posttoday

ความหนักอึ้งทางเศรษฐกิจของ"ครัวเรือนไทย"

16 กันยายน 2561

ความเข้าใจของรัฐบาลกับประชาชนในเรื่องภาวะเศรษฐกิจต่างกันมากเพราะ ตัวเลข GDP ช่วยให้รัฐบาลมองเห็นความเติบโตในภาพรวมของเศรษฐกิจ แต่ไม่ได้ช่วยให้เห็นความหนักอึ้งที่ครัวเรือนไทยต้องประสบอยู่

ความเข้าใจของรัฐบาลกับประชาชนในเรื่องภาวะเศรษฐกิจต่างกันมากเพราะ ตัวเลข GDP ช่วยให้รัฐบาลมองเห็นความเติบโตในภาพรวมของเศรษฐกิจ แต่ไม่ได้ช่วยให้เห็นความหนักอึ้งที่ครัวเรือนไทยต้องประสบอยู่

****************************

โดย...ดร.เดชรัต สุขกำเนิด อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

ภาวะเศรษฐกิจกำลังเป็นประเด็นถกเถียงสำคัญในสังคมไทย โดยเฉพาะเมื่อใกล้เข้าสู่การเลือกตั้ง

ฝ่ายรัฐบาลก็พยายามบอกว่า เศรษฐกิจกำลังดีขึ้น โดยอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจล่าสุดประมาณ 4.8% ซึ่งฝ่ายรัฐบาลดูจะภูมิอกภูมิใจกับตัวเลขนี้มาก

แต่ผู้คนจำนวนมากกลับมีความรู้สึกและความคิดเห็นว่า ภาวะเศรษฐกิจยังไม่ดีขึ้น อย่างที่รัฐบาลประกาศ ซึ่งรัฐบาลก็โต้กลับว่า อาจจะเป็นความรู้สึกที่ประชาชนรู้สึกไปเอง

บทความนี้จึงขอนำเสนอข้อมูลจากรายงานการสำรวจภาวะเศรษฐกิจสังคมของครัวเรือน พ.ศ. 2560 ของสำนักงานสถิติแห่งชาติ เพื่อให้เห็นภาวะทางเศรษฐกิจของครัวเรือนไทย และตอบได้ว่า ภาวะเศรษฐกิจของครัวเรือนไทยเป็นอย่างไรกันแน่

รายได้ครัวเรือนเพิ่มช้า

เริ่มจากรายได้ประจำของครัวเรือน ปรากฏว่า ในช่วงปี 2556 ครัวเรือนไทยมีรายได้เฉลี่ย 25,194 บาท/เดือน และเพิ่มเป็น 26,915 บาท/เดือน และ 26,946 บาท/เดือน ในปี 2558 และ 2560 ตามลำดับ

เมื่อคิดเป็นอัตราการเพิ่มของรายได้ในแต่ละปี พบว่า ในช่วงปี 2556-2558 ครัวเรือนไทยมีรายได้เพิ่มขึ้น 3.4% ต่อปี และครัวเรือนไทยมีรายได้เพิ่มขึ้น 0.1% ต่อปี ในช่วงปี 2558-2560

แปลว่า ครัวเรือนไทยมีรายได้เพิ่มขึ้นน้อยมาก โดยเฉพาะในช่วงปี 2558-2560 ซึ่งแตกต่างจากภาพรวมทางเศรษฐกิจที่รัฐบาลประกาศ

ค่าใช้จ่ายเพิ่มเร็วกว่ารายได้

แต่ที่สำคัญกว่านั้น คือ ค่าใช้จ่ายของครัวเรือนกลับเพิ่มขึ้นรวดเร็วกว่ารายได้

ในปี 2556 ครัวเรือนไทยมีค่าใช้จ่ายเฉลี่ย 19,061 บาท/เดือน ก่อนที่จะเพิ่มเป็น 21,157 บาท/เดือน และ 21,437 บาท/เดือน ในปี 2558 และ 2560 ตามลำดับ

นั่นแปลว่า ค่าใช้จ่ายของครัวเรือนไทยเพิ่มขึ้นในอัตรา 5.4% ต่อปี ในช่วง 2556-2558 และ 0.7% ต่อปี ในช่วง 2558-2560 ซึ่งสูงกว่าอัตราการเพิ่มขึ้นของรายได้ตามที่ได้กล่าวไปแล้ว

การที่ครัวเรือนไทยมีค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นเร็วกว่ารายได้ ทำให้ภาระค่าใช้จ่ายต่อรายได้ของครัวเรือนเพิ่มขึ้นจาก 75.7% ในปี 2556 มาเป็น 79.6% ของรายได้ในปี 2560 ซึ่งแปลว่า ในภาพรวมแล้ว ครัวเรือนไทยมีภาระค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นโดยเฉลี่ยเกือบ 4 บาท จากรายได้ทุกๆ 100 บาท ที่ครัวเรือนไทยได้รับในช่วงเวลาเพียง 4 ปี

นั่นจึงเป็นความหนักอึ้งของครัวเรือนไทยที่ต้องแบกรับ และไม่ปรากฏในตัวเลขเศรษฐกิจภาพรวม อย่างเช่น GDP

หนี้สินเพิ่มเร็วที่สุด

สิ่งที่หนักหนากว่าค่าใช้จ่ายก็คือ ภาระหนี้สินของครัวเรือนที่เพิ่มขึ้น โดยในปี 2556ครัวเรือนไทยมีหนี้สิน 163,087 บาท ก่อนที่จะลดลงเป็น 156,770 บาท แล้วเพิ่มขึ้นอีกเป็น 178,994 บาท ในปี 2560 หรือเท่ากับว่า ในช่วง 4 ปีที่ผ่านมา ครัวเรือนไทยมีหนี้สินเพิ่มขึ้นในอัตรา 2.4% ต่อปี โดยหากนับเฉพาะในช่วงปี 2558-2560 อัตราหนี้สินของครัวเรือนไทยเพิ่มขึ้นถึง 6.9% ต่อปี

