posttoday

ปปช.กับนาฬิกาของ ปัฐวาท สุขศรีวงศ์

05 กุมภาพันธ์ 2562

กรรมการ ป.ป.ช.เสียงส่วนใหญ่ มองว่า "ปัฐวาท" เป็นผู้มีฐานะดีพอที่จะเป็นเจ้าของนาฬิการาคาแพงเหล่านี้ได้ เมื่อไปตรวจที่บ้านก็พบนาฬิกาเป็นร้อยๆ เรือน รวมทั้งนาฬิกาเจ้าปัญหา

กรรมการ ป.ป.ช.เสียงส่วนใหญ่ มองว่า "ปัฐวาท" เป็นผู้มีฐานะดีพอที่จะเป็นเจ้าของนาฬิการาคาแพงเหล่านี้ได้ เมื่อไปตรวจที่บ้านก็พบนาฬิกาเป็นร้อยๆ เรือน รวมทั้งนาฬิกาเจ้าปัญหา

***********************

โดย...ศ.ดร.เมธี ครองแก้ว คณะพัฒนาการเศรษฐกิจ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) www.econ.nida.ac.th

ผลการพิจารณาคดีแจ้งบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินอันเป็นเท็จ หรือปกปิดข้อเท็จจริงเกี่ยวกับทรัพย์สินและหนี้สินอันควรแจ้งให้ทราบของ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ ในฐานะรองนายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม ต่อ ป.ป.ช. ซึ่งใช้เวลาพิจารณาเกือบ 1 ปี และในที่สุดก็ได้ผลการพิจารณาออกมาด้วยเสียงส่วนใหญ่ 5 ต่อ 3 ว่า นาฬิกาทั้ง 21 หรือ 22 เรือน ที่เป็นประเด็นปัญหานี้ คณะกรรมการ ป.ป.ช.เชื่อว่าเป็นของ ปัฐวาท สุขศรีวงศ์ ไม่ใช่ของ พล.อ.ประวิตร เพราะฉะนั้นจึงมิใช่ความผิดที่ไม่ได้แจ้งในบัญชีทรัพย์สินและหนี้สิน และมีมติให้ยุติเรื่อง

ผลการพิจารณานี้ สร้างความฉงนสงสัยให้แก่ผู้ที่ติดตามเรื่องนี้อย่างใจจดใจจ่อเป็นจำนวนมาก รวมทั้งตัวผู้เขียนด้วย

แต่ในฐานะที่ตัวเองเคยเป็นกรรมการ ป.ป.ช.คนหนึ่งมาก่อน ผู้เขียนเชื่อว่า กรรมการทุกท่านใช้ดุลพินิจอย่างเป็นอิสระและปราศจากการชี้นำหรือบังคับขู่เข็ญจากผู้ใดทั้งสิ้น แต่ที่ผู้เขียนแปลกใจ (จากประสบการณ์ของตัวเองในการพิจารณาคดีแต่ละคดี) ก็คือ กรรมการทั้ง 8 ท่าน มีความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันในการตั้งโจทย์ของคดีนี้ คือ การพิจารณาว่าใครมีหลักฐานเป็นเจ้าของหรือมีกรรมสิทธิ์ในนาฬิกาทั้ง 21 หรือ 22 เรือนนี้ แม้แต่กรรมการเสียงข้างน้อย 3 เสียง (เท่าที่ปรากฏตามข่าว) ก็ไม่ได้เห็นต่างในประเด็นอื่น เพียงแต่เห็นว่าข้อมูลที่ได้เกี่ยวกับหลักฐานการเป็นเจ้าของยังไม่สมบูรณ์ ควรจะแสวงหาต่อไป ในขณะโดยปกติการทำงานในบรรยากาศของความมีอิสระและเป็นตัวของตัวเองอย่างเต็มที่ของกรรมการทั้ง 9 คน จะมีความหลากหลายในมุมมองของแต่ละคนเป็นอย่างมาก เป็นการยากมากที่ในคดีที่มีความอ่อนไหวอย่างเช่นคดีนี้ กรรมการทั้ง 8 ท่าน จะไม่ตั้งโจทย์ของคดีเป็นอย่างอื่นเลย

