posttoday

ดิสรัปชั่น 2018

31 ธันวาคม 2561

โลกได้เข้าสู่ยุคเปลี่ยนแปลงแบบ “หักศอก” “ปั่นป่วน” หรือเข้าสู่ยุคดิสรัปชั่น “Disruption” อย่างชัดเจนในปี 2018

โดยศ.ดร.สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ ประธานสถาบันนวัตกรรมชุมชนอัจฉิริยะและอธิบการบดีสจล.

ปี 2018 กำลังจะผ่านพ้นไป และเป็นปีหนึ่งที่เกิดการเปลี่ยนแปลงเร็วที่สุดในช่วงชีวิตของคนในยุคนี้ ความรู้สึกนี้แม้อาจจะเกิดขึ้นเป็นครั้งแรก แต่มั่นใจว่าปีหน้าและปีต่อๆ ไปก็จะรู้สึกเช่นนี้อีก หมายความว่าโลกได้เข้าสู่ยุคเปลี่ยนแปลงแบบ “หักศอก” “ปั่นป่วน” หรือเข้าสู่ยุคดิสรัปชั่น “Disruption” อย่างชัดเจนในปี 2018

เริ่มต้นด้วยเสียงคำรามของธรรมชาติตั้งแต่ต้นปี 2018 ที่เกิดทั้งแผ่นดินไหว สึนามิ ภูเขาไฟระเบิด น้ำท่วม น้ำแล้ง เขื่อนแตก ในปีเดียวกัน ทั้งมีความรุนแรงและมีความถี่มากกว่าในอดีต จนคาดเดาได้ยากยิ่ง เกินกว่าความสามารถของสมองมนุษย์ หรือแม้แต่สมองกลคอมพิวเตอร์ยุคปัจจุบัน ก็ยังไม่สามารถพยากรณ์ธรรมชาติได้ล่วงหน้า พิสูจน์ว่าภัยพิบัติใกล้ตัวเรา และน่ากลัวกว่าที่คิด นอกจากภัยธรรมชาติแล้ว สภาวะแวดล้อมยังถูกเร่งทำลายด้วยฝีมือมนุษย์ เช่น การเกิดฝุ่นพิษ PM 2.5 ท่วมกรุงเทพฯ จนถึงจุดอันตราย

ตามติดด้วย “วิกฤตประชากร” ผลจากอัตราการเกิดต่ำของคนไทย มาปรากฏชัดเจนในช่วงปี 2018 นี้ โดยโรงเรียนของรัฐมีเด็กนักเรียนลดน้อยลงอย่างต่อเนื่อง เช่น โรงเรียนสังกัด กทม. 537 โรงเรียน เคยมีเด็กนักเรียนมากถึง 4 แสนคน วันนี้เหลือเพียงไม่ถึง 2 แสนคน ขณะที่เมื่อ 20-30 ปีที่แล้ว มีเด็กมัธยมเกือบหนึ่งล้านคนแข่งขันกันเข้าเรียนมหาวิทยาลัย

แต่วันนี้มีนักเรียนมัธยมสมัครเข้าระบบ TCAS หรือการรับสมัครบุคคลเข้ามหาวิทยาลัยระบบกลางในปี 2018 ไม่ถึงสามแสนคน ทำให้มหาวิทยาลัยไทยทั่วประเทศมีจำนวนที่นั่งมากกว่าจำนวนนักเรียนเกือบเท่าตัว อนาคตอุดมศึกษาไทยจึงกำลังเข้าสู่ยุคอ่อนแอ หากไม่คิดเปลี่ยนแปลงทันที

วิกฤตที่ยิ่งน่ากลัวตามมา คือ ประเทศไทยจะประสบปัญหาด้าน “จำนวน” ประชากรวัยทำงานทั้งระดับปัญญาชน และระดับแรงงาน ไม่ต้องพูดถึงเรื่อง “คุณภาพ” ที่น่ากังวลมากยิ่งกว่า ตามติดด้วยปัญหาสังคมผู้สูงอายุ ซึ่งรัฐต้องดูแลทั้งด้านงบประมาณ และด้านโครงสร้างสังคม ทำให้เกิดภาวะ “ห่วงหน้าพะวงหลัง” คือ ต้องห่วงอนาคตของเด็กรุ่นใหม่ และยังต้องพะวงว่ารุ่นพ่อแม่จะอยู่รอดกันอย่างไรอีกด้วย ประเทศจึงวิ่งไปข้างหน้าเพื่อแข่งขันได้ลำบากยิ่ง

และปี 2018 นี้เอง ที่เทคโนโลยีทำให้โลกปั่นป่วน รุมเร้าเข้าสู่ชีวิตมนุษย์ทุกทิศทุกทาง ตั้งแต่กระแส AI หรือปัญญาประดิษฐ์ ที่ฉลาดเสียจนเราเริ่มวิตกกังวลว่า หุ่นยนต์อาจแย่งงานมนุษย์ในทุกอาชีพ

แม้แต่อาชีพแพทย์ ที่ AI ได้แสดงความสามารถทั้งเรื่องการวินิจฉัยโรค จนถึงเรื่องการรักษาและการผ่าตัดได้ถูกต้องแม่นยำ แบบนี้อาชีพอื่นคงรอดยาก และถึงยุคที่สมาร์ทโฟนทำให้ได้ทุกอย่าง ตั้งแต่โอนเงิน สั่งอาหาร เรียกรถ ช็อปปิ้ง นัดหมอ เปิดปิดบ้าน

โอกาสเดียวของประเทศไทยในยุคแบบนี้ คือ การต้องสร้างคนรุ่นใหม่ให้มีคุณภาพสูงเท่านั้น ถึงจะต่อสู้กับโลกอนาคตที่ปั่นป่วน คาดเดาไม่ได้ ดังนั้น “การศึกษา” จึงเป็นทางรอดของชาติ การศึกษายุคใหม่ต้องมุ่งที่คุณภาพสุดโต่ง ไม่ใช่ที่ปริมาณ หลักสูตรตั้งแต่ประถม มัธยม จนถึงมหาวิทยาลัย จะต้องเปลี่ยน ต้องเข้มข้น ต้องผสมผสานทั้ง “ศาสตร์และศิลป์” และต้องปลดพันธนาการจากวิชาบังคับ และการเรียนการสอนแบบเดิม ที่ไม่ทันต่อโลกยุคหักศอก

2018 ปีแห่งการดิสรัปชั่น ปีที่กระแสโลกกำลังเตือนคนไทยแรงๆ ว่า เราจะอยู่อย่างเดิม เชื่อแบบเก่า ไม่ได้อีกต่อไป และความปั่นป่วนนี้จะรุนแรงขึ้นอีกในปีต่อๆ ไป คงถึงเวลาต้อง “กล้า” เริ่มต้นเปลี่ยนแปลง ก่อนที่จะสายเกินไป ในปี 2019