posttoday

หลังม่านบลูเฮาส์

10 กุมภาพันธ์ 2562

หลังเปิดตัวในปี 2017 และได้รางวัลการอนุรักษ์จาก UNESCOประเภทสูงสุดในปีเดียวกันนั้น กลุ่มตึกแถวโบราณที่ถูกเรียกรวมกันว่า “บลูเฮาส์” กลายมาเป็นแลนด์มาร์คของย่าน หว่านจ๋าย

หลังเปิดตัวในปี 2017 และได้รางวัลการอนุรักษ์จาก UNESCOประเภทสูงสุดในปีเดียวกันนั้น กลุ่มตึกแถวโบราณที่ถูกเรียกรวมกันว่า “บลูเฮาส์” กลายมาเป็นแลนด์มาร์คของย่าน หว่านจ๋าย

***************************

โดย...อาทิตย์ โกวิทวรางกูร [email protected] เครือข่ายมักกะสัน

หลังเปิดตัวในปี 2017 และได้รางวัลการอนุรักษ์จาก UNESCOประเภทสูงสุดในปีเดียวกันนั้น กลุ่มตึกแถวโบราณสีน้ำเงิน เหลือง และส้ม ที่ถูกเรียกรวมกันว่า “บลูเฮาส์” กลายมาเป็นแลนด์มาร์คของย่าน (ที่เดิมก็เป็นอยู่แล้ว คราวนี้ดังขึ้นไปอีก)

และเป็นตัวอย่างที่พร้อมให้เราไปสัมผัสและเรียนรู้ “การผสมผสานอนุรักษ์และพัฒนาโดยเอาคนเป็นศูนย์กลาง”อย่างลงตัว

ทว่ากว่าจะเดินทางมาสู่จุดนี้ได้บลูเฮาส์ได้ผ่านร้อนหนาว และการต่อสู้ทางสังคมมาอย่างน่าสนใจ

เรื่องราวของกลุ่มอาคารนี้ สืบย้อนกลับไปได้กว่า 150 ปี (ค.ศ. 1867 หรือ พ.ศ. 2410) ... ในเมืองไทยคือปลายสมัยรัชกาลที่ 4 ...ในฮ่องกงคือราว 20 กว่าปี ที่อังกฤษได้เข้ามาปกครอง หลังจากที่จีนพ่ายแพ้สงครามฝิ่น

ทำเลที่ตั้งของบลูเฮาส์อยู่บนผืนที่ดินแท้ (ไม่ใช่ที่ดินถม ซึ่งเป็นลักษณะเฉพาะของฮ่องกง ที่อาศัยการถมทะเล เพื่อเป็นการเพิ่มพื้นที่ใช้สอย) ในย่านหว่านจ๋าย (Wan Chai) ซึ่งเป็นย่านที่อยู่อาศัยของคนจีนมาตั้งแต่ยุคแรกเริ่ม

ก่อนจะมาเป็นอาคารหน้าตาแบบที่เราเห็นในทุกวันนี้ (ซึ่งสร้างขึ้นในปี ค.ศ. 1922 หรือ พ.ศ. 2465 ปลายสมัยรัชกาลที่ 6 ในบ้านเรา) เคยเป็นอาคารแบบอื่นมาก่อน และผ่านการใช้งานที่หลากหลาย เคยเป็นโรงพยาบาลในชุมชน เป็นศาลเจ้า หลังจากขึ้นตึกแถวแบบล่าสุด ก็เคยเป็นโรงเรียน เป็นสมาคมผู้ค้าปลาสด เป็นคลินิกจัดกระดูก (ซึ่งปัจจุบันนี้ยังเปิดอยู่ ณ ชั้นล่าง ห้องหัวมุมแรกของอาคาร เปิดทำการมากว่า 40 ปี) เป็นร้านขายเหล้า เป็นที่พักอาศัยของผู้คนในย่าน

1997 (2540) ปีที่ฮ่องกง เปลี่ยนมือจากอังกฤษคืนสู่จีนแผ่นดินใหญ่ เป็นปีที่ตึกแถวโบราณกลุ่มนี้ถูกทาสีน้ำเงิน จนกลายเป็นภาพจำจนทุกวันนี้ (ทั้งที่มันไม่เป็นมงคล เป็นสีงานศพ แต่ตอนนั้นเป็นสีเดียวที่เหลือ!)

