posttoday

คุมค่ายา-เวชภัณฑ์ รพ.เอกชน ใครได้-เสีย

25 มกราคม 2562

คุมค่ายา-เวชภัณฑ์ รพ.เอกชน ใครได้-เสีย

คุมค่ายา-เวชภัณฑ์ รพ.เอกชน ใครได้-เสีย

****************************************************************************************************************************

โดย....อุเทน ชาติภิญโญ อดีตหัวหน้าพรรคคนไทย

ส่วนตัวผมในฐานะผู้ใช้บริการ โรงพยาบาลเอกชนมาโดยตลอด ยิ่งช่วงเป็น สว. สูงวัยมานี้ กลายเป็นขาประจำที่ต้องเข้าไปตรวจร่างกาย รักษาพยาบาลแบบถี่ยิบ เข้าออกโรงหมอเดือนละหลายหน จนบางครั้งต้องขอสารภาพตามความจริงว่า หากมีอะไรๆ ที่ทำให้เสียค่าใช้จ่ายน้อยลงก็คงจะดีไม่น้อย

ไม่แปลกที่ผมจะยินดี เมื่อเห็นข่าวที่ว่าคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเพิ่มยา เวชภัณฑ์ บริการรักษาพยาบาล บริการทางการแพทย์ และบริการอื่นๆ ของสถานพยาบาลเข้าไปอยู่ในบัญชี รายการสินค้าและบริการควบคุม ตามที่กระทรวงพาณิชย์ โดยคณะกรรมการว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ (กกร.) เสนอ นั่นเท่ากับว่าค่าใช้จ่ายเวลาไปโรงพยาบาลของผม ที่รวมค่ายา ค่าเวชภัณฑ์ ค่าบริการรักษาพยาบาล ที่เคยจ่ายๆ อยู่คงลดลงไม่มากก็น้อย

อย่างไรก็ดี ด้วยความสงสัยใคร่รู้ และอยากจะทราบว่าเราจะได้รับประโยชน์จากแนวนโยบายของกระทรวงพาณิชย์มากน้อยเพียงใด ก็เลยมีโอกาสได้พูดคุยแลกเปลี่ยนทัศนะกับเพื่อนพ้องน้องพี่ อดีตเพื่อนร่วมสถาบันการศึกษา ที่วันนี้หลายคนเติบใหญ่เป็นบุคลากรทางการแพทย์ที่มีคุณภาพ เป็นหมอที่มีชื่อเสียงระดับประเทศ

ปรากฏว่าส่วนใหญ่เกือบทั้งหมดต่างส่ายหัวกับท่าทีของกระทรวงพาณิชย์ ทีแรกก็นึกว่าแค่คุณหมอในภาคเอกชนที่เกรงว่าจะกระทบผลประกอบการของโรงพยาบาลที่ตัวเองสังกัดเท่านั้น ยังมีคุณหมออีกหลายคนในภาครัฐที่ไม่เห็นด้วย

เรื่องหนึ่งที่ต่างเห็นตรงกันก็คือ เป็นไปไม่ได้ และทำได้ยาก แน่นอนเป็นเรื่องที่ดีในการกำกับดูแลค่าครองชีพ ค่าใช้จ่ายในการดำรงชีพของประชาชนให้ถูกลง แต่ในทางปฏิบัติรายละเอียดปลีกย่อยมีมากมาย โดยเฉพาะข้อกฎหมายที่กำกับสถานพยาบาลเอกชน และที่กำกับสถานพยาบาลของรัฐนั้นเป็นคนละฉบับ

ในฐานะประชาชนคนหาเช้ากินค่ำที่เลือกใช้บริการโรงพยาบาลเอกชน ด้วยเห็นว่าเป็นทางเลือกในการได้รับบริการที่แตกต่างจากโรงพยาบาลหรือสถานพยาบาลของรัฐ ก็อยากสะกิดเตือนผู้เกี่ยวข้องทั้งหมดว่าต้องคิดให้รอบคอบ มองรอบด้าน ก่อนจะตัดสินใจอย่างใดอย่างหนึ่ง ด้วยประเมินแล้วหากเดินหน้าตามมติ กกร.ทุกประการ จะเกิดผลกระทบในวงกว้าง

