posttoday

ตามมาหาคนเก่ง

22 ตุลาคม 2561

ยุทธศาสตร์ “ตามมาหาคนเก่ง” เป็นก้าวสำคัญของการต่อสู้ในโลกยุคดิสรัปชั่น

ยุทธศาสตร์ “ตามมาหาคนเก่ง” เป็นก้าวสำคัญของการต่อสู้ในโลกยุคดิสรัปชั่น

***********************

โดย...ศาสตราจารย์ ดร.สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ ประธานสถาบันนวัตกรรมชุมชนอัจฉริยะ และอธิการบดี สจล.

มาเยอรมนีครั้งนี้ มาดูงานด้านเทคโนโลยีพลังทดแทนเช่นเคย ไม่แปลกเพราะเยอรมนีเป็นชาติที่มีวิสัยทัศน์มุ่งใช้พลังงานสะอาดทั้งพลังงานไฟฟ้าจากลมและจากแสงอาทิตย์ นักวิจัยทั่วโลกจึงต้องการมาเรียนรู้ที่นี่

แต่ที่แปลกไม่เหมือนกับทุกครั้งที่เคยมา คือ ผมมาดูงานบริษัทจีนที่เยอรมนี ท่านอ่านไม่ผิด เนื่องจากบริษัท หัวเว่ย ยักษ์ใหญ่สัญชาติจีน มาตั้งศูนย์วิจัยนวัตกรรมเทคโนโลยีอัจฉริยะ (Huawei Smart Energy Innovation Center) ที่เมืองนูเรมเบิร์ก (Nuremberg) อยู่ในรัฐบาวาเรีย เหนือนครมิวนิกไปประมาณ 170 กิโลเมตร ใช้เป็นฐานสร้างสรรค์นวัตกรรม ด้านการบริหารจัดการพลังงานจากแสงอาทิตย์ ควบคู่กับการพัฒนาแบตเตอรี่เพื่อกักเก็บพลังงานไฟฟ้า โดยพยายามทำให้การจัดการพลังงานสะอาดมีประสิทธิภาพสูงสุด

ปัจจุบันหัวเว่ยมีนักวิจัยและพัฒนาชาวจีนมากกว่า 8 หมื่นคน ซึ่งถือว่าจำนวนมากที่สุดแห่งหนึ่งในโลก เลยมีคำถามว่าทำไมต้องมาลงทุนสร้างศูนย์วิจัยและพัฒนาที่เยอรมนี คำตอบของผู้บริหารชาวจีน คือ 1.เมื่อเรารู้ว่าเยอรมนีเป็นแนวหน้าด้านพลังงานสะอาด เราจึงต้องตามมาหาคนเก่งให้ถึงที่ และนำวิศวกรจีนเข้าร่วมงาน เพื่อประกบวิศวกรชาวเยอรมัน เรียนรู้ทักษะเชิงลึกให้หมดสิ้น และ 2.วางแผนจะผลิตสินค้า ขายตีตลาดในยุโรปเองเสียเลย ให้รู้ไปว่าบริษัทจีนก็ไม่ธรรมดา ใช้คนเยอรมัน เทคโนโลยีเยอรมัน ทำของแบรนด์จีน ขายในเยอรมัน ให้รู้กันไป วิสัยทัศน์กล้าหาญดีแท้

นโยบายตามมาหาคนเก่ง ยอมย้ายฐานตามคนเก่งไม่ใช่เรื่องแปลกของอุตสาหกรรมชั้นนำ บริษัทโตโยต้าของญี่ปุ่นก็เช่นเดียวกัน มีศูนย์วิจัยและพัฒนาชั้นยอดในยุโรปและอเมริกา โดยโตโยต้าลงทุนมหาศาลตั้งสถาบันวิจัย (Toyota-USA Research Institute) ที่มลรัฐมิชิแกน ถือว่ามาตั้งในหัวใจของอุตสาหกรรมรถยนต์ของสหรัฐอเมริกา เพื่อมุ่งพัฒนาเทคโนโลยีสุดล้ำ เช่น ระบบรถยนต์อัตโนมัติไร้คนขับ โดยร่วมมือกับมหาวิทยาลัยแห่งรัฐมิชิแกนและเอ็มไอทีเพื่อใช้มันสมองของวิศวกรอเมริกัน จากมหาวิทยาลัยชั้นนำในสหรัฐอเมริกา ทำรถขายลูกค้าอเมริกันและทั่วโลก

บริษัท ซัมซุง ของเกาหลีก็ไม่ยอมแพ้ มีหน่วยวิจัยอยู่ในต่างประเทศหลายแห่ง ที่ใหญ่ที่สุดคือสถาบันวิจัยและพัฒนาซัมซุง อินเดีย-บังกาลอร์ (Samsung R&D Institute India-Bangalore, SRI-B) อยู่ที่เมืองบังกาลอร์ เพื่อดึงดูดนักวิจัยชาวอินเดียยอดเก่ง เข้ามาพัฒนานวัตกรรม ด้านระบบคอมพิวเตอร์ มัลติมีเดีย และ AI ที่วิศวกรอินเดียได้ชื่อว่าเก่งสุดยอดของโลก

ยุทธศาสตร์ “ตามมาหาคนเก่ง” จึงเป็นก้าวสำคัญของการต่อสู้ในโลกยุคหักศอก หรือยุคดิสรัปชั่น ที่บริษัทไม่ว่าใหญ่หรือเก่งแค่ไหน หากไม่สามารถพัฒนาล้ำหน้าด้านนวัตกรรมให้โดนใจผู้บริโภค ก็มีโอกาส
สูญพันธุ์ได้เสมอไร้ข้อยกเว้น จึงต้องออกไปแสวงหาคนเก่ง ไม่ว่าจะอยู่ที่ใดในโลกก็ต้องตามไปหาถึงที่

วันนี้ประเทศไทยถือว่าเป็นฐานการผลิตของบริษัทยักษ์ใหญ่มากมายจากทั่วโลก แต่กลับไม่ค่อยมีศูนย์วิจัยและพัฒนาที่นำสมัย ที่มีก็อาจเป็นเพียงระดับพื้นฐาน ไม่ได้เป็นเทคโนโลยีต้นน้ำ การลงทุนก็ไม่สูง บริษัทแม่ก็ไม่ได้นำยอดคนเก่งมาด้วย ทั้งนวัตกรรมล้ำยุคก็ไม่ได้มาทดสอบในไทย คนไทยก็เลยไม่ค่อยได้เรียนรู้ จึงได้แต่ทำงานด้านการผลิตปลายน้ำเป็นหลักเท่านั้นเอง

การให้สิทธิพิเศษสุดๆ ดึงดูดการลงทุนจากบริษัทต่างชาติเป็นเรื่องดี หากยิ่งมุ่งเป้า กล้าผลักดันให้เกิดการสร้างศูนย์วิจัยและพัฒนาที่มาพร้อมกับเงินลงทุน เทคโนโลยี และงานวิจัย ก็จะสร้างโอกาสให้กับคนไทยอย่างประเมินค่ามิได้

เมื่อเขาได้ เราก็ได้ อะไรก็เป็นไปได้