posttoday

การพัฒนาเมือง : อุตสาหกรรมแห่งอนาคต

23 กันยายน 2561

ตั้งแต่เริ่มพัฒนาสิงคโปร์ "ลีกวนยิว"อ่านขาด ว่าหากสิงคโปร์จะเป็นประเทศที่สร้างคนและจะเป็นที่น่าอยู่น่าทำงาน เพื่อดึงดูดบรรดาบริษัทต่างชาติ และหัวกะทิในโลก

โดย...อาทิตย์ โกวิทวรางกูร เครือข่ายมักกะสัน [email protected]

2015 เป็นปีสำคัญของสิงคโปร์ เพราะเป็นปีฉลองครบ 50 ปีของการก่อร่างสร้างประเทศ ในปีเดียวกันคนสิงคโปร์และชาวโลกร่วมกันไว้อาลัยการจากไปของลีกวนยิว บิดาผู้สร้างสิงคโปร์

ปีนั้นเอง ผมได้อ่าน The Singapore Exception รายงานพิเศษเกี่ยวกับประเทศสิงคโปร์ ในนิตยสารข่าวรายสัปดาห์ที่ทรงอิทธิพลของโลกอย่าง The Economist

มีรายละเอียดเล็กๆ ในเนื้อความ 11 หน้า ที่ต่อจิ๊กซอว์ที่ผมสงสัยในใจมานาน

รายงานส่วนหนึ่งพูดถึงเศรษฐกิจสิงคโปร์ และกล่าวถึง 5 อุตสาหกรรมยุทธศาสตร์ ที่ประเทศให้ความสำคัญว่าเป็น “กลุ่มอุตสาหกรรมเติบโตในอนาคต” (Future Growth Clusters) ได้แก่ (1) Advanced Manufacturing (2) Aerospace and Logistics (3) Applied Health Sciences (4) Financial Services และ (5) Smart Urban Solutions

ผมมาสะดุดตรงตัวที่ห้า คือ Smart Urban Solutions ... นึกในใจว่ามันมีอุตสาหกรรมนี้ด้วยรึ

พลันนั้น ก็นึกย้อนไปถึงภาพลีกวนยิวปลูกต้นไม้เมื่อหลายสิบปีก่อนเพื่อเป็นสัญลักษณ์นำสิงคโปร์ไปสู่ Garden City .. นึกถึงภาพ Marina Bay และ Garden by the Bay ที่กลายเป็นภาพจำใหม่ของสิงคโปร์แทนที่รูปปั้นสิงโตทะเลพ่นน้ำ Merlion .. นึกถึงการยื่นเอาสวนพฤกษศาสตร์แห่งชาติสิงคโปร์เข้าเป็นมรดกโลก (ซึ่งปีนั้นอยู่ในกระบวนการ และปัจจุบันสำเร็จเสร็จตามเป้าไปเรียบร้อยแล้ว) ฯลฯ ซึ่งก็นึกชมในใจเสมอ ว่าองค์ประกอบทั้งหลายในการพัฒนาช่างร้อยเรียงออกมากลมกลืนสอดคล้องกัน

เคยนึกๆ ว่า สิงคโปร์นี่ฉลาด พัฒนาเมืองตัวเองให้ดี แล้วใช้ “ทั้งเมืองเป็นโชว์รูม” ... แล้วพอประเทศอื่น เมืองอื่นได้มาเห็นมาสัมผัส คงอยากชวนสิงคโปร์ไปช่วยพัฒนาเมืองตัวเองด้วย ... พอได้ทราบว่า Smart Urban Solutions เป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมยุทธศาสตร์ของประเทศแล้ว เรื่องทั้งหมดก็สิ้นสงสัย

หลังจากนั้นมา แว่นตาในการมองการพัฒนาเมืองของผมก็เปลี่ยนไป ... เมื่อเริ่มสังเกต เมื่อเริ่มแกะรอย ดูเบื้องข้าง เบื้องหลัง ก็เริ่มเห็นตัวละคร เห็นพล็อตเรื่อง และเห็นชัดว่า “การพัฒนาเมือง” กำลังกลายเป็นหนึ่งในสมรภูมิแห่งการแย่งชิงผลประโยชน์อันมหาศาล ดุเดือดเลือดพล่าน

หากสังเกตพัฒนาการของสิงคโปร์มาตั้งแต่เริ่มแล้ว จะเห็นว่าลีกวนยิวอ่านออกและอ่านขาด ว่าหากสิงคโปร์จะเป็นประเทศที่สร้างคน (ซึ่งเป็นทรัพยากรอย่างเดียวที่สิงคโปร์มี) และจะเป็นที่น่าอยู่น่าทำงาน เพื่อดึงดูดบรรดาบริษัทต่างชาติ และหัวกะทิในโลก ... สิงคโปร์ต้องสร้างสภาพแวดล้อมของเมืองให้บรรลุระดับ “ดีเลิศ” เท่านั้น

ไม่แน่ใจว่า ณ ช่วงแรกๆ นั้น ลีกวนยิวมองเห็นโอกาสในแง่การส่งออกความเชี่ยวชาญและบริการที่เกี่ยวเนื่องกับเมือง แบบที่รัฐบาลวางยุทธศาสตร์อย่างในวันนี้ไหม

ท่านทราบไหมว่า สิงคโปร์ได้ “ให้รางวัล” แก่เมืองต่างๆ ในโลกด้วย

สองสามปีก่อน ผมบังเอิญเจอหนังสือเล่มหนึ่ง คือ Cities in Transformation : Lee Kuan Yew World City Prize

(เฮ่ย อะไรคือ World City Prize ... นี่สิงคโปร์เด็ดขนาดจะไปรับรางวัลเมืองทั้งโลกเลยรึ)

คำบรรยายอย่างเป็นทางการเขียนไว้ว่า “เป็นการให้รางวัลระดับนานาชาติทุกสองปีแก่ outstanding achievements and contributions to the creation of liveable, vibrant and sustainable urban communities around the world.

