posttoday

บนเส้นทางที่ยาวนานของว่าที่สัตว์สงวน

14 ตุลาคม 2561

สัตว์ทะเลหายากของไทย 4 ชนิดไม่สามารถเป็นสัตว์สงวนได้เพราะกฎหมายปัจจุบันอนุญาตให้ประเทศไทยมีสัตว์สงวนแค่ 15 ชนิด

สัตว์ทะเลหายากของไทย 4 ชนิดไม่สามารถเป็นสัตว์สงวนได้เพราะกฎหมายปัจจุบันอนุญาตให้ประเทศไทยมีสัตว์สงวนแค่ 15 ชนิด

***********************************

โดย...ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ อาจารย์ประจำคณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

ในปี 2558 ผมเป็นสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติจึงเริ่มแคมเปญรณรงค์ผลักดันสัตว์ 4 ชนิด ให้เป็นสัตว์สงวน ได้แก่ วาฬบรูด้า วาฬโอมูระ ฉลามวาฬ และเต่ามะเฟือง โดยกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมให้ความสำคัญ คณะทำงานของกรมทรัพยากรทางทะเลฯ กรมประมง ฯลฯ จึงเริ่มพิจารณาเรื่องสัตว์สงวน 4 ชนิด สัตว์คุ้มครอง 12 ชนิด ก่อนนำเรื่องเสนอต่อคณะกรรมการสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่าแห่งชาติ โดยมีท่าน รัฐมนตรีกระทรวงทรัพย์ฯ เป็นประธาน และลงมติเห็นชอบในการนำเสนอ

ในระหว่างนั้นผมเริ่มแคมเปญรณรงค์ระดมรายชื่อจนได้มากกว่า 5 หมื่นคน ภายในช่วงเวลาสั้นๆ และจัดประชุมวาฬบรูด้า จัดนิทรรศการวาฬแห่งสยามที่สยามสแควร์ ฯลฯ จนท้ายสุด กระทรวงทรัพย์ฯ นำเสนอต่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรี โดยมีมติอนุมัติหลักการ พ.ร.ฎ.กำหนดสัตว์ป่าบางชนิดในเป็นสัตว์สงวน ในวันที่ 21 มิ.ย. 2559 และส่งเรื่องให้สำนักงานกฤษฎีกาดำเนินการเพื่อประกาศเป็นกฎหมาย

ในเดือน ก.ย. 2561 สัตว์ทะเล 12 ชนิด ได้รับประกาศเป็นสัตว์คุ้มครอง แต่พอมาถึงเดือน ต.ค. คณะกรรมการสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่าได้รับแจ้งจากสำนักงานกฤษฎีกาว่าไม่สามารถประกาศสัตว์สงวนทั้ง 4 ชนิดได้ เนื่องจากกฎหมายไม่เปิดช่องให้สามารถแจ้งครอบครอง เพราะเมื่อจะประกาศคุ้มครองสัตว์สักชนิดตามกฎหมายต้องมีประกาศให้แจ้งครอบครอง (มีชีวิต ซาก ฯลฯ) การประกาศสัตว์ทะเลคุ้มครอง 12 ชนิดก็เป็นเช่นนั้น

อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ไม่มีใครทราบเลยคือกฎหมายในส่วนของสัตว์สงวนไม่ได้เปิดช่องทางดังกล่าวไว้ พ.ร.บ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า ปี 2535 ระบุให้มีการแจ้งครอบครองสัตว์สงวนภายใน 60 วัน หลังจาก พ.ร.บ.ประกาศ หมายความว่าระยะเวลา 60 วันดังกล่าวจบไปแล้วตั้งแต่ 26 ปีก่อน และไม่ได้เปิดช่องทางให้ประกาศครอบครองอีกครั้ง