2000 (2543) ได้ถูกจัดเกรดและประกาศเป็นอาคารอนุรักษ์

2006 (2549) มีการเสนอแผนพัฒนาบลูเฮาส์เป็นแหล่งท่องเที่ยว ในธีมของแพทย์แผนจีนและชา โดย Hong Kong Housing Society (ผู้พัฒนา Public Housing อันดับ 2 ของฮ่องกง) ร่วมกับ Urban Renewal Authority (URA) โดยจะย้ายผู้อยู่อาศัยและผู้เช่าเดิมออกให้หมด

URA เป็นหน่วยงานที่ชื่อฟังดูดี แต่ทำในสิ่งที่เป็นประเด็นขัดแย้งมากมายในสังคมฮ่องกง เพราะขึ้นชื่อในการทุบทำลายชุมชนเก่าต่างๆ และแปลงสภาพเป็นที่พักอาศัยแพงๆ ห้างร้านหรูๆ (ซึ่งแม้ชื่อจะพ้องกับ URA : Urban Redevelopment Authority หน่วยงานด้านการวางผังเมือง การใช้ที่ดิน และการอนุรักษ์ของสิงคโปร์ แต่ทำหน้าที่ต่างกันเป็นคนละเรื่อง!)

นั่นเป็นชนวนที่จุดให้เกิดการรวมตัวกันของผู้เกี่ยวข้องหลากหลายสาขาอาชีพ กับกลุ่มผู้อยู่อาศัยเดิมของบลูเฮาส์ ในการเคลื่อนไหวคัดค้าน ระดมสมอง จนนำไปสู่การนำเสนอแผนอีกทางเลือกหนึ่ง (Counterproposal) หลักการสำคัญ คือ การอนุรักษ์และพัฒนา ทั้ง “อาคาร” และ “ผู้คน”

อันที่จริงการเคลื่อนไหวของชุมชนและผู้คนองค์กรที่หลากหลาย ได้เกิดขึ้นก่อนการนำเสนอแผนพัฒนาบลูเฮาส์ในปี 2006 มาระยะหนึ่งแล้ว

โดยตั้งแต่ปี 2000 เป็นต้นมา ย่านหว่านจ๋ายได้เผชิญกับโครงการพัฒนาที่ต้องทุบทำลายชุมชนมากมาย จึงเกิดการขยับของคนที่ทำงานภาคสังคม อาสาสมัคร รวมทั้งผู้อยู่อาศัยในบลูเฮาส์รวมตัวกัน เพื่อทำอะไรสักอย่างที่จะรักษาเครือข่ายสังคมของชุมชน และบอกเล่าเรื่องราวของย่านหว่านจ๋าย จนได้บทสรุปขั้นแรกว่าจะทำ “นิทรรศการเพื่อคนธรรมดาทั่วไป” (an exhibition for the common people)

คำถามในตอนนั้นคือ “ท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงรวดเร็วในย่านของเรา เราสามารถทำอะไรได้บ้าง เพื่อเก็บรักษาวัฒนธรรมท้องถิ่น เผื่อเอาไว้ให้คนรุ่นต่อไปได้เรียนรู้จากเรื่องราวในอดีต เพื่อให้ตัดสินใจอะไรๆ ด้ดียิ่งขึ้น ในการกำหนดอนาคตของพวกเขาเอง”

คนกลุ่มนี้ ตั้งชื่อเรียกสิ่งที่พวกทำว่า Wanchai Livelihood Place พวกเขารวมตัวกันในปี 2004 เริ่มต้นพบปะพูดคุย ระดมสมอง ปี 2005-2006 ได้ที่ทำการของกลุ่ม ณ ชั้น 7 ของ St. James’ Settlement องค์กรเพื่อสังคมที่เกิดและโตขึ้นในซอยเดียวกันกับบลูเฮาส์ (ที่ต่อมาได้กลายเป็นองค์กรเจ้าภาพ ในการยื่นโครงการร่วมกับอีกหลาย
หน่วยงาน และผู้พักอาศัยในบลูเฮาส์ จนสำเร็จอย่างที่เห็นในทุกวันนี้) ในระหว่างนั้นยังไม่มีที่จัดนิทรรศการประจำ จึงใช้การออกไปจัดตามท้องถนน และสถานที่ต่างๆ ในย่าน