รางวัลนี้จะมอบให้แก่เมือง ผู้นำ และองค์กร ที่แสดงให้เห็นว่าอ่านอนาคตออก บริหารจัดการได้ดี และมีนวัตกรรมในการจัดการกับปัญหามากมายที่เมืองต้องเผชิญ และสามารถนำมาซึ่งผลประโยชน์ทั้งในเชิงสังคม เศรษฐกิจและสิ่งแวดล้อม ในวิถีทางที่บูรณาการ

รางวัลนี้จะช่วยให้เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ Best Practices ใน Urban Solutions ... โดยให้น้ำหนักกับไอเดียและทางแก้ปัญหาที่ปฏิบัติได้จริง (Practical) และใช้ทรัพยากรได้คุ้มค่าตรงเป้า (Cost Effective)

ด้วยการมอบรางวัลนี้ สิงคโปร์หวังที่จะส่งเสริมตัวอย่างนำทางความคิด และการแลกเปลี่ยนไอเดียระหว่างเมืองต่างๆ เพื่อหนุนให้เกิดนวัตกรรมในการพัฒนาเมืองอย่างยั่งยืน”

การมอบรางวัล The Lee Kuan Yew World City Prize มีสองหน่วยงานเป็นเจ้าภาพร่วม (Co-organised) คือ Urban Redevelopment Authority of Singapore (URA) และ Centre for Liveable Cities (CLC)

URA เป็นหน่วยงานพัฒนาเมืองแบบบูรณาการของสิงคโปร์ ส่วน CLC นั้นน่าสนใจ เพราะกำเนิดขึ้นในปีเดียวกันกับที่มีการริเริ่มรางวัลนี้ขึ้น ปีนั้นคือ 2008 ซึ่งเป็นหมุดหมายสำคัญของประวัติศาสตร์มนุษยชาติ เพราะเป็นปีที่ประชากรโลกเกินกว่าครึ่งหนึ่งเข้ามาอยู่อาศัยในเมือง มากกว่าชนบท

Centre for Liveable Cities (CLC) ถูกตั้งขึ้นเป็นหน่วยงานร่วมของกระทรวงการพัฒนาแห่งชาติ และกระทรวงธรรมชาติและทรัพยากรน้ำ โดยทำหน้าที่เป็นศูนย์ทางด้านนโยบาย (Policy-oriented Centre) เพื่อรวบรวมความเชี่ยวชาญของสิงคโปร์ในด้านการพัฒนาเมืองอย่างยั่งยืน ที่มีหลายองค์ประกอบ (เช่น การกำกับดูแลที่ดี การวางผังเมือง การจัดการทรัพยากรอย่างมีประสิทธิผล สภาพแวดล้อมในการอยู่อาศัยที่มีคุณภาพ ที่อยู่อาศัยราคาไม่แพง และการคมนาคมที่ยั่งยืน) และกระจายอยู่ในภาคส่วนต่างๆ (ในภาครัฐ เอกชน และสถาบันการศึกษา) ให้มารวมอยู่ในที่เดียว

ศูนย์แห่งนี้จะทำช่วยให้เกิดการแบ่งปันความรู้และกรณีศึกษาที่ประสบผลสำเร็จ ระหว่างเมืองต่างๆ ทั้งในภูมิภาค และในระดับโลก

วิสัยทัศน์ (Vision) : Centre of global excellence

ภารกิจ (Mission) : เชื่อมโยงใดๆ จากทุกภาคส่วน และจากสิงคโปร์กับโลก “… to position Singapore as an innovative thought-centre on high-density urban living and sustainable development”

ประโยคสุดท้ายที่ตัดมามันชัดดีครับ ... เพื่อวางตำแหน่งสิงคโปร์ ในฐานะศูนย์กลางความคิดที่มีนวัตกรรม ในการอยู่อาศัยของเมืองความหนาแน่นสูง (อนาคตที่เกิดขึ้นแล้วของมหานครโลก) และการพัฒนาที่ยั่งยืน (ยอดปรารถนาของชาวโลก)

เดาเอาเองว่า โจทย์ คือให้สิงคโปร์เป็นศูนย์กลาง (Hub) ในเรื่องการพัฒนาเมืองอย่างยั่งยืน ... แล้วเมื่อเอาความสำเร็จของสิงคโปร์เปรียบเทียบกับกรณีที่ดีที่สุดจากทั่วโลกแล้ว ... สิงคโปร์ยังต้องโดดเด่น ไม่น้อยหน้าใครในโลกา

แล้วจะไปจ้างใครอื่นได้เล่า