posttoday

"เรดาร์ตรวจอากาศ" ปัจจัยสำคัญศูนย์การบิน

11 ตุลาคม 2561

ผลของการขาด"เรดาร์ตรวจอากาศ"ทำให้ประสิทธิภาพการควบคุมการจราจรทางอากาศลดลงอย่างมาก

ผลของการขาด"เรดาร์ตรวจอากาศ"ทำให้ประสิทธิภาพการควบคุมการจราจรทางอากาศลดลงอย่างมาก

**********************

โดย...มือสายฟ้า

ได้ยินได้ฟังคีย์แมนเศรษฐกิจของรัฐบาล ประกาศจะปั้นให้ไทยเป็นฮับด้านการบินของอาเซียน ในความเป็นจริงไม่ว่าจะประกาศความเป็นฮับหรือไม่ แต่ในด้านภูมิรัฐศาสตร์ไทยเหมาะสมมากที่สุดที่จะเป็นฮับด้านการบิน ไม่ต้องพูดถึงแค่ระดับอาเซียน ระดับเอเชียหรือระดับโลกเราก็เป็นได้

แต่ภาครัฐโดยเฉพาะในส่วนของรัฐวิสาหกิจต้องขยับตัวและพัฒนาให้จริงจังและเร็วกว่านี้ ในด้านการบินรัฐวิสาหกิจที่มีส่วนสำคัญมากมีอยู่ 3-4 องค์กรที่สำคัญ ในวันนี้จะขอเอ่ยถึงองค์กรที่สำคัญมากๆ องค์กรหนึ่งที่มีบทบาทสำคัญอย่างยิ่งต่อการขับเคลื่อนให้ไทยเป็นฮับของการบินในภูมิภาคนี้ได้อย่างสมบูรณ์แบบ

ผมกำลังจะพูดถึงบริษัท วิทยุการบินแห่งประเทศไทย ครับ ที่มาของบริษัทผมขออนุญาตไม่กล่าวถึง ขอกล่าวสั้นๆ แค่ว่าแรกเริ่มนั้นวัตถุประสงค์เป็นบริษัทที่ไม่หากำไร ตั้งขึ้นมาเพื่อควบคุมดูแลการจราจรทางอากาศในราชอาณาจักร ที่ต้องกล่าวถึงเพราะว่านับตั้งแต่แปรรูปมาเป็นรัฐวิสาหกิจเต็มรูปแบบเมื่อ10 กว่าปีที่ผ่านมา

องค์กรแห่งนี้มีผลประกอบการรวมถึงผลตอบแทนให้กับพนักงานสูงขึ้นมากอย่างก้าวกระโดด แต่ที่ต้องขออนุญาตแสดงความเห็นคือประสิทธิภาพในการทำงานเพิ่มขึ้นอย่างที่ควรจะเป็นหรือไม่ เทียบกับประเทศเพื่อนบ้านในภูมิภาคนี้เช่น มาเลเซีย สิงคโปร์และฮ่องกง บริษัท วิทยุการบินของไทยมีประสิทธิภาพอยู่ในระดับใดยังเป็นข้อสงสัยยิ่งนัก

ถ้ามองที่ผลประกอบการ สิทธิสวัสดิการ สิ่งปลูกสร้างต่างๆ หรือโบนัสที่ให้กับพนักงานในแต่ละปีอาจจะทำให้เราเข้าใจว่าบริษัทวิทยุการบินเป็นรัฐวิสาหกิจที่น่าเชิดหน้าชูตาของประเทศยิ่งนัก แต่ถ้าลองไปฟังเสียงสะท้อนจากผู้ใช้บริการเช่นสายการบินต่างๆ ทั้งในและนอกประเทศอาจจะทำให้ประหลาดใจกับข้อมูลที่ได้รับ

