posttoday

ครึ่งคน ครึ่งรถ

12 พฤศจิกายน 2561

การตั้งเป้าหมายให้กทม. เป็นเมืองที่คนมีทางเดินเท้า 50% และรถมีพื้นที่ 50% หรือ “ครึ่งคน ครึ่งรถ” เป็นไปได้ หากเริ่มทำกันจริงจัง

การตั้งเป้าหมายให้กทม. เป็นเมืองที่คนมีทางเดินเท้า 50% และรถมีพื้นที่ 50% หรือ “ครึ่งคน ครึ่งรถ” เป็นไปได้ หากเริ่มทำกันจริงจัง

*****************************

โดย...ศ.ดร.สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ ประธานสถาบันนวัตกรรมชุมชนอัจฉริยะและอธิการบดี สจล.

มาเยือนฝรั่งเศสเที่ยวนี้ ผมเดินทางไปหลายเมือง ตั้งแต่ปารีส (Paris) บอร์กโดซ์ (Bordeaux) ตูลูส (Toulouse) มงเปอลีเย (Montpellier) คานส์ (Cannes) นิช (Nice) และโมนาโก (Monaco) ทุกเมืองมีความเปลี่ยนแปลงอย่างชัดเจน คือ มีการปรับปรุงขยายพื้นที่สาธารณะ และการก่อสร้างระบบขนส่งมวลชนเพิ่มขึ้น

ยกตัวอย่างเมืองตูลูส ศูนย์กลางอุตสาหกรรมการบินของโลก ที่ตั้งสำนักงานใหญ่บริษัทผลิตเครื่องบินแอร์บัส (Airbus) นายกเทศมนตรีประกาศก้องจะเพิ่มทางเดินเท้า และเพิ่มพื้นที่สาธารณะขึ้นเป็นอย่างน้อย 50% ของพื้นที่ทั้งหมด

เช่นเดียวกับทุกเมืองในฝรั่งเศส จะสังเกตเห็นทางเท้ากว้างเท่ากับถนน หลายแห่งยังใหญ่กว่าถนนด้วยซ้ำ เช่น ถนนฌ็องเซลิเซ่ (Champs Elysees) ใจกลางกรุงปารีส ซึ่งถือเป็นถนนที่โด่งดังที่สุดเส้นหนึ่งของโลก ทางเท้าใหญ่กว้างขวางจริงๆ ทั้งพลเมืองและนักท่องเที่ยวเดินกันสะดวกสบาย มีความสุข ช่วยส่งเสริมเศรษฐกิจของร้านค้าในพื้นที่ เพราะคนจำนวนมากสามารถเดินเท้าเข้าถึงได้ทุกพื้นที่

ถนนฌ็องเซลิเซ่ยังเป็นต้นแบบของถนนชั้นนำทั่วโลก ให้สร้างพื้นที่ทางเท้ามากขึ้น เพราะกรุงปารีสเมืองหลวงของฝรั่งเศส ได้ให้ความสำคัญกับการเดินเท้ามากที่สุด โดยมีสถิติคนเดินเท้าถึง 60% ของการเดินทางทั้งหมด ขณะที่เดินทางโดยรถยนต์เพียง 7% เท่านั้น สมกับมีวิสัยทัศน์ “ปารีสเมืองคนเดิน”

กรุงเทพฯ เมืองใหญ่และงดงามไม่เป็นรองปารีส หากกล้าจินตนาการดูว่า ถนนเพลินจิต ถนนพระราม 1 ถนนพระราม 4 ถนนสาทร ถนนสีลม ถนนรัชดาภิเษก ต้องปรับให้เป็นถนนคนเดินเท้า

อย่าเพิ่งรีบปฏิเสธว่า “เมืองไทยร้อน เดินไม่ได้หรอก” จะว่าไปแล้วสิงคโปร์ก็ร้อนไม่แพ้กรุงเทพฯ ยังปรับเมืองเป็นเมืองคนเดินเท้าได้ และอากาศร้อนก็ยังไม่ทรมานเท่ากับอากาศหนาวเย็นระดับติดลบในโลกตะวันตก ซึ่งก็ยังสร้างเป็นเมืองคนเดินเท้าได้

จากสี่แยกถนนวิทยุตรงห้างสรรพสินค้าเซ็นทรัลเอ็มบาสซี ถึงเซ็นทรัลเวิลด์แยกราชประสงค์ ผ่านสยามพารากอนมาจนถึงมาบุญครอง สี่แยกปทุมวัน ระยะทางเพียง 1.5 กม.เท่านั้น แต่เดินเท้าลำบากมาก เพราะมีของจากไหนไม่รู้ระเกะระกะไปหมด แถมมีรถจักรยานยนต์วิ่งขึ้นบนทางเท้าเป็นเรื่องปกติ

แต่ก็ไม่ยากที่จะแก้ปัญหา หากเริ่มทำบนเส้นทางเพลินจิตสำเร็จ จะเกิดผลในทางบวกมหาศาล เพราะเป็นศูนย์กลางทั้งห้างสรรพสินค้า สำนักงาน แหล่งท่องเที่ยว อีกทั้งเป็นจุดที่รถหนาแน่นที่สุดแห่งหนึ่งในกรุงเทพฯ

เมื่อคนเดินเท้าได้สะดวก จะช่วยบรรเทาปัญหาการจราจรได้ไม่น้อย ทั้งสร้างทัศนคติใหม่ว่า “กรุงเทพฯ เมืองนี้ ก็เดินได้” เป็นตัวอย่างให้เกิดถนนคนเดินเท้าได้ทั่วกรุงเทพฯ

ขณะที่การใช้ทางเดินเท้าร่วมกับร้านค้าก็ทำได้ กรุงปารีสก็มีร้านอาหารที่เรียกว่า Paris Cafe ที่ผู้คนนิยมออกมารับประทานอาหารนอกร้านบนทางเดิน เป็นเอกลักษณ์ของปารีส

ยุโรปยังกล้าพัฒนาเรื่องเมืองคนเดินเท้าไปอีกขั้น โดยเริ่มในเนเธอร์แลนด์ ก่อนมาใช้ในเมืองอื่น คือ การใช้ถนนร่วมกับคนจริงๆ หมายถึง ถนนไม่มีทางเท้า ทางเท้าคือถนน เพราะทางเท้าถูกทุบออกให้คนกับรถใช้พื้นที่เดียวกัน ไม่มีสัญญาณไฟจราจร ไม่มีทางม้าลาย อะไรจะสุดโต่งขนาดนี้ ใครจะเชื่อว่าทำได้จริง คงมีรถชนคนแน่นอน แต่ก็ทำได้ไปแล้ว ปรากฏว่ารถและคนต่างเอื้อเฟื้อกัน อุบัติเหตุก็ลด นี่คือการใช้พื้นที่ร่วมกันของแท้ ยอมรับจริงๆ ว่ากล้ามาก

แม้กรุงเทพฯ อาจยังไม่จำเป็นต้องทำถึงขนาดนั้น แต่อย่างน้อยต้องเริ่มเพิ่มพื้นที่ให้คนได้เดินเท้ามากขึ้น ก็ถือว่าประสบความสำเร็จแล้ว การตั้งเป้าหมายให้กรุงเทพฯ เมืองที่คนมีทางเดินเท้า 50% และรถมีพื้นที่ 50% หรือ “ครึ่งคน ครึ่งรถ” เป็นไปได้ หากเราคิดจะเริ่มทำกันจริงจังในวันนี้