posttoday

ศาสตร์และศิลป์

08 ตุลาคม 2561

แนวคิดการควบรวมสายวิทย์ สายศิลป์ เป็นเรื่องที่ควรทำ เพราะเด็กไทยต้องเติบโตเป็นพลเมืองที่ต้องพร้อมทุกทักษะเพื่อเอาตัวรอด

แนวคิดการควบรวมสายวิทย์ สายศิลป์ เป็นเรื่องที่ควรทำ เพราะเด็กไทยต้องเติบโตเป็นพลเมืองที่ต้องพร้อมทุกทักษะเพื่อเอาตัวรอด

***************************

โดย...ศ.ดร.สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ ประธานสถาบันนวัตกรรมชุมชนอัจฉริยะ และอธิการบดี สจล.

เอ็มไอที (Massachusetts Institute of Technology) มหาวิทยาลัยอันดับ 1 ของโลก เปิดหลักสูตรใหม่ชื่อว่า หลักสูตรวิทยาการคอมพิวเตอร์ เศรษฐศาสตร์ และวิทยาการข้อมูล (Bachelor of Science in Computer Science, Economics and Data Science) ชื่อสุดแสนยาว เป็นความร่วมมือระหว่างสาขาวิศวกรรมไฟฟ้ากับสาขาเศรษฐศาสตร์

เอ็มไอทีได้ทลายกำแพงระหว่างคณะและภาควิชาตั้งแต่เมื่อร้อยกว่าปีที่แล้ว โดยเรียกคณะว่า Course หรือหลักสูตร เช่น Course 1 หมายถึง หลักสูตรทางวิศวกรรมโยธาและสิ่งแวดล้อม Course 6 คือ วิศวกรรมไฟฟ้าและคอมพิวเตอร์ Course 14 คือ สาขาเศรษฐศาสตร์ โดยห้องเรียน ตึกเรียน จะคละกัน ผสมผสานกลมกลืน ไม่รู้สึกเป็นภาคของเธอ คณะของฉัน มีเพียง “มหาวิทยาลัยของเรา” สร้างวัฒนธรรมหลากหลาย สามัคคี ชอบทำงานข้ามสาขา รักการทำงานเป็นทีม

ขณะที่มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดก็ไม่ยอมแพ้ มีคณะศิลปศาสตร์และวิทยาศาสตร์ โดยมิได้แยกศิลป์กับวิทย์ เพราะเชื่อในปรัชญาที่ว่า “ศาสตร์และศิลป์นั้นคู่กัน” แยกกันไม่ได้

แต่ประเทศไทย เราจะแยกสายวิทย์กับสายศิลป์แบบต่างคนต่างเป็น ตั้งแต่มัธยมปลาย เด็กคนไหนไม่ชอบคณิตศาสตร์ ก็ให้ไปเรียนศิลป์ คนไหนเก่งคณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ ก็อดเรียนทางศิลป์ ทางสังคม เพราะหลักสูตรแยกกัน

ระดับอุดมศึกษาไทย ก็มีทั้งวิทยาศาสตร์ วิทยาศาสตร์ประยุกต์ แยกสาขาวิชามากมาย การแยกไม่ใช่ปัญหา แต่ปัญหาคือการแยกแบบต่างคนต่างไป ไม่ทำงานร่วมกัน แบบนี้บัณฑิตไทยจบออกมาก็จะรู้เพียงบางด้าน บางมุม ประกอบร่าง สร้างสิ่งใหม่ไม่ได้

สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง ก็พยายามปรับตัว โดยได้ผนึกกำลังกับสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ หรือนิด้า สร้างหลักสูตรปริญญาตรีควบโทวิศวกรรมการเงิน (Financial Engineering) ดึงจุดแข็งทางวิศวกรรมและเทคโนโลยีของ สจล. กับเศรษฐศาสตร์และบริหารธุรกิจอันเยี่ยมยอดของนิด้า

สิงคโปร์ก็มีวิสัยทัศน์ “สุดโต่งด้านคุณภาพ” เชื่อว่ามนุษย์ในอนาคตคนเดียวต้องทำได้ทุกอย่าง สำหรับคนไทยอาจมองเป็นเรื่องตลก แต่สิงคโปร์ไม่ขำ เอาจริง สร้างมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีและการออกแบบแห่งสิงคโปร์ (Singapore University of Technology and Design, SUTD) ที่มุ่งพัฒนาบัณฑิตให้พร้อมทั้งสมองซีกซ้ายและขวา ต้องเรียนรู้ด้านเทคโนโลยีไฮเทค และต้องออกแบบให้สวยงาม น่าใช้ ขายได้ เหมือนกับที่สตีฟ จ็อบส์ บรรจงผสมผสานวิทย์และศิลป์จนเป็น iPhone ที่คนชื่นชอบใช้กันทั่วโลก

SUTD กล้าให้เด็กปีหนึ่งออกแบบรถไฟความเร็วสูง เริ่มตั้งแต่จินตนาการขีดเขียนเส้นสายประหนึ่งเป็นสถาปนิก จากนั้นขึ้นรูปด้วยดินเหนียวดั่งประติมากร แล้วทดสอบในอุโมงค์ลม ดูอากาศพลศาสตร์เป็นวิศวกรอากาศยาน แล้วออกแบบวัสดุเป็นวิศวกรวัสดุศาสตร์ ก่อนมาออกแบบระบบอาณัติสัญญาณเป็นวิศวกรโทรคมนาคม และออกแบบรางเป็นวิศวกรโยธา ก่อนคำนวณ
ผลตอบแทนทางเศรษฐศาสตร์ แล้ววางแผนธุรกิจเพื่อเสนอขายโปรเจกต์ หากคนสิงคโปร์คนเดียวทำได้ขนาดนี้ แล้วคนไทยจะเอาอะไรไปสู้

โลกอนาคตจะไม่ชนะกันด้วยปริมาณ แต่จะชนะกันด้วยคุณภาพ คนเดียวก็พิชิตโลกได้ สิงคโปร์คิดแบบนี้ แนวคิดควบรวมสายวิทย์ สายศิลป์ ควรทำ เพราะเด็กไทยต้องเติบโตเป็นพลเมืองที่ต้องพร้อมทุกทักษะเพื่อเอาตัวรอด การปล่อยไว้แบบนี้อาจทำให้ไทยยุคหน้าสู้โลกไม่ได้

จึงต้อง “กล้า” ต้องยอม “เจ็บ” เพราะการเปลี่ยนแปลง คนส่วนใหญ่คงไม่ชอบ ต่อต้าน แต่จำเป็น ขึ้นอยู่ว่าเราจะกล้าเปลี่ยนหรือไม่เปลี่ยนเท่านั้นเอง