posttoday

เบื่อทหาร VS เบื่อนักการเมือง

20 มกราคม 2562

เหตุผลของความเบื่อ! เมื่อคนไทยจำนวนมากเกิดความเบื่อหน่ายทางการเมือง โดย พวกที่เบื่อทหาร พวกที่เบื่อนักการเมือง และพวกที่เบื่อทั้งสองฝ่าย

เหตุผลของความเบื่อ! เมื่อคนไทยจำนวนมากเกิดความเบื่อหน่ายทางการเมือง โดย พวกที่เบื่อทหาร พวกที่เบื่อนักการเมือง และพวกที่เบื่อทั้งสองฝ่าย

**********************

โดย...ทวี สุรฤทธิกุล

ความเบื่อก็เหมือนยาเบื่อเมื่อไม่ระมัดระวัง

นักจิตวิทยาท่านว่า ความเบื่อเกิดจากปัจจัยภายในตัวคน 3 อย่าง กับปัจจัยภายนอกอีก 2 อย่าง ปัจจัยภายในก็คือ การทำอะไรที่ซ้ำซากจำเจ ความไม่พอใจหรือไม่เพียงพอ และความอิจฉาริษยา (โดยเอาตัวเราไปเทียบกับคนอื่นจนทำให้รู้สึกว่า “ไม่ได้-ไม่เป็น” ดั่งเช่นเขา) ส่วนปัจจัยภายนอกก็คือ ความไม่ก้าวหน้าหรือไม่เปลี่ยนแปลง และการปรับตัวเข้ากับสิ่งแวดล้อมภายนอกไม่ได้ ซึ่งเมื่อนำมาอธิบายปรากฏการณ์ที่คนไทยจำนวนมากเกิดความเบื่อหน่ายทางการเมือง โดยเฉพาะคน 3 พวกใหญ่ๆ คือ พวกที่เบื่อทหาร พวกที่เบื่อนักการเมือง และพวกที่เบื่อทั้งสองฝ่าย ก็อาจจะพออธิบายได้ว่า “ทำไมคนไทยจึงเกิดความรู้สึกดังกล่าว”

เริ่มจากพวกที่เบื่อทหาร ก็จะให้เหตุผลว่า ทหารปกครองบ้านเมืองมานาน ไม่ใช่เฉพาะแต่ คสช.ที่ทำรัฐประหารและปกครองมาแล้วเกือบ 5 ปี แต่ได้ปกครองประเทศไทยมาโดยตลอดตั้งแต่หลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 นั้นแล้ว โดยตลอดระยะเวลากว่า 86 ปีที่ผ่านมานั้น ทหารอยู่ในอำนาจในทางการเมืองเกือบ 50 ปี ซึ่งทหารเมื่อได้ขึ้นมามีอำนาจก็มักจะให้ “ความหวัง” แก่คนไทยมากมาย แต่ท้ายที่สุดก็ “ท่าดีทีเหลว” หรือ “ปัสสาวะไม่สุด” ทำอะไรไม่สำเร็จ ทั้งๆ ที่มี “อำนาจเด็ดขาด” ซ้ำร้ายบางยุคสมัยก็ไปร่วมมือกับพ่อค้านายทุน โกงกินกอบโกย “ทำร้าย” ประเทศไทยและคนไทย รวมถึงที่ใช้อำนาจพิเศษต่างๆ สร้างเครือข่ายผลประโยชน์ ตลอดจนสร้างเครือข่ายบริวาร สืบทอดอำนาจและรักษาอำนาจ ไม่ให้ใครเข้ามายุ่งเกี่ยว

ทว่า “เรื่องที่น่าเศร้าที่สุด” ก็คือ ทหารไม่สามารถสร้าง “ประชาธิปไตยที่ดี” ได้แม้แต่สักครั้งเดียว ทั้งที่หลายครั้งก็พยายามที่จะสร้างให้เกิดขึ้น แต่ก็เป็น “ประชาธิปไตยแบบทหาร” (ในสมัยที่ทหารเขียนรัฐธรรมนูญเอง) หรือ “ประชาธิปไตยแบบเอาใจทหาร” (ในสมัยที่ทหารควบคุมคนอื่นมาเขียนให้) ยกตัวอย่างการเมืองในระบบพรรคของจอมพล ป. พิบูลสงคราม ที่ล้มเหลวก็เพราะทหารอยากให้พรรคของทหารชนะ จึงโกงเลือกตั้ง (รวมทั้งที่มีข้าราชการและผู้มีอิทธิพล ซึ่งอิงแอบทหารช่วยโกงให้ด้วย) จึงต้องถูกลูกน้อง (จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์) ทำรัฐประหาร รวมทั้งความล้มเหลวของจอมพลถนอม กิตติขจร ในปี 2512 ตลอดจน พล.อ.เกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ ในปี 2522 และ พล.อ.สุจินดา คราประยูร ในปี 2535 ที่ก็เพียงแค่คิดจะควบคุมนักการเมืองไว้ภายใต้ท็อปบู๊ต ในที่สุดก็เจอฤทธิ์เดชของนักการเมืองเหล่านั้น ทำลายรัฐบาลจนพังในที่สุด หรือถ้าจะพูดถึงทหารยุค คสช.ในสมัยนี้ ก็กำลังพาประเทศไทยไปในทิศทางเดิม คือพยายามควบคุมนักการเมือง ถึงขั้นไปกวาดต้อนมา “เลี้ยงไว้ในคอก” ซึ่งน่าเป็นห่วงว่าอาจจะประสบชะตากรรมแบบเดิม

