posttoday

กรุงเทพฯเมืองจมฝุ่น

24 ธันวาคม 2561

กรุงเทพฯ ไม่เคยพ้นจากวังวนปัญหามลพิษมีแต่จะรุนแรงมากขึ้น ทางแก้ไขต้องคุมเข้มพื้นที่ก่อสร้าง ตรวจจับรถบรรทุกควันดำเข้าเมือง

กรุงเทพฯ ไม่เคยพ้นจากวังวนปัญหามลพิษมีแต่จะรุนแรงมากขึ้น ทางแก้ไขต้องคุมเข้มพื้นที่ก่อสร้าง ตรวจจับรถบรรทุกควันดำเข้าเมือง

******************************

โดย....ศาสตราจารย์ ดร.สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ ประธานสถาบันนวัตกรรมชุมชนอัจฉริยะ และอธิการบดี สจล.

เช้าวันที่ 21 ธ.ค. กรุงเทพมหานครถูกปกคลุมไปด้วยฝุ่นหนาแน่น ซึ่งมากเสียจนอาจเข้าใจผิดคิดว่าหมอกลง ทำให้ทัศนวิสัยในการมองเห็นบนถนนลดลงไปอย่างน่าตกใจ ปรากฏการณ์นอกจากนี้เกิดขึ้นใจกลางเมืองแล้ว ยังลามไปถึงพื้นที่รอบนอกของกรุงเทพฯ ที่เต็มไปด้วยละอองฝุ่นขนาดเล็ก หรือที่เรียกว่า PM 2.5 คือ ฝุ่นพิษที่มีอันตรายมากที่สุดถึงชีวิต

ฝุ่น PM 2.5 เกิดขึ้นมาจากควันพิษที่มาจากเครื่องยนต์ที่เผาไหม้ไม่สมบูรณ์ โดยเฉพาะเครื่องยนต์ดีเซลที่ใช้กับรถและเครื่องจักร เช่น รถบรรทุก เครื่องจักรกลก่อสร้าง ซึ่งจากงานวิจัยของสำนักบริหารวิจัยและนวัตกรรมเมืองอัจฉริยะ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง พบว่าปริมาณฝุ่น PM 2.5 มีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้นอย่างมากในกรุงเทพฯ โดยเฉพาะบริเวณที่มีโครงการก่อสร้าง

ถึงแม้ฝุ่นละอองที่เกิดจากการก่อสร้างโดยตรง จะเป็น PM 10 ที่มีอนุภาคใหญ่กว่า แต่การก่อสร้างย่อมมีการขนส่งที่ใช้รถบรรทุกจำนวนมาก ใช้หลายเที่ยว และยังใช้เครื่องจักรกลก่อสร้างจำนวนมาก ยิ่งการก่อสร้างขนาดใหญ่มากขึ้นเท่าไร ก็จำเป็นต้องใช้รถบรรทุกมากขึ้นเท่านั้น และต้องใช้เครื่องจักรกลมากขึ้นเช่นกัน ซึ่งรถบรรทุกและเครื่องจักรเหล่านี้มีแนวโน้มปล่อยฝุ่นพิษ PM 2.5 ออกสู่อากาศจำนวนมาก

ฝุ่นพิษมีอันตรายมากทำให้เป็นโรคทางเดินหายใจและเสี่ยงต่อการเป็นมะเร็ง ที่น่ากลัวคือความหนาแน่นของฝุ่นพิษจะกระจุกอยู่ในบริเวณใจกลางเมือง ซึ่งเป็นที่ตั้งของโรงเรียนจำนวนมาก ทำให้เด็กนักเรียนลูกหลานคนกรุงเทพฯ กำลังอยู่ในภาวะเสี่ยงระดับรุนแรง

กรุงเทพฯ ไม่เคยหลุดพ้นจากวังวนปัญหามลพิษ มีแต่จะรุนแรงมากขึ้น ผมยังจำเมื่อครั้งเรียนมหาวิทยาลัย ยังจำ ดร.พิจิตต รัตตกุล ท่านผู้ว่าฯ กทม. ในยุคนั้น ประกาศห้ามรถควันดำเข้ามาในกรุงเทพฯ อย่างเด็ดขาด ได้ใจเด็กนั่งรถเมล์อย่างผมและพลเมืองอีกนับล้านคน ที่รู้สึกเสมอว่าถูกรังแก เพราะยืนรอรถเมล์ เดินบนทางเท้า ก็ถูกเจ้าของรถที่ไม่รับผิดชอบปล่อยควันพิษใส่หน้าอยู่ทุกวี่วัน แต่หลังจากยุคนั้นการประกาศสงครามต่อสู้กับมลภาวะกรุงเทพฯ ได้เลือนหายไป ทำให้คนกรุงเทพฯ ยังคงต้องรับกรรมเช่นเดิม

ผมเคยเสนอเรื่องฝุ่นพิษไปตั้งแต่เดือน ก.พ.แล้วว่า ปัญหามลภาวะและฝุ่นพิษแก้ไขให้เบาบางลงได้ ประการแรกต้องมีมาตรการคุมเข้มพื้นที่โครงการก่อสร้างที่มีอยู่ทั่วกรุงเทพฯ ด้วยการบังคับใช้กฎหมาย ตรวจจับรถบรรทุกควันดำที่เข้าเมือง และตรวจสภาพเครื่องจักรกลก่อสร้างให้ได้มาตรฐาน จำกัดการปล่อยมลภาวะในต่างประเทศอย่าว่าแต่ฝุ่นพิษเลย แม้แต่ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ที่มีอันตรายต่อสุขภาพเช่นกันแต่น้อยกว่า PM 2.5 ยังควบคุมกันอย่างจริงจังเป็นรูปธรรม ทั้งด้วยการปรับหนักและมาตรการทางภาษี

ประการที่สอง ต้องติดตั้งเครื่องมอนิเตอร์วัดปริมาณฝุ่นและรายงานผลบริเวณจุดเสี่ยงทั่วกรุงเทพฯ ปัจจุบันราคาอุปกรณ์ไม่สูง ชาวบ้านจะได้รับรู้สถานการณ์ ทั้งยังเป็นการป้องปรามโครงการก่อสร้าง ทำให้ผู้รับผิดชอบต้องดำเนินการแก้ไขทันที เพราะกลัวถูกประจานว่าเป็นต้นเหตุทำร้ายสุขภาพพลเมืองและด้วยเทคโนโลยีอินเทอร์เน็ตในปัจจุบันยังสามารถรายงานผ่านโทรศัพท์มือถือได้ทันทีทันใด พร้อมทั้งแจ้งเตือนประชาชนผู้สัญจรผ่านพื้นที่ฝุ่นพิษหนาแน่นให้ได้ป้องกันสุขภาพตนเองด้วยการหลบเลี่ยง หรือใช้ผ้าปิดจมูกที่เหมาะสม

หนทางแก้ไขสองประการนี้ เป็นหน้าที่ของกรุงเทพฯ อย่าให้คนกรุงเทพฯ ที่เป็นทุกข์อยู่แล้ว ต้องทุกข์ทุกฤดูกาล คือ ฤดูฝนก็ทุกข์จากน้ำท่วม เพราะกรุงเทพฯ จมน้ำ ฤดูแล้งก็ทุกข์จากมลพิษ เพราะกรุงเทพฯ จมฝุ่น ช่วยกันทำเพื่อลูกหลานเถอะครับ