posttoday

ปฏิเสธการรักษาเท่ากับฆ่าคนตายโดยเจตนา

15 พฤศจิกายน 2561

การที่โรงพยาบาลปฏิเสธการรักษา เท่ากับการกระทำโดยงดเว้นตามกฎหมายและน่าจะต้องรับผิดในผลความตายของผู้ป่วย ในความผิดฐานฆ่าคนตายโดยเจตนา

การที่โรงพยาบาลปฏิเสธการรักษา เท่ากับการกระทำโดยงดเว้นตามกฎหมายและน่าจะต้องรับผิดในผลความตายของผู้ป่วย ในความผิดฐานฆ่าคนตายโดยเจตนา

**********************************

โดย...เดชา กิตติวิทยานันท์ ทนายคลายทุกข์

การกระทำโดยการงดเว้นตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 59 วรรคท้าย คือการให้เกิดผลอันใดอันหนึ่งขึ้น โดยงดเว้นการที่จักต้องกระทำเพื่อป้องกันผลนั้น

ส่วนการละเว้น เป็นการไม่กระทำตามหน้าที่ที่ต้องกระทำเพื่อป้องกันผล ซึ่งอาจเป็นหน้าที่ตามที่กฎหมาย หน้าที่ที่เกิดจากการกระทำครั้งก่อนๆ ของตน หรือหน้าที่ที่เกิดจากความสัมพันธ์พิเศษเฉพาะเรื่อง

ความเห็นส่วนตัวผมเห็นว่าการที่โรงพยาบาลปฏิเสธการรักษา เท่ากับการกระทำโดยงดเว้นตามกฎหมาย เพราะโรงพยาบาลมีหน้าที่ต้องรับผู้ป่วยฉุกเฉินไว้รักษาตามความจำเป็นและข้อบ่งชี้ทางการแพทย์

ตามกฎหมายโรงพยาบาลน่าจะต้องรับผิดในผลความตายของผู้ป่วย ในความผิดฐานฆ่าคนตายโดยเจตนา คดีนี้อยากให้เป็นอุทาหรณ์สำหรับกระทรวงสาธารณสุขว่าจะต้องมีมาตรการในการป้องกันมิให้โรงพยาบาลปฏิเสธการรักษาผู้ป่วยฉุกเฉิน

ผมฟังคำให้สัมภาษณ์ของหมอโรงพยาบาลดังกล่าวแล้วตีความเรื่องผู้ป่วยวิกฤตไม่ตรงกัน

ดังนั้น คดีนี้จะต้องทำให้เป็นคดีตัวอย่างนะครับ กระทรวงสาธารณสุขว่าจะเอาอย่างไรกันต่อไป เพราะหลักประกันสุขภาพสำหรับคนไทยนั้นถือเป็นเรื่องสำคัญมาก โดยเฉพาะคนจนที่ชีวิตไม่มีทางเลือก

คำพิพากษาฎีกาอ้างอิงเกี่ยวกับการกระทำโดยงดเว้น

1.คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2210/2544

แม้ข้อเท็จจริงจะฟังได้ว่า จุดที่จำเลยจอดรถและเกิดเหตุชนกันอยู่ในไหล่ทางด้านซ้ายของถนน ในลักษณะที่ไม่กีดขวางการจราจรแล้วก็ตาม แต่การที่จำเลยจอดรถในเวลามืดค่ำ โดยไม่ได้เปิดไฟหรือใช้แสงสว่างตามที่กำหนดในกฎกระทรวง เพื่อเป็นสัญญาณให้ผู้ขับขี่มองเห็นรถที่จอดอยู่ จนเป็นเหตุให้ผู้ตายขับรถจักรยานยนต์พุ่งเข้าชนท้ายรถคันที่จำเลยจอด ทำให้ผู้ตายถึงแก่ความตาย อันเป็นผลจากความประมาทของจำเลย

ไม่ว่าจะฟังว่าผู้ตายมีส่วนประมาทอยู่ด้วยก็ตาม ก็ต้องถือว่าเหตุที่ผู้ตายถึงแก่ความตายเกิดเพราะความประมาทของจำเลยด้วย จึงเป็นผลโดยตรงที่เกิดจากความประมาทของจำเลย ที่งดเว้นการที่จักต้องกระทำเพื่อป้องกันผลนั้น หาใช่ผลที่เกิดขึ้นโดยตรงจากการขับรถของจำเลยไม่

จำเลยจึงไม่มีความผิดฐานขับรถโดยประมาทตามพระราชบัญญัติจราจรทางบกฯ มาตรา 43(4), 157 คงผิดฐานกระทำโดยประมาท เป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตายตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 291

ความผิดฐานขับรถในทาง ซึ่งก่อให้เกิดความเสียหายแก่บุคคลหรือทรัพย์สินของผู้อื่น แล้วไม่หยุดรถและให้ความช่วยเหลือตามสมควรตามพระราชบัญญัติจราจรทางบกฯ