จึงหมายความว่าไม่ใช่เฉพาะสัตว์ทั้ง 4 ชนิด แต่จะเป็นสัตว์ใดก็ตาม หากจะขึ้นบัญชีเป็นสัตว์สงวนก็ไม่สามารถทำได้ หรืออีกนัยหนึ่งกฎหมายปัจจุบันอนุญาตให้ประเทศไทยมีสัตว์สงวนแค่ 15 ชนิด

ที่น่าประหลาดใจคือทุกอย่างผ่านขั้นตอนไปหมดแล้ว แม้แต่กรมทรัพยากรทางทะลฯ กรมอุทยาน สัตว์ป่า และพันธุ์พืช กรมประมง ฯลฯ ท่านปลัดกระทรวง ท่านรัฐมนตรี ตลอดจนคณะรัฐมนตรีที่กรุณาอนุมัติในหลักการตั้งแต่ปี 2559 ไม่มีใครทราบเลยว่ากฎหมายจะไม่เปิดช่องให้ประกาศสัตว์สงวนชนิดใหม่ เพราะทุกคนต่างเข้าใจว่ากฎหมายสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่าย่อมต้องมีเจตนารมณ์อนุรักษ์สัตว์

ทางออกมีเพียงทางเดียวคือการแก้กฎหมาย ผมพอทราบว่าร่าง พ.ร.บ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่ากำลังอยู่ในระหว่างการพิจารณาของคณะกรรมการกฤษฎีกา จึงหวังเป็นอย่างยิ่งว่าทุกท่านจะให้ความกรุณา เพื่อประโยชน์สุขที่จะเกิดกับสัตว์ทั้ง 4 และเพื่อเปิดช่องให้ประเทศไทยมีสัตว์สงวนเพิ่มเติมท่ามกลางสถานการณ์ที่มีความจำเป็นอย่างยิ่ง

ตลอดเวลา 3 ปีเศษที่ผ่านมา ผมยอมรับว่าเหนื่อยมากและเชื่อเสมอว่าเราทำถูกต้องตามขั้นตอนทุกอย่าง ผมยอมรับว่าเสียใจ เพราะทราบว่าแทบทุกคนหวังไว้มาก โดยเฉพาะน้องๆ เด็กทั้งหลายทั้งมวลที่รักวาฬบรูด้า ชอบฉลามวาฬ และเป็นห่วงเต่ามะเฟือง

อย่างไรก็ดี ในการผลักดันครั้งนี้เราประสบความสำเร็จ 3 เรื่อง เราได้สัตว์ทะเลคุ้มครอง 12 ชนิด ที่ประกาศเป็นกฎหมายแล้ว เช่น แมนต้า โรนิน ฯลฯ เราได้ทราบช่องโหว่สำคัญของ พ.ร.บ.สัตว์สงวนสัตว์คุ้มครอง และสุดท้าย เราได้ความรักทะเลอีกมากมายมหาศาล โดยเฉพาะจากน้องๆ ผู้จะเติบโตมาดูแลทะเลไทยต่อไป

ทั้งหมดนี้เราจะไม่ได้อะไรเลยหากเราไม่กล้าก้าวเดิน จึงขอบอกไว้แม้จะเสียใจที่ตอนจบของทางเดินเป็นเช่นนี้ แต่ไม่เคยเสียใจที่ก้าวเดินในวันนั้น เพราะนี่คือการเดินทางครั้งยิ่งใหญ่ที่สุดครั้งหนึ่งของคนรักทะเลรักสัตว์ป่าไทย

บนเส้นทางที่เคยมืดมิด บนเส้นทางที่ไม่เคยมีใครกล้าเดินมา 26 ปี คนกลุ่มหนึ่งเดินไปจนสุดทาง เจอกำแพง และพวกเขาพวกเธอกำลังเอามือทุบกำแพง เพื่อให้เกิดการแก้ไขกฎหมายคุ้มครองสัตว์ป่าสัตว์ทะเลที่ไม่มีหัวใจของการคุ้มครองเช่นนี้ครับ