เพราะหากพูดถึงด้านประสิทธิภาพการทำงานแล้ว บริษัทวิทยุการบินของไทยเทียบไม่ได้เลยกับของมาเลเซียหรือสิงคโปร์และฮ่องกง ที่เห็นได้ชัดคือช่วงหน้าฝน การควบคุมและจัดการการจราจรในอากาศทำได้ไม่ดีพอที่จะทำให้ประเทศไทยก้าวขึ้นเป็นฮับการบินของภูมิภาคได้เลย

กล่าวเช่นนั้นเพราะบริษัท วิทยุการบินขาดแคลนเครื่องมือที่จำเป็นอย่างหนึ่งในการควบคุมการจราจรทางอากาศ คือเรดาร์ตรวจอากาศซึ่งมีประสิทธิภาพ ผลของการขาดเครื่องมือดังกล่าวทำให้ประสิทธิภาพการควบคุมการจราจรทางอากาศลดลงอย่างมาก

และหากอยู่ในพื้นที่ควบคุมการขึ้นลงของเครื่องบินรอบๆ สนามบินยังส่งผล กระทบถึงมาตรฐานความปลอดภัยทางด้านการบินด้วย เพราะเมื่อไม่มีเรดาร์ตรวจจับอากาศดังกล่าวพนักงานควบคุมการจราจรทางอากาศก็จะไม่ทราบเลยว่าบริเวณไหนมีกลุ่มเมฆที่เป็นอันตรายเครื่องบินไม่สามารถผ่านได้ ยิ่งถ้าอยู่ในบริเวณเข้า-ออกจากพื้นที่ขึ้นลงของสนามบินเจ้าหน้าที่ควบคุมจะไม่สามารถตัดสินใจได้เลยว่าควรจะให้เครื่องบินบินไปทางไหน ที่ความสูงเท่าใด

ที่ผ่านมาผู้รับบริการคือสายการบินต่างๆ ในส่วนของนักบินต้องอาศัยเรดาร์ตรวจอากาศในเครื่องบินตรวจ จับเองแล้วค่อยขอคำอนุญาตจากผู้ควบคุมการจราจรทางภาคพื้นดินว่าจะไปทิศทางไหนและความสูงเท่าใดเพื่อจะหลบไม่บินผ่านบริเวณที่มีสภาพอากาศที่อาจก่อให้เกิดอันตรายได้ ซึ่งเป็นการแก้ปัญหาเฉพาะหน้าที่ไม่ควรจะเป็น

หากเทียบกับประเทศเพื่อนบ้าน เช่น มาเลเซีย สิงคโปร์ หรือฮ่องกง ซึ่งถือเป็นคู่แข่งในการพัฒนาตัวเองขึ้นมาเป็นฮับการบินของภูมิภาค การควบคุมจราจรทางอากาศของประเทศดังกล่าวในสภาพการบินที่มีมรสุมสามารถทำได้ดีกว่าบ้านเรามาก พนักงานควบคุมสามารถที่จะให้ข้อมูลทั้งขนาด ทิศทาง และความสูงของกลุ่มเมฆที่เครื่องจะบินผ่าน

ผลที่ตามมา นอกจากความปลอดภัยทางด้านการบินแล้วประสิทธิภาพในการควบคุมการจราจรทางอากาศก็จะดีมากยิ่งขึ้นด้วย เพราะในส่วนของผู้ควบคุมการจราจรทางอากาศเองก็สามารถวางแผนและจัดการได้ว่าเครื่องบินที่บินผ่าน เข้าออกบริเวณที่ตัวเองรับผิดชอบนั้นควรจะไปอยู่บริเวณใด ทิศทางไหน ความสูงเท่าไห่รและปริมาณเท่าใด