อย่างน้อยก็ยังมีอีกหลายสิ่งที่ต้องทำความเข้าใจ โดยเฉพาะในเรื่องสิทธิ-สวัสดิการรักษาพยาบาลของคนไทย ที่มีข้อมูลว่า 99.99% ต่างก็มีสิทธิการรักษาพยาบาลในแบบที่ไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายอยู่แล้ว หนึ่งคือ บัตรทอง หรือบัตรประกันสุขภาพถ้วนหน้า ครอบคลุมพื้นที่ทั่วประเทศ สองคือ สิทธิจากกองทุนประกันสังคม ที่พนักงานออฟฟิศ ลูกจ้างบริษัทเอกชน หรืออาชีพอิสระที่สมทบกองทุนเองมีกันอยู่แล้ว และสาม สวัสดิการข้าราชการ ที่มีมากกว่า 5-6 ล้านคนทั่วประเทศ ยังไม่รวมกองทุนสวัสดิการของแต่ละหน่วยงานที่มีแยกจำเพาะดูแลคนในสังกัดลงไปอีก

ต้องเข้าใจให้ชัดว่าการเข้ารักษาตัวในสถานพยาบาลเอกชน ที่ทุกคนรู้ดีว่าต้องเสียค่าใช้จ่ายสูง และต้องควักกระเป๋าจ่ายเองนั้น เป็นทางเลือกสำหรับผู้ที่ไม่สะดวกใช้สิทธิการรักษาพยาบาลข้างต้น ดังนั้นผู้ที่เลือกเดินเข้าก็ย่อมต้องรู้ศักยภาพตัวเอง เช่นเดียวกับตัวผมที่อาจจะพูดได้ว่าในวัยหนุ่ม (เหลือ) น้อย มีความจำเป็นในการเลือกใช้สถานพยาบาล อย่างน้อยก็ในแง่ความสะดวกสบายการรอคิวที่ไม่นานเกินไป

แล้วต้องยอมรับด้วยว่าโรงพยาบาลเอกชนเขาตั้งขึ้นมาเพื่อทำธุรกิจหากำไร หาใช่ตั้งขึ้นมาเพื่อสาธารณกุศล แล้วกลุ่มเป้าหมายที่จะไปหากำรี้กำไร ก็ย่อมเป็นคนไข้-ผู้ป่วยที่มีศักยภาพ ไม่ใช่หวังเอารัดเอาเปรียบชาวบ้านธรรมดาแต่อย่างใด หลายแห่งอัพเกรดตัวเองเป็นอินเตอร์เนชั่นแนล เพื่อรับลูกค้าเศรษฐีกระเป๋าหนักจากต่างชาติโดยเฉพาะเลยทีเดียว

ต้องทำความเข้าใจด้วยว่า ค่ายา-เวชภัณฑ์ต่างๆ ของโรงพยาบาลเอกชนที่ว่าแพงแสนแพงนั้น แตกต่างจากค่ายา-เวชภัณฑ์ของโรงพยาบาลรัฐ หรือร้ายขายยาเอกชนทั่วไปอย่างสิ้นเชิง อย่าลืมว่าเอกชนต้องลงทุนงบประมาณเอง ตั้งแต่อาคารสถานที่ อุปกรณ์ทางการแพทย์ ค่าตอบแทนบุคลากร แพทย์ เภสัช พยาบาลทั้งหมด ในขณะที่โรงพยาบาลรัฐมีเงินอุดหนุนจากงบประมาณแผ่นดิน

ด้วยต้นทุนค่ายาที่ไม่ต่างกันมากนัก หากแต่มีค่าใช้จ่ายแฝง ในส่วนเงินลงทุนดังกล่าวของเอกชนที่ต้องนำมาคำนวณลงไปในค่ายา เพราะไม่สามารถเก็บค่าบริการและต้นทุนส่วนอื่นได้ ขณะที่โรงพยาบาลรัฐนั้นสามารถขายในราคาต้นทุน หรือใกล้เคียงกับต้นทุน เพราะไม่มีข้อจำกัดเรื่องกำไรขาดทุน ด้วยมีภาษีจากประชาชนรองรับอยู่แล้ว