สำหรับพวกที่เบื่อนักการเมือง ก็ด้วยเหตุผลที่ว่านักการเมืองทั้งหลาย “ไม่พัฒนา” ซึ่งเมื่อพิจารณาจากประวัติศาสตร์การเมืองไทยก็จะเห็นว่า เริ่มต้นตั้งแต่ที่มีเลือกตั้ง “อย่างอิสระ” ในปี 2489 นักการเมืองไทยก็ออกอาการ“น้ำเน่า” มาตั้งแต่นั้น คือแทนที่จะรวมตัวกันเป็นพรรคการเมืองด้วยอุดมการณ์ ก็กลายเป็นว่ารวมตัวกันเพื่อ “เชิดชูผู้นำ” คือกลุ่มหนึ่งก็หนุนอาจารย์ปรีดี พนมยงค์ อีกกลุ่มหนึ่งก็หนุน ควง อภัยวงศ์ แล้วทะเลาะขัดแย้งกัน จนเมื่อทหารทำรัฐประหารในปี 2490 กลุ่มควงก็ถูกทหาร “เชิด” อยู่พักหนึ่ง

ต่อมาเมื่อทหารตั้งพรรคมนังคศิลา นักการเมืองก็ “แห่” กันไปซบ (เช่นเดียวกันกับในปี 2512, 2522 และ 2535 ที่เล่ามาแล้ว) หรือเมื่อนักการเมืองได้ขึ้นมามีอำนาจอย่างสุดๆ ในปี 2518 ก็มีบางพรรคไปแอบสมคบกับทหารมาทำลายพรรคการเมืองด้วยกันเอง เพื่อว่าเมื่อพรรครัฐบาลล้มก็จะได้ครองอำนาจต่อไป และที่ใกล้ตัวเราที่สุดก็คือในสมัยที่พรรคการเมือง “ยึดสภา” เป็นเสียงข้างมากเด็ดขาดในช่วงปี 2544-2548 ก็ใช้อำนาจที่ได้รับจากประชาชน แสวงหาประโยชน์ให้แก่ตัวเองและญาติมิตรพรรคพวก จนเกิดระบอบ “ทุนสามานย์” และนำทหารให้เข้ามาทำรัฐประหารถึง 2 ครั้ง ทั้งในปี 2549 และ 2557

ส่วนพวกที่เบื่อทั้งสองฝ่าย เหตุผลสำคัญก็คงสรุปได้สั้นๆ ว่า ทั้งทหารและนักการเมืองนั้นล้วนแต่ “ไม่ได้เรื่อง” โดยที่คนกลุ่มนี้ในระยะแรกก็อาจจะรู้สึกรักและเอาใจช่วย ถ้ารักทหารก็จะรักมาจนระยะหนึ่ง จนได้เห็นว่าทหารไม่ได้เรื่อง ก็จะเริ่มเบื่อหน่าย บางคนพยายามที่จะเสนอแนะตักเตือน แต่ทหารไม่ฟังหรือฟังแล้วทำไม่เป็น ก็ยิ่งจะทำให้กลุ่มคนที่เคยหลงรักนี้ยิ่งเบื่อทหารมากขึ้นไปอีก จนกระทั่งบางคนจากที่กำลังเบื่อ ก็อาจจะกลายเป็นความเกลียดชัง ที่สุดก็คือ “ความโกรธแค้น” แล้วไปร่วมมือกับฝ่ายที่เบื่อทหารนั้นต่อไป

ส่วนพวกที่รักนักการเมือง พวกนี้ส่วนมากรักด้วย “ความหวัง” และ “ความเอ็นดู” แต่พอนักการเมืองทำไม่ได้อย่างที่ตั้งความหวังไว้ หรือทำตัวไม่น่ารักไม่น่าเอ็นดู เช่น โกงกิน พูดจาหยาบคาย ฯลฯ ก็จะเริ่มรู้สึกเบื่อ ที่สุดก็เป็นความเคียดแค้นชิงชัง และนำไปสู่การไม่ยอมรับระบบ และเช่นเดียวกันหลายคนก็หันไปชื่นชม “ระบอบทหาร” (อย่างที่มีนักร้องคนหนึ่งบอกว่า “ไม่ต้องเลื่อนเลือกตั้ง ให้เลิก-เลือกตั้ง-ไปเลย”)

ผู้เขียนขอยก “ธรรมะ” ของลูกศิษย์ที่เป็นพระรูปหนึ่ง ที่พูดถึงเรื่อง “ความเบื่อ” นี้ไว้อย่างน่าฟังว่า ทั้งทหารและนักการเมืองก็คือ “ลูกจ้างของประชาชน” ที่กินเงินภาษีจากประชาชน เราเบื่อคนพวกนี้ก็เพราะว่าเขาทำอะไรไม่ได้ดังใจเรา โดยคนไทยลืมไปว่าเราจะ “ไม่จ้าง” คนพวกนี้เมื่อไหร่ก็ได้ แต่น่าเสียใจที่คนไทยไปยอมสยบให้กับคนทั้งสองพวกนี้ ที่สุดคนทั้งสองพวกนี้ก็เห็นว่าคนไทยทั้งประเทศนั่นแหละคือ “ลูกจ้าง” ของเขา

ที่จะจ้างให้เรา “ไปเลือกตั้ง” หรือ “ไม่ไปเลือกตั้ง” ก็ได้