มาตรา 78 กำหนดให้ผู้ขับรถในทาง ซึ่งก่อให้เกิดความเสียหายแก่บุคคลหรือทรัพย์สินของผู้อื่นต้องหยุดรถและให้ความช่วยเหลือตามสมควร พร้อมทั้งแสดงตัวและแจ้งเหตุต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ที่ใกล้เคียงทันที ไม่ว่าจะเป็นความผิดของผู้ขับขี่หรือไม่ก็ตาม

แต่ผู้ขับรถที่จะถือว่าเป็นผู้ก่อให้เกิดความเสียหาย จะต้องเป็นผู้ขับรถที่กำลังแล่นอยู่ หาใช่กรณีผู้ขับรถที่จอดรถอยู่หรือหยุดรถอยู่หรือไม่ จึงถือไม่ได้ว่าจำเลยเป็นผู้ก่อให้เกิดความเสียหายอันจะเป็นความผิดตามพระราชบัญญัติจราจรทางบกฯ มาตรา 78

2.คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1909/2516

จำเลยขับรถยนต์บรรทุกเสาไฟฟ้าโดยใช้ล้อพ่วง เมื่อล้อรถพ่วงหลุดทำให้เสาตกลงมาขวางถนน จนกระทั่งค่ำแล้วจำเลยก็ไม่ได้จัดให้มีโคมไฟหรือเครื่องสัญญาณอย่างอื่น เพื่อให้ผู้ใช้ถนนเห็นเสาที่ขวางถนนอยู่นั้น เป็นเหตุให้รถที่แล่นมาชนเสา มีคนตายและบาดเจ็บ ถือได้ว่าจำเลยกระทำโดยประมาท และผลเสียหายเกิดขึ้นจากการที่จำเลยงดเว้นการที่จักต้องกระทำเพื่อป้องกันผลนั้นได้ แต่หากกระทำไม่ จำเลยจึงมีความผิด

3.คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 16412/2555

วันเวลาเกิดเหตุจำเลยพาผู้เสียหายที่ 2 ซึ่งเป็นหญิงคนรักนั่งซ้อนท้ายรถจักรยานยนต์ ระหว่างทางได้เกิดอุบัติเหตุรถจักรยานยนต์ที่จำเลยขับล้มลงทำให้ผู้เสียหายที่ 2 ตกจากรถจักรยานยนต์ได้รับอันตรายสาหัสนอนหมดสติในพงหญ้าข้างทาง แล้วจำเลยหลบหนีไม่ให้ความช่วยเหลือ ทิ้งให้ผู้เสียหายที่ 2 นอนหมดสติในที่เกิดเหตุเป็นเวลานานถึง 8 วัน และไม่แจ้งให้ผู้เสียหายที่ 1 ซึ่งเป็นมารดาทราบ จนมีผู้ไปพบผู้เสียหายที่ 2

จำเลยย่อมเล็งเห็นผลได้ว่า การงดเว้นไม่ให้ความช่วยเหลือ ผู้เสียหายที่ 2 อาจถึงแก่ความตายได้ เมื่อผู้เสียหายที่ 2 ไม่ถึงแก่ความตาย จำเลยจึงมีความผิดฐานพยายามฆ่าผู้อื่นตาม ป.อ. มาตรา 288 ประกอบมาตรา 80 และมาตรา 59 วรรคท้าย

ประมวลกฎหมายอาญา

มาตรา 59 บุคคลจะต้องรับผิดในทางอาญาก็ต่อเมื่อได้กระทำโดยเจตนา เว้นแต่จะได้กระทำโดยประมาท ในกรณีที่กฎหมายบัญญัติให้ต้องรับผิดเมื่อได้กระทำโดยประมาท หรือเว้นแต่ในกรณีที่กฎหมายบัญญัติไว้โดยแจ้งชัดให้ต้องรับผิดแม้ได้กระทำโดยไม่มีเจตนา

กระทำโดยเจตนา ได้แก่ กระทำโดยรู้สำนึกในการที่กระทำ และในขณะเดียวกันผู้กระทำประสงค์ต่อผล หรือย่อมเล็งเห็นผลของการกระทำนั้น

ถ้าผู้กระทำมิได้รู้ข้อเท็จจริงอันเป็นองค์ประกอบของความผิด จะถือว่าผู้กระทำประสงค์ต่อผล หรือย่อมเล็งเห็นผลของการกระทำนั้นมิได้

กระทำโดยประมาท ได้แก่ กระทำความผิดมิใช่โดยเจตนา แต่กระทำโดยปราศจากความระมัดระวัง ซึ่งบุคคลในภาวะเช่นนั้นจักต้องมีตามวิสัยและพฤติการณ์ และผู้กระทำอาจใช้ความระมัดระวังเช่นว่านั้นได้ แต่หาได้ใช้ให้เพียงพอไม่

การกระทำ ให้หมายความรวมถึงการให้เกิดผลอันหนึ่งอันใดขึ้นโดยงดเว้นการที่จักต้องกระทำเพื่อป้องกันผลนั้นด้วย

ภาพ...เอเอฟพี