posttoday

บันได 5 ขั้นสู่ไฟฟ้าภาคใต้

16 กันยายน 2561

3คำถามที่ควรตอบให้ได้คือ ภาคใต้ควรมีโรงไฟฟ้าถ่านหินหรือไม่? ถ้าควรมีพื้นที่ไหนจะเหมาะสม?หรือควรมีทางเลือกด้านพลังงานอื่นๆ อีกหรือไม่?

3คำถามที่ควรตอบให้ได้คือ ภาคใต้ควรมีโรงไฟฟ้าถ่านหินหรือไม่? ถ้าควรมีพื้นที่ไหนจะเหมาะสม?หรือควรมีทางเลือกด้านพลังงานอื่นๆ อีกหรือไม่?

************************

โดย...ดร.ธรณ์ ธำรงนาสวัสดิ์ อาจารย์ประจำคณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

เมื่อวันอังคารที่ 4 ก.ย.ที่ผ่านมา เพิ่งมีการประชุมคณะกรรมการกำกับการศึกษาการประเมินสิ่งแวดล้อมระดับยุทธศาสตร์ (SEA) โรงไฟฟ้าถ่านหินภาคใต้ ผมเลยอยากนำความคืบหน้ามาบอกเล่ากันไว้ว่าเราทำอะไรกันไปถึงไหนแล้วครับ

ย้อนความไปนิด หลังจากประชาชนหลายกลุ่มเข้ามาพูดคุยกันเรื่องโรงไฟฟ้าถ่านหินภาคใต้ คำตอบที่เห็นตรงกันคือควรทำ SEA หรือการประเมินสิ่งแวดล้อมระดับยุทธศาสตร์สำหรับพื้นที่

SEA ไม่ใช่เรื่องใหม่ ปกติควรทำก่อนปักหมุดว่าจะสร้างอะไรตรงไหน แต่เมืองไทยแทบไม่เคยทำ จนระยะหลังเริ่มมีการใส่ SEA เข้าไปในยุทธศาสตร์ต่างๆ แม้กระทั่งแผนปฏิรูปประเทศด้านพลังงานและด้านทรัพยากรก็มี SEA อยู่ในนั้น

การทำโครงการ SEA ของโรงไฟฟ้าภาคใต้ จึงไม่ใช่เป็นอะไรที่ทำแล้วก็แล้วกัน แต่สอดคล้องกับแผนปฏิรูปประเทศในหลายด้าน ยังสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ประเทศ ตลอดจนพระราชบัญญัติใหม่ที่จะออกมากำกับ SEA ในอนาคต

ผมเน้นย้ำตรงนี้เยอะนิด เพราะอยากให้เข้าใจตรงกันว่าโครงการ SEA เมื่อทำเสร็จแล้วยังไงก็มีประโยชน์นำไปใช้ต่อได้ ไม่ใช่เป็นเพียงโครงการแก้ขัด

คณะกรรมการกำกับฯ ประชุมกันไปหลายครั้ง ก่อนได้ TOR ออกมาเผยแพร่ในเว็บไซต์ของกระทรวงพลังงานตั้งแต่เดือน มิ.ย.

ระหว่างที่นำขึ้นเว็บไซต์ก็เปิดโอกาสให้ผู้คนทั่วไปส่งความคิดเห็นกันเข้ามา ซึ่งก็มีอยู่สองท่านเสนอมา โดยขอให้เปิดให้ประชาชนเข้ามามส่วนร่วมและอยากให้ดูเรื่องผลกระทบต่อสุขภาพ

ทั้งสองความคิดเห็นสามารถตอบได้ชัดเจน เพราะ TOR นำขึ้นเว็บไซต์หลักของกระทรวงพลังงานมาเกิน 3 เดือนแล้ว และความคิดเห็นของประชาชนก็ถูกส่งเข้ามาทางนั้น ผมก็คิดว่านั่นเป็นการเปิดโอกาสกว้างแล้ว ขึ้นกับว่าจะมีใครสนใจส่งมาหรือเปล่า

ในเรื่องผลกระทบต่อสุขภาพ SEA เป็นการสแกนในภาพกว้างโดยรวมทั้งหมด แน่นอนว่าต้องคิดถึงเรื่องนี้ด้วย แต่หากจะให้เจาะจงรายละเอียด คงต้องดูจาก EHIA ซึ่งจะเกิดขึ้นต่อเมื่อมีการกำหนดพื้นที่แน่ชัดและรูปแบบของโครงการ เพื่อทำการศึกษาในรายละเอียด