แต่ที่ปรากฏอยู่ในปัจจุบันเป็นผู้ควบคุมการจราจรเองที่ต้องฟังว่าเครื่องบินต้องการบินไปทางไหน ความสูงเท่าไหร่ ซึ่งหากอยู่ในบริเวณที่การจราจรทางอากาศหนาแน่นเช่นบริเวณขึ้น-ลง เข้าออกรอบๆ สนามบิน การควบคุมเช่นนี้กระทบต่อความปลอดภัยทางด้านการบินมาก เพราะเมื่อผู้ควบคุมไม่มีข้อมูลที่ดีพอก็ไม่ราบว่าจะควบคุมและจัดการการขึ้นลง เข้าออกอย่างไร ควรจะเอาเครื่องที่บินอยู่ ไปบินอยู่บริเวณไหน เพราะหากสั่งให้บินไปในทิศทางที่มีกลุ่มเมฆที่อาจก่อให้เกิดอันตราย นักบินก็ปฏิเสธที่จะบินไปในทิศทางดังกล่าว

การแก้ปัญหาในส่วนของผู้ควบคุมการจราจรทางอากาศที่ใช้บ่อยครั้งก็คือให้เครื่องบินไปบินวนรอในบริเวณที่คาดว่าจะบินวนรอได้ ซึ่งบ่อยครั้งการบินวนรอใช้เวลามากกว่าที่สายการบินต่างๆ คาดการณ์เอาไว้ ทำให้ต้องเปลี่ยนไปลงยังสนามบินสำรองแทน

ที่น่าประหลาดใจก็คือ ผู้หลักผู้ใหญ่พูดถึงวิสัยทัศน์ต่างๆ ในการเตรียมความพร้อมเพื่อที่จะทำให้บริษัท วิทยุการบินแห่งประเทศไทย มีขีดความสามารถในการรองรับการจราจรทางอากาศที่จะมีปริมาณมากถึง 1 ล้านเที่ยวบิน/ปี มีการพูดถึงการพัฒนาและการลงทุนด้านต่างๆ ของบริษัทวิทยุการบินในหลายๆ ด้าน แต่กลับไม่มีการพูดถึงการลงทุนด้านการจัดซื้อและติดตั้งเรดาร์ตรวจอากาศที่ใช้ในการควบคุมการจราจรทางอากาศแต่อย่างใด

ผู้เขียนเคยสอบถามข้อมูลภายในจากเจ้าหน้าที่ผู้ควบคุมการจราจรทางอากาศว่าทุกวันนี้แก้ปัญหาดังกล่าวอย่างไร ได้รับคำตอบว่าอาศัยข้อมูลจากกรมอุตุนิยมวิทยา และข้อมูลเฉพาะหน้าจากนักบินที่กำลังบินอยู่ ซึ่งเป็นคำตอบที่น่าประหลาดใจมากๆ

เพราะข้อมูลที่ได้จากเรดาร์กรมอุตุนิยมวิทยามักจะเป็นข้อมูลที่อาศัยเวลาในการประมวลผลพอสมควรไม่เหมาะกับการบิน อีกทั้งไม่มีความแม่นยำพอทั้งขนาด ตำเหน่งและทิศทางจะใช้แก้ปัญหาเฉพาะหน้าให้กับเครื่องบินที่บินอยู่ในอากาศได้อย่างไร

และเมื่อถามต่อว่าแล้วเมื่อไหร่จะมีการจัดซื้อเรดาร์ตรวจจับอากาศมาใช้คำตอบที่ได้ยินมาตลอดคืออยู่ระหว่างจัดหางบประมาณในการจัดซื้อ ซึ่งหากมองไปที่แผนยุทธศาสตร์ชาติที่ต้องการผลักดันให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการบินระดับภูมิภาคภายในอีกไม่กี่ปีนี้ จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องเร่งรัดให้บริษัทวิทยุการบินแห่งประเทศไทยจัดหาเรดาร์ตรวจอากาศที่ใช้ในการควบคุมการจราจรทางอากาศมาใช้โดยเร็ว

ไม่เช่นนั้นความฝันที่จะทำให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการบินระดับภูมิภาคหรือระดับโลกคงเป็นเพียงความฝันที่ลอยอยู่ในอากาศ