ในทัศนะของผู้เขียนเอง การตั้งโจทย์หรือประเด็นการพิสูจน์ความเป็นเจ้าของอย่างเป็นทางการของนาฬิกาทั้งหมด 21 หรือ 22 เรือนที่ ป.ป.ช.ดำเนินการไปแล้วนี้ คือ การรับภาระการพิสูจน์ (Burden of Proof) มาเป็นของตัวเอง เสมือนเป็นการสร้างเงื่อนไขให้ตัวเองต้อง “จนมุม” ตั้งแต่ต้น เพราะในภาพรวมแล้ว ป.ป.ช.มีความสันทัดจัดเจนในเชิงรุกในการต่างประเทศน้อย ซึ่งจะเห็นได้จากการไต่สวนคดีต่างๆ ที่เป็นการทุจริตข้ามชาติ ที่ไม่ค่อยเห็นผล ยิ่งถ้าเป็นการเอาข้อมูลจากบริษัทเอกชนด้วยแล้ว โอกาสที่จะได้รับความร่วมมือก็ยิ่งน้อยลงไปใหญ่ เพราะบริษัทเอกชน ผู้ผลิตนาฬิกาเหล่านี้ มิได้อยู่ใต้ภาระความผูกพันทางการทูตหรือทางการเมืองที่จะต้องทำตามความต้องการของ ป.ป.ช.แต่อย่างใด ซึ่งก็เป็นเช่นนั้นจริงๆ เมื่อบริษัทผู้ผลิตนาฬิกาเหล่านี้ต่างก็ปฏิเสธที่จะให้ข้อมูลหรือข้อเท็จจริงประการใดที่จะเป็นประโยชน์ต่อการทำงานของ ป.ป.ช. และในที่สุด ป.ป.ช.ก็คว้าน้ำเหลว ไม่สามารถมีหลักฐานเป็นชิ้นเป็นอันที่จะพิสูจน์ความเป็นเจ้าของนาฬิกาทั้ง 20 กว่าเรือนนี้ของ ปัฐวาท (หรือ พล.อ.ประวิตร) แต่อย่างใด

แต่ถึงจะไม่มีหลักฐานชัดเจนว่านาฬิกาเหล่านี้เป็นของ ปัฐวาท กรรมการ ป.ป.ช.เสียงส่วนใหญ่ ก็ไม่ถือว่าเป็นเหตุผลสำคัญที่จะปฏิเสธความเป็นเจ้าของของปัฐวาท ในทางตรงกันข้าม กรรมการ ป.ป.ช.เสียงส่วนใหญ่ ยังมองว่า ปัฐวาท (ผู้ซึ่งเสียชีวิตไปแล้วตั้งแต่เมื่อต้นปี 2560) เป็นผู้มีฐานะดีพอที่จะเป็นเจ้าของนาฬิการาคาแพงเหล่านี้ได้ เพราะตอนที่เจ้าหน้าที่ ป.ป.ช.เดินทางไปตรวจสอบนาฬิกาต่างๆ ที่บ้านของปัฐวาทนั้น ได้เห็นนาฬิกาเป็นร้อยๆ เรือน รวมทั้งนาฬิกาเจ้าปัญหา 21 หรือ 22 เรือนที่อยู่ในคดีด้วย

จึงคงเป็น เหตุผลสำคัญที่ทำให้กรรมการ ป.ป.ช.เสียงส่วนใหญ่ เห็นด้วยกับข้อสรุปที่ว่า ปัฐวาทเป็นเจ้าของนาฬิกาเหล่านี้จริง ดังนั้น เมื่อเป็นเช่นนี้ ก็ไม่มีประเด็นต้องพิจารณาต่อ

แต่แทนที่จะพุ่งเป้าไปที่หลักฐานความเป็นเจ้าของโดยดูจากเอกสารแสดงสิทธิ (ใบเสร็จรับเงิน ใบลงทะเบียน เอกสารการครอบครอง หรือลักษณะการยืนยันการครอบครองอื่นๆ) กรรมการ ป.ป.ช.อาจจะเลือกพิจารณาความเป็นเจ้าของจากการใช้หรือลักษณะการใช้สิ่งของหรือทรัพย์นั้นๆ ตามความเป็นจริงก็น่าจะได้ สมมติว่ามีการยืมสิ่งของกันระหว่างบุคคล 2 คน เจ้าของสิ่งของตายไปแล้ว แต่คนยืมก็ยังไม่ได้คืนสิ่งของ และยังใช้สิ่งของนั้นอยู่เรื่อยๆ ไม่ใช่ชิ้นเดียว หรือสองชิ้น แต่หลายสิบชิ้น อยู่ในครอบครองตลอดเวลาอย่างนี้จะถือว่า เจ้าของไม่ประสงค์จะได้สิ่งของนั้นคืนแล้วได้หรือไม่? หรือผู้ใช้หรือผู้ยืมจะแสดงตนเป็นเจ้าของหรือผู้มีสิทธิใช้สิ่งของชิ้นนั้นโดยชอบธรรมหรือโดยถูกต้องได้หรือไม่?