นอกจากนี้ ราคาค่ายาของโรงพยาบาลเอกชนยังมีระบบบริหารจัดการสต๊อกยา เทคโนโลยีต่างๆ เพื่อรักษาคุณภาพ มีการจัดเก็บยาทุกชนิดให้เพียงพอต่อการรักษาหรือไว้ใช้ในยามฉุกเฉิน เอกชนต้องแบกรับต้นทุนตรงนี้ไว้เองทั้งหมด ต่างจากร้านยาทั่วไปที่ไม่จำเป็นต้องมียาทุกประเภท ใช้บุคลากรและการจัดเก็บรักษาที่น้อยกว่า ไม่จำเป็นต้องสต๊อก ใช้ระบบซื้อมาขายไป เน้นในส่วนของยาสามัญที่ขายได้บ่อยเท่านั้น ค่ายาในแต่ละสถานพยาบาลหรือร้านขายยาจึงนำมาเทียบกันไม่ได้อย่างสิ้นเชิง

และที่ไม่ค่อยมีใครรู้กันก็ในเรื่องการรักษาพยาบาลฉุกเฉิน ที่สถานพยาบาลเอกชนมีข้อตกลงกับกระทรวงสาธารณสุขในการรับรักษาผู้ป่วยขั้นวิกฤตถึงแก่ชีวิต ในกรณีที่เป็นสถานพยาบาลที่ใกล้ที่สุด กำหนดห้วงเวลาดูแลไม่เกิน 72 ชั่วโมง ก่อนส่งต่อไปยังสถานพยาบาลตามสิทธิของผู้ป่วย ส่วนนี้ไม่มีการคิดค่าใช้จ่ายใดๆ ถือเป็นการทำกิจกรรมตอบแทนสังคม หรือซีเอสอาร์กลายๆ ของโรงพยาบาลเอกชนเขา

อีกเรื่องที่สำคัญแล้วมองว่าแนวนโยบายของ กกร.และกระทรวงพาณิชย์ จะกระทบอย่างมาก เป็นผลกระทบในระดับนานาชาติ ก็เรื่องการผลักดันให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการรักษาพยาบาลที่มีคุณภาพ หรือที่เรียกกันว่า เมดิคอล ฮับ ซึ่งที่ผ่านมาชาวต่างชาติที่เจาะจงเดินทางมารับการรักษาพยาบาลในประเทศไทยปีหนึ่งหลายล้านคน สร้างเม็ดเงินให้กับประเทศมหาศาล หลายโรงพยาบาลดังๆ มีคนไข้ชาวต่างชาติมากกว่าคนไทยเสียอีก ตรงนี้ก็นำมาซึ่งค่าใช้จ่ายในการจ้างบุคลากรที่มีความสามารถในการสื่อสารหลายภาษา
ไปด้วย

แต่หากมีกระบวนการไปจำกัดรายได้ของสถานพยาบาลเอกชนเหล่านั้น ย่อมส่งผลให้การพัฒนาทางการแพทย์ด้านต่างๆ อาจมีข้อจำกัดในแง่งบประมาณการลงทุน นำมาซึ่งคุณภาพการรักษาพยาบาลที่อาจจะลดลง ไม่เป็นที่ยอมรับของต่างชาติ แล้วเลือกที่จะไปรับการรักษาที่ประเทศอื่น ซึ่งพยายามแข่งขันในการเป็นเมดิคอลฮับกับประเทศไทยมากกว่า

คำถามมีว่า เมื่อไทยเสียประโยชน์ สูญเสียศักยภาพในการแข่งขัน ถูกดิสเครดิตในแง่คุณภาพการรักษาพยาบาล แล้วใครจะได้ประโยชน์ น่าสนใจไปถึงจุดเริ่มต้นก่อนจะออกมาเป็นมติ กกร.นั้น ในช่วงรัฐบาลชุดนี้มีการเรียกร้องเรื่องนี้หลายครั้งผ่านหน่วยงานที่ได้ชื่อว่าเอ็นจีโอ จน กกร.รับลูกในครั้งนี้ ซึ่งกระทรวงพาณิชย์ในฐานะโต้โผต้องรู้เท่าทันว่ามีขบวนการแอบแฝงซ่อนเร้นอะไรอยู่หรือไม่ด้วย

อย่างที่บอก หากกระทรวงพาณิชย์ผลักดันเรื่องนี้สำเร็จ ผมก็เป็นคนหนึ่งที่ได้ประโยชน์เต็มๆ แต่เมื่อคิดอย่างรอบคอบ มองอย่างรอบด้านแล้ว ก็ขอจ่ายแพงเพื่อประโยชน์ส่วนรวม มากกว่าคิดถึงประโยชน์ที่ตัวเองจะได้รับแล้วประเทศต้องเสียหาย