posttoday

"บลูเฮาส์" บันดาลใจ

13 มกราคม 2562

กลุ่มอาคารตึกแถวเก่าที่ชื่ว่า "Viva Blue House" ในฮ่องกง ถูกวางแนวคิดเป็นพื้นที่ทางวัฒนธรรมที่หลากหลาย

กลุ่มอาคารตึกแถวเก่าที่ชื่ว่า "Viva Blue House" ในฮ่องกง ถูกวางแนวคิดเป็นพื้นที่ทางวัฒนธรรมที่หลากหลาย

*****************************

โดย...อาทิตย์ โกวิทวรางกูร [email protected] เครือข่ายมักกะสัน

เมื่อกลางเดือน พ.ย.ปีที่ผ่านมา หลังจากที่ร่วมฟังไกด์นำชมพิพิธภัณฑ์ Public Housing ของฮ่องกง ที่ Mei Ho House (ซึ่งปัจจุบันอยู่ร่วมเป็นส่วนหนึ่งของ Hostel ในอาคารอนุรักษ์ ซึ่งเป็น Public Housing รุ่นแรกของฮ่องกง ที่สร้างตั้งแต่ทศวรรษ 1950) เพื่อนชาวฮ่องกงที่ร่วมคณะกันก็ได้เอ่ยขึ้นมาว่า “คุณควรจะไปดู Blue House นะ... มันดีมากเลย”

ผมเคยได้ยินและเห็นรูปผ่านสื่อมาหลายครั้ง เห็นเป็นอาคารตึกแถวเก่าที่ถูกอนุรักษ์และบูรณะใหม่ โดยมีจุดจดจำที่การทาสีน้ำเงินทั้งหลัง คนชอบถ่ายรูปมุมเดียวกันหมด คือมองเห็นตึกเอียงๆ เข้าไปเหมือนมองจากปากซอยเข้าไป แล้วตึกอยู่ตรงหัวมุมพอดี

บลูเฮาส์ตั้งอยู่ในซอย Stone Nullah Lane ย่านหว่านจ๋าย (Wanchai) แถบกลางเกาะฮ่องกง อายุอาคารเกือบ 100 ปี ผ่านการใช้งานมาหลายยุคหลายรูปแบบ

วันที่ไปถึงพบว่าตึกหลังแรกซ้ายมือสุดที่ป้ายเขียนว่าเป็น Hong Kong House of Stories ปิด! (หยุดวันที่ไปพอดี) ยังดีที่ข้างๆ เปิดอยู่ ห้องหนึ่งเป็นร้านกึ่งคาเฟ่ อีกห้องหนึ่งเป็นร้านขายสินค้าออร์แกนิก มองเข้าไปในร้านเห็นคนกำลังเอาค้อนทุบตุบตับสลับซ้ายขวา หันมาที่เคาน์เตอร์เจอผลิตภัณฑ์หน้าตาคล้ายถั่วตัด พนักงานหน้าร้านเลยบอกว่ามันคือถั่วตัดที่ทำจากถั่วและน้ำตาลออร์แกนิก ทำสดในร้านนี่ล่ะ

ผมถามที่มาของสินค้าในร้านว่ามาจากไหนและนี่ใครเป็นคนทำร้าน เธอคนเดิม (ที่พูดภาษาอังกฤษกับเรา) เลยหันไปถามพนักงานที่ดูอาวุโสกว่าอีกคนด้วยภาษากวางตุ้ง แล้วกลับมาแปลให้ฟังว่า ร้านนี้เป็นกิจการเพื่อสังคม ภายใต้องค์กร St.James Settlement ซึ่งเธอเสริมว่าเป็นองค์กรเดียวกันกับที่บริหารจัดการกลุ่มอาคารบลูเฮาส์นี้ด้วย โดยเธอเองเป็นอาสาสมัครและเป็นคนในชุมชนละแวกนี้ เพิ่งมาทำงานได้ไม่กี่สัปดาห์ โดยจะมาสัปดาห์ละครึ่งวัน เธอเล่าต่อว่า คุณป้าที่ยืนข้างๆ เธอ หรืออีกสองคนในร้านที่กำลังทุบถั่วตัดอยู่ ล้วนเป็นคนในชุมชน คนอื่นๆ เป็นพนักงานที่รับค่าจ้างหมด มีเธอเท่านั้นที่มาทำในรูปแบบอาสาสมัคร