ดังนั้น เมื่อเกิดโครงการพัฒนาบลูเฮาส์ให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวขึ้นในปี 2006 คนกลุ่มนี้จึงได้กลายมาเป็นกำลังสำคัญในการคัดค้าน และร่วมสร้างทางเลือกอื่นที่ดีกว่า

ทันที่แผนซึ่งพวกเขาไม่เห็นด้วยออกมา แคมเปญเพื่อการอนุรักษ์บลูเฮาส์ ในนามของ Re-Constructing Blue House ก็เกิดขึ้น มีการประชุมและจัดงานศิลปะชุมชน โดยการร่วมมือกันระหว่างคณะทำงานด้านการอนุรักษ์มรดกและกิจกรรมสันทนาการ คณะกรรมการวัฒนธรรมและสันทนาการภายใต้สภาย่านหว่านจ๋าย และ St. James’ Settlement

ไม่กี่วันต่อมา ได้มีการเริ่มทำวิจัยเชิงคุณภาพในชุมชน มีการประชุมผู้อยู่อาศัย 6 ครั้ง เยี่ยมบ้าน 44 ครั้ง โฟกัสกรุ๊ป 8 ครั้ง และสัมภาษณ์ 9 ครั้ง ... ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องที่หลากหลาย เช่น สมาชิกสภาฮ่องกง องค์กรวิชาชีพ สถาบันการศึกษาผู้อยู่อาศัยเดิม ตัวแทนร้านค้า และกลุ่มอื่นๆ ได้ถูกเชิญให้มาร่วมอภิปรายเกี่ยวกับความเป็นไปได้ในแนวทางการอนุรักษ์โดยชุมชน (Community-Based Preservation)

หลังจากนั้น ก็มีการจัดประชุมเพื่อระดมสมองอย่างต่อเนื่อง แต่อันที่สำคัญที่สุดน่าจะเป็นเวิร์กช็อปเพื่อสร้างข้อสรุปร่วม (Consensus Building Workshop) ซึ่งผลสรุปที่ได้ออกมาเป็น Community Consensus Proposal ถูกส่งไปยังสภาย่าน (District Council) และหน่วยงานที่เป็นผู้เสนอแผนแรก

ถึงกระนั้น แผนเดิมของโครงการก็ยังถูกดำเนินการต่อไป จนถึงขั้นตอนการรับฟังความคิดเห็นของ Town Planning Board ครั้งแรก ปลายปี 2006 และครั้งที่ 2 ต้นปี 2007 ซึ่งผู้คนในย่านได้เข้าร่วมเสนอความเห็นคัดค้านกว่า 50 คน

จุดเปลี่ยนสำคัญเกิดขึ้น เมื่อคณะทำงานของบลูเฮาส์ได้มีการพบปะและแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเกี่ยวกับความเป็นไปได้ในแนวทางการเก็บรักษาทั้งอาคารและผู้คน(Retainingboth the residents and the buildings) กับ Carrie Lam (ปัจจุบันเป็น Chief Executive ของฮ่องกง) ตำแหน่งในขณะนั้นคือ Secretary for Development ของ Development Bureau ในเดือน ต.ค. 2007 จนในที่สุดสามารถบรรลุข้อสรุปร่วมกัน ในหลักการอนุรักษ์ทั้งอาคารและผู้คนได้ก่อนสิ้นปีนั้น

เรื่องราวการเคลื่อนไหวต่อสู้ และกระบวนการทางสังคมอันเข้มข้น ในช่วงเกือบสองปี นับตั้งแต่มีการเสนอแผนพัฒนาฉบับแรกที่จะไล่คนออกไป จนถึงข้อสรุปในการอนุรักษ์และพัฒนาที่จะรักษาทั้งอาคารและผู้คน ถือเป็นการหันหัวเรือของบลูเฮาส์ไปในทิศทางที่ถูกต้อง...และท้าทาย

เพราะเป็นโปรเจกต์แรกของฮ่องกงที่ใช้หลักการนี้

เรื่องราวต่อจากนั้น ไม่ง่าย และมีดีเทล

ขอพักครึ่งตรงนี้ก่อนครับ