สรุปง่ายๆ คือผลกระทบต่อสุขภาพสำคัญครับ แต่นั่นเป็นขั้นตอนถัดไป ต้องรอผลของ SEA เสียก่อน

การประชุมครั้งนี้เป็นการกำหนดเกณฑ์คร่าวๆ และโรดแมป เนื่องจากโครงการนี้ได้รับการสนับสนุนงบประมาณจาก กกพ. (สนง.กำกับกิจการพลังงาน) ที่นำเงินจากกองทุนพัฒนาไฟฟ้ามาใช้ จึงต้องทำตามระเบียบของกองทุนที่กำหนดไว้ชัดเจน

ข้อกำหนดคือหน่วยงานที่รับทุนในการศึกษาต้องเป็นหน่วยงานภาครัฐ สถาบันการศึกษา หรือองค์กรไม่แสวงผลกำไร (มูลนิธิ) ระเบียบข้อนี้คงช่วยให้บางคนสบายใจขึ้น แม้ว่าบริษัทที่ปรึกษาดีๆ มีอยู่มากมาย แต่หากเป็นมหาวิทยาลัยผู้คนจะวางใจได้มากกว่า

เมื่อประชุมเสร็จกระทรวงพลังงานจะเปิดชี้แจงรายละเอียด TOR สำหรับหน่วยงานที่สนใจอยากทำโครงการ จากนั้นก็นำ TOR และแบบฟอร์มต่างๆ แปะไว้บนเว็บไซต์ของกระทรวง

พอต้นเดือนหน้าจะตัดสินว่าหน่วยงานไหนเป็นผู้ได้รับคัดเลือกทำ SEA และจะเริ่มดำเนินการหลังจากนั้นอีกสักหน่อย (เพราะถ้าเป็นมหาวิทยาลัยหรือหน่วยงานภาครัฐ มันต้องมีระเบียบพอสมควรครับ เช่น ให้นิติกรตรวจ ฯลฯ)

ตามโรดแมปแล้วน่าจะเริ่มต้นทำโครงการได้ภายในสิ้นเดือน พ.ย. นับไปอีก 9 เดือน โครงการจะเสร็จสิ้น อย่างไรก็ตามระหว่างทางประมาณเดือน เม.ย. หรือเมื่อศึกษาไปแล้ว 5 เดือน ควรตอบ 3 คำถามสำคัญได้

3 คำถาม ได้แก่ ภาคใต้ควรมีโรงไฟฟ้าถ่านหินหรือไม่? ถ้าควรมี พื้นที่ไหนจะเหมาะสม?หรือควรมีทางเลือกด้านพลังงานอื่นๆ อีกหรือไม่?

แน่นอนว่า 3 คำตอบนี้จะเป็นตัวที่ช่วยกำหนดแนวทางได้ชัดเจนยิ่งขึ้น โดยที่คำตอบอื่นๆ จะตามมาหลังจากการศึกษาโครงการเสร็จสิ้น

เมื่อดูความก้าวหน้าของการดำเนินงาน เราก็พอบอกได้ว่าผ่านขั้นแรกและขั้นสองไปแล้ว (ขั้นแรกคือทำ TOR ขั้นสองคือหาแหล่งทุน)

มาถึงขั้น 3 หาหน่วยงานที่ทำการศึกษาในโครงการนี้ ก่อนต่อไปขั้นที่ 4 หาคำตอบเบื้องต้น และปิดท้ายด้วยขั้นที่ 5 หาคำตอบในเรื่องอื่นๆ

แม้ว่าอาจดูช้าไปบ้างแต่อย่างน้อยนี่คือทางออกทางแรกที่เห็นชัดเจนสุด หลังจากเราวนเวียนอยู่ในลูปเดิมมานาน และเป็นทางออกที่พึ่งพิงความรู้ การเก็บข้อมูล การวิเคราะห์ผลเชิงวิชาการ ซึ่งเป็นทางออกที่มีทั้งเหตุและผล

ผมจะนำเรื่องนี้มาเล่าต่อเรื่อยๆ ตามขั้นตอนที่ดำเนินไป เผื่อว่าในภายภาคหน้าเกิดปัญหาอะไรขึ้นมาอีก เราจะได้รู้ว่ามีกระบวนการนี้อยู่ และเป็นความพยายามหันหน้าเข้าหากันถือเป็นทางออกของเมืองไทย ในยุคที่กระแสความมั่นคงทางพลังงานกับสิ่งแวดล้อมมาจ๊ะเอ๋กัน เป็นช่วงเวลาของการเปลี่ยนผ่านครับ