posttoday

รวมกันเราอยู่

17 ธันวาคม 2561

การอยู่อย่างโดดเดี่ยวของมหาวิทยาลัยเพียงแค่ภายในประเทศเป็นหนทางสู่ความอับเฉาของอุดมศึกษา และไม่พ้นสูญพันธุ์ในที่สุด

การอยู่อย่างโดดเดี่ยวของมหาวิทยาลัยเพียงแค่ภายในประเทศเป็นหนทางสู่ความอับเฉาของอุดมศึกษา และไม่พ้นสูญพันธุ์ในที่สุด

********************

โดย...ศ.ดร.สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ ประธานสถาบันนวัตกรรมชุมชนอัจฉริยะ และอธิการบดี สจล

ถือเป็นเกียรติของประเทศไทย และวงการการศึกษาไทยอย่างยิ่ง เมื่อที่ประชุมใหญ่สมาคมสถาบันการศึกษาขั้นอุดมแห่งภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หรือ The Association of Southeast Asian Institutions of Higher Learning (ASAIHL) เลือกตัวแทนจากประเทศไทยให้ดำรงตำแหน่งประธาน ของสมาคมอุดมศึกษาระดับภูมิภาคที่มีอายุเก่าแก่ถึง 63 ปี และมีสมาชิกมากที่สุดแห่งหนึ่งในโลก

นอกจากประเทศในอาเซียนแล้ว ยังมีสมาชิกจากมหาวิทยาลัยชั้นนำในยุโรป จีน ญี่ปุ่น ไต้หวัน ฮ่องกง หรือแม้แต่ตะวันออกกลาง หลายมหาวิทยาลัยล้วนมีชื่อเสียงเป็นที่ยอมรับระดับโลก เช่น มหาวิทยาลัยมงเปอลิเย อายุ 800 ปี จากฝรั่งเศส มหาวิทยาลัยวอร์ซอ อันดับหนึ่งของโปแลนด์ มหาวิทยาลัยแห่งชาติสิงคโปร์ และมหาวิทยาลัยนานยาง ท็อปเท็นของโลกจากสิงคโปร์

มหาวิทยาลัยแห่งชาติไต้หวัน อันดับหนึ่งของไต้หวัน มหาวิทยาลัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีฮ่องกง สุดยอดมหาวิทยาลัยนวัตกรรมของฮ่องกง และมหาวิทยาลัยไอเอยู แห่งอิหร่าน ซึ่งเป็นเครือข่ายมหาวิทยาลัยเอกชนที่ใหญ่ที่สุดในโลก มีนักศึกษามากถึง 1.5 ล้านคน จาก 500 วิทยาเขตทั้งในและนอกประเทศ รวมถึงมหาวิทยาลัยชั้นนำในฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย มาเลเซีย และประเทศไทย

วันนี้ในยุคดิสรัปชั่น ยุคที่มหาวิทยาลัยไม่ว่าจะเก่าแก่ หรือเคยมีชื่อเสียงแค่ไหนก็ตาม กำลังประสบปัญหารุนแรง ทั้งเรื่องจำนวนนักศึกษาที่ลดน้อยลง การเรียนออนไลน์ที่ให้ทุกคนเข้าถึงได้ทุกที่ทุกเวลา โดยไม่จำเป็นต้องไปเรียนในห้องเรียน การที่เด็กยุคใหม่ไม่สนใจเรียนระดับมหาวิทยาลัย เนื่องจากไม่ตอบโจทย์ชีวิตอิสระ เชื่อว่าประสบการณ์ชีวิตจริงอาจสำคัญมากกว่า และศรัทธาต่อมหาวิทยาลัยก็ไม่ได้เหมือนเมื่อก่อน ที่การได้รับปริญญาคือสิ่งสูงค่าในชีวิต รวมทั้งความเชื่อถือมหาวิทยาลัยว่าเป็นที่รวมแห่งความรู้ทุกศาสตร์ทุกสาขา ก็คงไม่เหมือนเดิม