ประเด็นนี้เป็นประเด็นทางกฎหมายที่ไม่ใช่เรื่องเหลวไหลไร้สาระ (Trivial Matter) เพราะในกฎหมายไทยในปัจจุบัน การได้เป็นเจ้าของโดยการครอบครองปรปักษ์เพราะเจ้าของตัวจริงไม่ได้ใส่ใจแสดงตัวเป็นเจ้าของ หรือประสงค์ที่จะใช้ประโยชน์สิ่งของหรือทรัพย์สินของตนก็ยังมีอยู่ หรือแม้ในหลักกฎหมายทั่วไป ผู้มีสิทธิใช้หรือหาประโยชน์จากสิ่งของหรือทรัพย์สิน (Usufructuary) อาจกลายมาเป็นเจ้าของคนใหม่ได้ หากเจ้าของคนเดิมตายไปเสียก่อนโดยไม่ได้เรียกทรัพย์สินนั้นคืน

อย่างไรก็ตาม แนวปฏิบัติในเรื่องคล้ายๆ กันแบบนี้ที่ ป.ป.ช.ได้ถือปฏิบัติอยู่ในปัจจุบัน คือ หลักการพิจารณาสถานภาพของสามี/ภรรยา ในการยื่นบัญชีทรัพย์สิน แต่ก่อนนี้ ป.ป.ช.จะตีความอย่างเคร่งครัดเกี่ยวกับสถานภาพของการสมรสว่า ถ้าไม่ได้จดทะเบียนกัน ก็จะไม่ถือว่าเป็นสามี/ภรรยา หรือคู่สมรส และไม่ต้องแจ้งทรัพย์สินของอีกคนหนึ่ง แต่ในปัจจุบัน ระเบียบปฏิบัตินี้เปลี่ยนไป คือ ถึงแม้ไม่ได้จดทะเบียนสมรสกันโดยนิตินัย แต่อยู่ด้วยกันโดยพฤตินัย ป.ป.ช.ก็จะถือว่าเป็นสามี/ภรรยากัน และต้องยื่นรายการทรัพย์สินของทั้งสองคน แสดงว่า ป.ป.ช.ยึดหลักข้อเท็จจริงตามพฤตินัย (Defacto) มากกว่าหลักฐานข้อเท็จจริงตามกฎหมาย (Dejure) ซึ่งเป็นเรื่องที่ถูกต้องในปัจจุบัน และยากนักที่จะมีผู้
ไม่เห็นด้วย

โดยตรรกะเดียวกัน คนที่เป็นเจ้าของแต่ไม่ได้ครอบครองหรือใช้ อาจจะเสียสิทธิความเป็นเจ้าของต่อผู้ครอบครองและใช้ตามปกติได้ ป.ป.ช.เองก็ใช้ตรรกะอันเดียวกันนี้กับกรณีรถยนต์คันหนึ่งของ สุพจน์ ทรัพย์ล้อม อดีตปลัดกระทรวงคมนาคม มาแล้ว กล่าวคือถึงเจ้าของจริงๆ จะเป็นอีกคนหนึ่ง แต่คนใช้จริงๆ ตามปกติคือสุพจน์ โดยปราศจากข้อสงสัย คณะกรรมการ ป.ป.ช.ก็มีวินิจฉัยว่ารถยนต์คันนั้นเป็นของสุพจน์ ในเมื่อไม่ได้ระบุหรือแสดงในบัญชีทรัพย์สิน ก็คือว่าจงใจปกปิด และมีความผิด และถูกยึดรถในที่สุด ความแตกต่างที่สำคัญคือเราจะยึดหลักอะไรกันแน่?

ในเมื่อเรื่องมาถึงตรงนี้แล้วโดย ป.ป.ช.ใช้วิธีคิดดังที่ได้ทำไป และดำเนินการอย่างตรงไปตรงมา ก็ต้องถือว่าจบ จะไปถือโทษเอาผิดกับกรรมการ ป.ป.ช.ทั้ง 5 คน (หรือทั้ง 8 คน) ก็คงไม่ได้ ส่วนจะยื่นเรื่องให้ถอดถอนเพราะทำงานไม่เต็มที่ (Incompetence) ก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง ซึ่งไม่เคยมีตัวอย่างให้เห็น แต่ที่แน่ๆ ก็คือตัว พล.อ.ประวิตร คงอดใช้นาฬิกาหรูๆ เหมือนแต่ก่อนอีกต่อไป เพราะถ้าขืนไปใช้เข้า ถึงแม้จะเป็นของตัวเองซื้อมาจริงๆ ผู้คนก็คงซักไซ้ไล่เลียงไม่จบไม่สิ้น แต่วิบากกรรมอันนี้ก็น่าจะถือได้ว่าดีกว่าโดน ป.ป.ช.ชี้มูล ปกปิดบัญชีทรัพย์สินแน่นอน!