ยังไม่ทันที่ผมจะถามต่อ เธอเล่าต่อว่าร้านขนมข้างๆ ก็เป็นกิจการเพื่อสังคมในเครือ หรือถ้าเราอยากรับประทานอาหารที่หัวมุมตึกอีกด้านมีร้านอาหารมังสวิรัติที่เป็นกิจการเพื่อสังคมในเครืออีกแห่งหนึ่ง

เอ...ผมเริ่มสนใจ St.James Settlement มากขึ้นแล้วแฮะ

แล้ววันรุ่งขึ้นผมก็กลับไปที่นั่นอีกครั้ง พบว่า Hong Kong House of Stories (หรือมีอีกชื่อที่สื่อความกว่าว่า Wanchai Folk Life Museum) เป็นพื้นที่จัดแสดงนิทรรศการท้องถิ่นที่สลับเปลี่ยนหมุนเวียนไป และมีมุมขายของที่ระลึกที่เกี่ยวกับบลูเฮาส์

หลังจากพยายามจะหาทางขึ้นไปดูอาคารด้านบน แต่มาพบคำตอบว่าข้างบนเป็นห้องที่มีคนอยู่อาศัยจ้า

ก็เดินทะลุประตูออกไปด้านหลังตึก พบลานเปิดโล่งที่ถูกโอบล้อมด้วยกลุ่มตึกแถวสามด้าน อีกด้านเปิดโล่ง ติดถนนและชุมชนโดยรอบ

ตึกแถวอีกด้านหนึ่งมีร้านแลกเปลี่ยน/ขายสินค้ามือสอง อีกห้องหนึ่งเหมือนห้องประชุม ผนังด้านหนึ่งเป็นประวัติของที่นี่ อีกด้านเป็นเอกสาร หนังสือที่เกี่ยวข้อง เข้าใจว่าเวลามีคณะเยี่ยมชมคงจะปฐมนิเทศกันที่นี่ รวมทั้งใช้เป็นห้องประชุมของชุมชนด้วย

แผนภูมิหนึ่งบนผนัง แสดงให้เห็นถึงความคิดรวบยอดของบลูเฮาส์อย่างกระจ่างและน่าสนใจ

พื้นที่โครงการตรงกลุ่มอาคารนี้ทั้งหมดประกอบด้วยตึกแถว 3 ด้าน (เรียกตามสีว่า ตึกน้ำเงิน ตึกส้ม ตึกเหลือง) และลานอเนกประสงค์ตรงกลางเรียกรวมกันในชื่อ Viva Blue House ถูกวางแนวคิดเป็นพื้นที่ทางวัฒนธรรมที่หลากหลาย และคงคุณลักษณะของตึกแถวสมัยก่อน ที่มีวัตถุประสงค์ใช้งานหลายอย่าง (Multi-Functional) คือทั้งเป็นพื้นที่การค้า พื้นที่อยู่อาศัย รวมทั้งยังเป็นพื้นที่พบปะสังคมของชุมชนอีกด้วย

Viva Blue House จะปฏิบัติการกับ 3 กลุ่มเป้าหมาย (หนึ่ง ผู้อยู่อาศัยในบลูเฮาส์ สอง ชุมชนย่านหว่านจ๋าย สาม สาธารณะ) ผ่าน 5 องค์ประกอบหลัก คือ

