posttoday

คิดถึง "ดร.สุรินทร์"

03 ธันวาคม 2561

ศ.ดร.สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์

"ดร.สุรินทร์"มีวิสัยทัศน์ให้เรามองกรุงเทพฯ คือ “ประตูสู่อาเซียน” ดังนั้นการบริหารและจัดการจึงต้องมองไปให้ไกลและให้ใหญ่กว่าแค่เมือง

***************************

โดย...ศ.ดร.สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ ประธานสถาบันนวัตกรรมชุมชนอัจฉริยะ และอธิการบดี สจล.

30 พ.ย. ครบรอบ 1 ปีที่ ดร.สุรินทร์ พิศสุวรรณ อดีตเลขาธิการอาเซียนถึงแก่อนิจกรรม ผมไม่เคยลืม ดร.สุรินทร์ และยังจำวันที่ท่านเชิญคุยเพื่อแลกเปลี่ยนแนวความคิดเมื่อวันที่ 13 พ.ย. 2560 ท่านคุยกับผมหลายเรื่อง ตั้งแต่เรื่องการศึกษา เรื่องเทคโนโลยี และเรื่องกรุงเทพมหานคร ผมยังจำรอยยิ้ม ยังจำอารมณ์ขัน ยังจำใบหน้าของผู้ใหญ่ที่เปี่ยมไปด้วยความเมตตาและความจริงใจ ให้เกียรติ และฟังคนรุ่นใหม่อย่างตั้งใจจริง ไม่มีวันลืม

ดร.สุรินทร์ กรุณาเขียนถึงผมในเฟซบุ๊กของท่านในวันที่ 14 พ.ย. 2560 ว่า “ผม (ดร.สุรินทร์) และ ดร.เอ้ (สุชัชวีร์) มีสิ่งหนึ่งที่เหมือนกัน คือ ความเป็นเด็กต่างจังหวัดและพยายามเรียนให้ดีที่สุด มุ่งมั่นพยายามทำสิ่งที่เป็นประโยชน์ต่อประเทศชาติ บ้านเกิด” ผมคงมิอาจเทียบได้กับท่านอาจารย์สุรินทร์ได้เลยแม้แต่น้อย แต่สิ่งที่ท่านสื่อมีเจตนาเพียงแสดงให้เห็นถึง “ความเชื่อมั่นในพลังของคนรุ่นใหม่” เชื่อมั่นว่าประเทศและโลกจะต้องพัฒนาด้วยความคิดใหม่ๆ และวิธีการใหม่ๆ ท่านยังนัดกับผมว่า จะมาเยี่ยมชมงานวิจัยและนวัตกรรมทางการศึกษา เช่น มหาวิทยาลัยซีเอ็มเคแอล ที่ร่วมกับมหาวิทยาลัยคาร์เนกี้เมลลอน สุดยอดของโลกด้านวิศวกรรมคอมพิวเตอร์และ AI และโรงเรียนสาธิตนานาชาติพระจอมเกล้า ที่สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) ในต้นเดือน ธ.ค. 2560 แต่แล้วท่านก็มาจากพวกเราไปเสียก่อน

ดร.สุรินทร์ และผมต่างก็เป็นลูกครู และเราก็เป็นครู เพราะท่านเคยเป็นอาจารย์และผู้บริหารหนุ่มที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ก่อนตัดสินใจลงสู่สนามการเมือง จนเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ เป็นเลขาธิการอาเซียน เราจึงเชื่อมั่นว่าการศึกษาสามารถเปลี่ยนแปลงชีวิตคนได้ หากลูกหลานคนไทยไม่ว่าจะอยู่ที่ไหน นับถือศาสนาใด หากมีโอกาสเข้าถึง “การศึกษาที่มีคุณภาพ” ก็จะสามารถยกระดับคุณภาพชีวิตตนเองและครอบครัวได้

ดร.สุรินทร์ ห่วงลูกหลานคนกรุงเทพฯ ที่มีจำนวนมหาศาล ที่แม้ได้เรียนฟรีในโรงเรียนสังกัด กทม. ที่มีถึง 537 โรงเรียน ซึ่งมีนักเรียนกว่า 2 แสนคน แต่มิได้การันตีว่าจะได้รับการเรียนการสอนหรือได้วิชาความรู้ที่มีคุณภาพ เพราะคะแนนวัดผลความรู้ก็ต่ำที่สุดในประเทศไทย ต่ำกว่าโรงเรียนในต่างจังหวัดที่ห่างไกลด้วยซ้ำไป แบบนี้พลเมืองในกรุงเทพฯ จะมีคุณภาพชีวิตที่ดีได้อย่างไร หากเรายังไม่แก้ปัญหาการศึกษาของกรุงเทพมหานคร

ดร.สุรินทร์ สนใจเรื่อง Smart City หรือนวัตกรรมเมืองอัจฉริยะ ท่านเห็นปัญหาซ้ำซากของกรุงเทพฯ ทั้งน้ำท่วม รถติด มลพิษ ปัญหาสุขภาพ และปัญหาความปลอดภัย หากยังทำแบบเดิมๆ ก็คงไม่สามารถแก้ปัญหาให้ดีขึ้นได้ ท่านเชื่อว่าเทคโนโลยีและนวัตกรรมเท่านั้น คือหนทางแก้ปัญหาในยุคนี้ ท่านได้เห็นกรณีศึกษาในต่างประเทศ ซึ่งก็เคยพบเจอปัญหาเช่นเดียวกับกรุงเทพฯ แต่ก็แก้ปัญหาได้ด้วยความรู้ ความเข้าใจ จึงรู้จักใช้เทคโนโลยีที่เหมาะสมในการจัดการ ท่านได้ถามผมในเชิงลึก เชิงวิเคราะห์ และเชิงเปรียบเทียบ อย่างละเอียดที่สุด

ดร.สุรินทร์ ยังมีวิสัยทัศน์ให้เรามองกรุงเทพฯ คือ “ประตูสู่อาเซียน” ดังนั้นการบริหารและจัดการกับกรุงเทพฯ จึงต้องมองไปให้ไกลและให้ใหญ่กว่าแค่เมือง เพราะการแก้ปัญหาและพัฒนาเมือง ต้องเชื่อมโยงถึงประเทศ ถึงภูมิภาค ถึงทวีป และถึงทั้งโลก เนื่องจากปัจจุบันทุกสิ่งอย่างล้วนเชื่อมโยง สัมพันธ์กันโดยสมบูรณ์ หากวิสัยทัศน์ยังถูกจำกัดแค่เมือง ก็จะไม่สามารถหาวิธีการบริหารจัดการได้อย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด ตามแก้ปัญหารุกเร้าที่มาจากทุกทิศทางไม่ทัน

ถ้าเราสามารถเปลี่ยนกรุงเทพฯ ได้ ก็จะนำพาให้เกิดการเปลี่ยนแปลงระดับประเทศ และระดับภูมิภาคได้ไม่ยาก แนวความคิดที่ทันสมัยและทรงพลังแบบคนหนุ่มรุ่นใหม่ของท่าน เป็นตัวอย่างให้ผมและคนไทยทุกคนไม่มีวันลืม ดร.สุรินทร์ พิศสุวรรณ