ถ้าเทียบกับรายได้แล้ว ภาระหนี้สินของครัวเรือนไทยเท่ากับ 5.8 เท่าของรายได้ต่อเดือนในปี 2558 ก่อนที่จะเพิ่มขึ้นมาเป็น 6.6 เท่าของรายได้ต่อเดือนในปี 2560

ดังนั้น จึงไม่น่าแปลกใจที่ครัวเรือนจะรู้สึกแตกต่างไปจากความเติบโตทางเศรษฐกิจที่รัฐบาลกล่าวถึง

ภาระหนักอึ้งของเศรษฐกิจฐานราก

ถ้าจะมาเจาะลึกลงไปในอาชีพสำคัญของเศรษฐกิจฐานราก 2 อาชีพ ได้แก่ เกษตรกร(ทั้งที่เป็นเจ้าของที่ดินและเป็นผู้เช่า) และแรงงานในกระบวนการผลิตมีรายได้เพิ่มขึ้นน้อยมาก ในช่วงปี 2558-2560 กล่าวคือ เพิ่มขึ้น 1.0% สำหรับเกษตรกรที่เป็นเจ้าของที่ดิน เพิ่มขึ้น 0.2% สำหรับเกษตรกรที่เป็นผู้เช่า และเพิ่มขึ้น 0.3% สำหรับแรงงานในกระบวนการผลิต

ในขณะที่หนี้สินของเกษตรกรที่เป็นเจ้าของที่ดิน เพิ่มขึ้นถึง 11.3% ต่อปี และหนี้สินสำหรับแรงงานในกระบวนการผลิตเพิ่มขึ้น 4.7% ต่อปี ในช่วงปี 2558-2560

ถ้าเปรียบเทียบตั้งแต่ปี 2556 จนถึง 2560 ภาระค่าใช้จ่ายต่อรายได้ของเกษตรกรที่เป็นเจ้าของที่ดิน เพิ่มขึ้นจาก 72.1% เป็น 77.1% ส่วนภาระค่าใช้จ่ายต่อรายได้ของเกษตรกรที่เป็นผู้เช่าก็เพิ่มขึ้นจาก 67.0% เป็น 74.3% ในช่วงเวลาเดียวกัน ส่วนแรงงานก็มีภาระค่าใช้จ่ายต่อรายได้เพิ่มขึ้นจาก 82.4% เป็น 86.5% ด้วยเช่นกัน

ในแง่หนี้สิน ภาระหนี้สินต่อรายได้ของเกษตรกรที่เป็นเจ้าของที่ดิน เพิ่มขึ้นจาก 5.5 เท่าของรายได้ต่อเดือน เป็น 7.8 เท่าของรายได้ต่อเดือน ซึ่งนับว่าเป็นการเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วมากในช่วงเวลา 4 ปี

ส่วนเกษตรกรที่เป็นผู้เช่าก็มีภาระหนี้สินต่อรายได้เพิ่มขึ้นจาก 6.8 เท่า ในปี 2556 เป็น 8.8 เท่าของรายได้ต่อเดือนในปี 2560 เช่นกัน และแรงงานในกระบวนการผลิตก็มีภาระหนี้สินต่อรายได้เพิ่มขึ้นจาก 4.5 เท่า เป็น 4.7 เท่าของรายได้ต่อเดือนในช่วงเวลาเดียวกัน

ภาระหนักอึ้งของครัวเรือนไทย

ในขณะที่ตัวเลข GDP ช่วยให้รัฐบาลมองเห็นความเติบโตในภาพรวมของเศรษฐกิจไทย แต่กลับไม่ได้ช่วยให้รัฐบาลได้เห็นความหนักอึ้งที่ครัวเรือนไทยต้องประสบอยู่ ความเข้าใจของรัฐบาลกับประชาชนในเรื่องภาวะเศรษฐกิจจึงแตกต่างกันมาก

เพราะฐานะทางเศรษฐกิจของครัวเรือนฐานรากไม่ได้ขึ้นอยู่กับภาพรวมเศรษฐกิจ แต่ขึ้นอยู่กับตัวแปรที่เกี่ยวข้องโดยตรงกับอาชีพของเขา เช่น ดัชนีราคาสินค้าเกษตร หรือดัชนีค่าจ้างแรงงาน เป็นต้น

แต่ในช่วง 4 ปีที่ผ่านมา ดัชนีค่าจ้างแรงงานโดยเฉลี่ยเพิ่มขึ้นเพียง 1.43% ต่อปี ซึ่งเมื่อหักลบเงินเฟ้อออกแล้ว ดัชนีค่าจ้างที่แท้จริงแทบไม่เพิ่มขึ้นเลย ส่วนดัชนีราคาสินค้าเกษตร ที่เป็นตัวแปรหลักสำหรับพี่น้องเกษตรกรลดลงโดยเฉลี่ย 2.81% ต่อปี ในช่วง 4 ปีที่ผ่านมา

หากรัฐบาลยังไม่ปรับทัศนคติของตนให้เข้าใจความแตกต่างนี้ได้ ก็คงเป็นการยากที่รัฐบาลจะช่วยปลดหรือลดภาระอันหนักอึ้งของครัวเรือนไทยลงได้เช่นกัน