1.Hong Kong Houses of Stories จัดนิทรรศการ ไกด์นำชม สื่อสิ่งพิมพ์ ฉายภาพยนตร์ ฯลฯ มุ่งเป้าสื่อสารกับบุคคลสาธารณะทั่วไป โดยเนื้อหาจะผ่านเก็บบันทึกอย่างเป็นระบบ ค้นคว้าวิจัย พัฒนาและนำเสนอเรื่องราว ในรูปแบบที่หลากหลายและสร้างสรรค์

2.Participation of Staying Tenants การวางแผนร่วมกันเพื่อกำหนดนโยบายการเช่า สำหรับผู้อยู่อาศัย ร้านค้า และส่วนอื่นๆ โดยเอาคนเป็นศูนย์กลาง ทดลองรูปแบบใหม่ๆ และยั่งยืน

3.Good Neighbour Scheme กระบวนการคัดเลือกผู้เข้าพักอาศัยในโครงการที่โปร่งใสและยุติธรรม เพื่อให้ได้คนที่เหมาะสม ผู้อยู่อาศัยในบลูเฮาส์จะต้องร่วมกันขับเคลื่อนโครงการ ผ่านทักษะหรือความรู้ในด้านที่ตนมี เพื่อพัฒนา Viva Blue House ให้งอกงาม ส่วนค่าเช่าจะคิดราคาตลาด เพื่อให้โครงการมีฐานะทางการเงินที่โอเค (ตอนนี้ผมถึงบางอ้อ เรื่องคนที่อาศัยอยู่ชั้นบนของกลุ่มอาคารบลูเฮาส์นี้แล้ว)

4.Social Enterprise Unit ดังที่เล่าไปข้างต้น

5.C.O.M.E. Hall คือร้านที่หน้าตาเหมือนร้านมือสอง แต่แท้จริงคือพื้นที่เพื่อสนับสนุนเศรษฐกิจระดับชุมชน ผ่านการแลกเปลี่ยนข้าวของ ทรัพยากรอื่นๆ รวมทั้งทักษะฝีมือของผู้คนในชุมชน

โดยสรุปนอกจากภาพแรกของบลูเฮาส์ที่เห็นเหมือนในภาพจำ ที่เหลือนับว่าผิดไปจากในหัวแทบทั้งหมด

ประการแรก ตึกแถวสีน้ำเงินที่เป็นภาพจำ เป็นเพียง “เสี้ยวเดียว” ของกลุ่มอาคารทั้งหมดบริเวณนั้น ที่ประกอบรวมกันเรียกว่า Blue House Cluster

ประการที่สอง นี่ไม่ใช่โครงการฉาบฉวยหรือแค่ทำเป็นจุดแลนด์มาร์คสำหรับการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์แบบผิวเผิน แต่เป็นผลผลิตที่ชุมชนได้ร่วมกันก่อร่างสร้างขึ้น และพัฒนาอย่างต่อเนื่องมาเป็นสิบปี

ประการที่สาม การได้ศึกษาบลูเฮาส์ ทำให้ได้ไปเจอองค์กรที่เป็นคนบริหารจัดการบลูเฮาส์ร่วมกับชุมชน และองค์กรพันธมิตรอีกสองแห่ง นั่นคือ St. James Settlement ซึ่งถือกำเนิดในซอยเดียวกับที่กลุ่มอาคารนี้อยู่ (เมื่อปี 1949) ถือเป็นการจัดการในระดับชุมชนที่น่าสนใจยิ่ง

ประการสุดท้าย เค้าโครงที่บลูเฮาส์ทำสามารถเป็นตัวแบบให้นำไปตั้งต้นและปรับใช้ได้

ทว่ากว่าจะมาลงเอยเป็นแบบนี้ได้ ผ่านกระบวนการทั้งต่อสู้และร่วมมือต่อเนื่องกันนับสิบปี

ถ้าท่านผู้อ่านอยากรู้เบื้องลึกเบื้องหลัง ตอนหน้าผมจะขุดมาคลี่ตีแผ่ให้ชมกันครับ