การอยู่อย่างโดดเดี่ยวของมหาวิทยาลัยจำกัดเฉพาะตัวเอง หรือเพียงแค่ภายในประเทศเท่านั้น เป็นหนทางสู่ความอับเฉาของการอุดมศึกษา เพราะจะวนเวียนอยู่กับปัญหาเดิมๆ วิธีคิดเดิมๆ การแก้ปัญหาสไตล์เดิมๆ คงไม่พ้นถูกดิสรัป สูญพันธุ์ในที่สุด

มหาวิทยาลัยชั้นนำในต่างประเทศจึงเห็นความสำคัญของการสร้างเครือข่าย เป็นหนทางเดียวเพื่อความอยู่รอด เพราะช่วยทั้งเรื่องเพิ่มจำนวนนักศึกษา ที่ได้มาจากต่างประเทศที่อาจยังมีมหาวิทยาลัยไม่เพียงพอต่อความต้องการ ให้เข้ามาเติมเต็มส่วนที่ขาดหายไป ได้ประโยชน์กันทุกฝ่าย ยังได้ส่งเสริมด้านการวิจัยซึ่งกันและกัน เรียนรู้การบูรณาการศาสตร์และศิลป์ข้ามมหาวิทยาลัย ข้ามทวีป สร้างความเปลี่ยนแปลงให้เกิดนวัตกรรม ทำให้นักวิจัยมีเครือข่ายทีมงานวิจัย แลกเปลี่ยนผลลัพธ์ การสร้างสรรค์ร่วมกัน ด้านนักศึกษายังได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้พหุวัฒนธรรม ซึ่งจำเป็นในโลกยุคไร้พรมแดน เพราะยิ่งเรียนรู้ภาษาและวัฒนธรรมต่างชาติมากขึ้นเท่าไหร่ ก็ได้เปรียบมากขึ้นเท่านั้น

ที่สำคัญจะได้โอกาสในการเรียนรู้จากประสบการณ์การแก้ปัญหาจากนานาประเทศ ไม่จำเป็นต้องไปลองผิดลองถูกเองให้เสียโอกาส การผนึกกำลังในสมาคมสถาบันการศึกษาขั้นอุดมแห่งภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (ASAIHL) ด้วยการนำของประธานจากประเทศไทยในปี 2019-2020 จะสร้างประวัติศาสตร์ความร่วมมือระดับภูมิภาคและระดับโลกสู่ประเทศไทย และความสัมพันธ์ภายใต้ ASAIHL ถือเป็นการ “รวมกันเพื่อเราอยู่” ในโลกยุคดิสรัปชั่น

อีกทั้งความสัมพันธ์ทางการศึกษาเป็นความสัมพันธ์ที่สวยงาม เพราะเป็นอิสระจาก การเมือง ศาสนา เพศ และวัฒนธรรมความเชื่อ ทำให้ประชาชนของแต่ละชาติมีความใกล้ชิดกันมากขึ้น ได้ร่วมกันสรรค์สร้างสังคมโลกให้น่าอยู่ยิ่งขึ้น

ดังนั้น เพื่อประโยชน์ของชาติ บทบาทของคนไทยบนเวทีระดับภูมิภาคจึงเป็นเรื่องที่ต้องส่งเสริม และผลักดันแบบสุดๆ อย่าให้เด็กไทยเติบโตมาด้วยการเก่งเฉพาะแต่ในบ้าน แต่ต้องมีจิตวิญญาณในการต่อสู้ระดับโลก เพราะเมื่อได้ไปพบเจอปัญหาที่ใหญ่กว่า ท้าทายกว่า มีความซับซ้อนมากกว่าในระดับภูมิภาคมาแล้ว การกลับมาแก้ปัญหาในประเทศไทยจะง่ายลงไปทันที