง

แต่เนื่องจากการแก้ปัญหาฝุ่นพิษเป็นหน้าที่ของหลายหน่วยงาน จึงอาจเกิดปัญหาต่างคนต่างทำ ต่างคนต่างอำนาจรับผิดชอบ ต่างคนต่างคิด ต่างหาวิธี ไม่สอดคล้องกัน ซึ่งการจัดการกับวิกฤตฝุ่นพิษกรุงเทพฯ จำเป็นต้องได้รับความร่วมมืออย่างแนบแน่นจากทั้ง 1.กทม. 2.กรมโรงงานอุตสาหกรรม 3.กรมควบคุมมลพิษ 4.ตำรวจ 5.ขสมก. 6.กรมการขนส่งทางบก และหน่วยงานอื่นๆ ถึงจะแก้วิกฤตฝุ่นพิษได้เบ็ดเสร็จ

ภาควิชาการ ก็ต้องออกแรง ออกความรู้ สร้างความเข้าใจที่ถูกต้อง ให้พลเมือง “ตระหนักถึงความเสี่ยง” จะได้ป้องกันตนเอง ซึ่งสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง โดยสำนักวิจัยนวัตกรรมเมืองอัจฉริยะ (SCiRA) ร่วมกับสถานีวิทยุ จส.100 ได้ออกตรวจวัดฝุ่นพิษใน 4 พื้นที่สำคัญใจกลางกรุงเทพฯ คือ 1.สี่แยกพญาไท 2.สยามสแควร์ 3.ถนนสีลม 4.สะพานควาย เพื่อพิสูจน์หาความจริง

ผลพิสูจน์ชัดเจน ที่คนกรุงเทพฯ ต้องรู้ คือ

1.ฝุ่น PM2.5 ในกรุงเทพฯ ส่วนสำคัญเกิดขึ้นจากรถยนต์ โดยเฉพาะรถบรรทุก และรถสาธารณะที่ใช้เครื่องยนต์ดีเซล จะเป็นแหล่งเกิดฝุ่นมากกว่ารถชนิดอื่น

2.ความหนาแน่นของฝุ่นจะแตกต่างกันในแต่ละจุด แม้ห่างกันไม่กี่สิบเมตรก็ตาม ซึ่งปริมาณฝุ่นอาจแตกต่างกันหลายเท่า

3.จุดเสี่ยงฝุ่นของคนกรุงเทพฯ มากที่สุด คือ บริเวณป้ายรถเมล์ โดยเฉพาะในพื้นที่อับลม เช่น บริเวณที่ถนนแคบ หรือบริเวณใต้สถานีรถไฟฟ้า

4.ลมช่วยลดความหนาแน่นของฝุ่นได้ดีที่สุด เพราะเมื่อมีลมพัดมา ปริมาณฝุ่นจะกระจาย ไม่กระจุก ความเข้มข้นฝุ่นในพื้นที่นั้นจะลดลงทันที

5.การฉีดพ่นละอองน้ำเล็กๆ พอช่วยได้ แต่ต้องทำในจุดที่ใกล้แหล่งกำเนิดฝุ่น เช่น พื้นที่ก่อสร้าง ป้ายรถเมล์ พื้นที่อาคารที่มีรถยนต์ผ่านหนาแน่น ถึงจะได้ผลดีกว่า และเมื่อฉีดพ่นน้ำแล้ว ก็ต้องทำความสะอาดพื้น ไม่เช่นนั้น พอน้ำแห้ง ฝุ่นก็ลอยคลุ้งขึ้นมาเหมือนเดิม

6.ไม่แปลกแล้ว ที่คนกรุงเทพฯ ควรมีผ้าปิดจมูก หรือหน้ากากกันฝุ่นติดตัว ต้องใช้ทุกครั้งเมื่อเดินทางผ่านจุดเสี่ยง ดังนั้นความรู้และข้อมูลที่ได้จากการตรวจวัดฝุ่นครั้งนี้ ก็เพื่อนำเสนอหาหนทางสู่การแก้ปัญหาทั้งระยะสั้นและระยะยาวได้

แต่ที่น่าห่วงที่สุด เมื่อลมเปลี่ยนฤดูมาแล้ว วิกฤตฝุ่นพิษ “โดยรวมจะดีขึ้น” แต่ “โดยพื้นที่เสี่ยง ก็ยังคงอันตรายเหมือนเดิม” หากยังไม่ลงมือแก้ปัญหาในจุดเสี่ยงจริงๆ ก็ถือเป็นกรรมของคนกรุงเทพฯ ที่ต้องรับสภาพนี้

ขออย่าให้เป็น ฝุ่นไทย ไฟไหม้ฟาง คือ มาเร็ว รุนแรง ตระหนก แล้วก็เงียบหายไป เหมือนเรื่องอื่นในสังคมไทยเลยครับ