posttoday

จากสุวรรณภูมิ ถึงป้ายรถเมล์

03 กันยายน 2561

กทม.เป็นเมืองแห่งศิลปวัฒนธรรมอันยิ่งใหญ่ แต่แทบไม่เห็นสถาปัตยกรรมอันเป็นเอกลักษณ์ของทั้งอาคารสำนักงานทั้งของรัฐและเอกชน

กทม.เป็นเมืองแห่งศิลปวัฒนธรรมอันยิ่งใหญ่ แต่แทบไม่เห็นสถาปัตยกรรมอันเป็นเอกลักษณ์ของทั้งอาคารสำนักงานทั้งของรัฐและเอกชน

********************************

โดย...ศ.ดร.สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ ประธานสถาบันนวัตกรรมชุมชนอัจฉริยะ และอธิการบดี สจล.

ประเด็นเรื่องการออกแบบอาคารผู้โดยสารสนามบินสุวรรณภูมิส่วนต่อขยาย ที่คล้ายกับรูปแบบจากประเทศญี่ปุ่น เป็นเรื่องที่คงต้องพิสูจน์หาข้อเท็จจริงกันไป แต่ประเด็นเรื่องความเป็นเอกลักษณ์ของสถาปัตยกรรมไทย ควรเป็นเรื่องที่น่าคิดกันต่อ เพราะอาคารผู้โดยสารในประเทศไทยไม่ว่าจะเป็นที่กรุงเทพฯ หรือหัวเมืองสำคัญ ทั้งเชียงใหม่ ขอนแก่น หาดใหญ่ จนไปถึงที่เมืองรองทั่วไป ดูแล้วออกจะคล้ายกันไปเสียทั้งหมด ไม่ได้สะท้อนถึงวัฒนธรรมท้องถิ่นไทย อันเป็นเอกลักษณ์ที่น่าจดจำ

แม้แต่อาคารสำนักงานของราชการไทย ตั้งแต่ศาลาว่าการจังหวัด ศาลยุติธรรม ที่แทบทุกจังหวัดถอดแบบมาเหมือนกันจนแยกแยะไม่ออก ทั้งๆ ที่แต่ละจังหวัดของไทยล้วนมีอัตลักษณ์และเอกลักษณ์ของตน ที่ควรค่าแก่การสะท้อนออกมาในรูปแบบสถาปัตยกรรมที่สัมผัสได้

ขณะที่ประเทศอื่นทั่วโลกพยายามสะท้อนศิลปวัฒนธรรมของชาติออกมาในรูปแบบสถาปัตยกรรม เช่น เมื่อเราไปเที่ยวบาหลี ประเทศอินโดนีเซีย เพียงแค่เครื่องบินร่อนลงเท่านั้น มองออกไปนอกหน้าต่างก็จะรู้ทันทีว่าที่นี่คือบาหลี เพราะทรงหลังคาอาคารผู้โดยสารที่สร้างเป็นสถาปัตยกรรมบาหลีที่เด่นสะดุดตา หรือที่กรุงกัวลาลัมเปอร์ ประเทศมาเลเซีย ก็มีตึกแฝดปิโตรนาสที่สูงที่สุดในโลก แม้จะออกแบบและก่อสร้างโดยบริษัทต่างชาติ แต่ยังคงแสดงสถาปัตยกรรมอิสลาม ที่เต็มเปี่ยมไปด้วยความสวยงามอันเป็นเอกลักษณ์ จนได้รับรางวัลระดับโลกมาแล้ว

ผมเคยเขียนถึงอาจารย์จุลทัศน์ กิติบุตร ศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะสถาปัตยกรรม ผู้สร้างสรรค์สถาปัตยกรรมไทยล้านนาผู้โด่งดัง ซึ่งท่านให้ข้อคิดที่ดีว่า สถาปัตยกรรมไทยคือศักดิ์ศรีของความเป็นไทย เป็นเอกลักษณ์ของชนชาติ การผสมผสานเข้ากับสถาปัตยกรรมยุคใหม่ ร่วมสมัย ก็สามารถทำได้อย่างลงตัว ถือเป็นศิลปะที่ดึงดูดความสนใจของนักท่องเที่ยวต่างชาติ และสร้างความภาคภูมิใจให้กับคนในชาติ เช่นเดียวกับสถาปัตยกรรมบาหลีซึ่งเป็นที่ยอมรับกันทั่วโลก

ย้อนกลับมาที่กรุงเทพมหานครที่มีนักท่องเที่ยวมาเยือนมากกว่า 22 ล้านคน/ปี มากที่สุดในโลก เมืองแห่งศิลปวัฒนธรรมอันยิ่งใหญ่ แต่แทบไม่เห็นสถาปัตยกรรมอันเป็นเอกลักษณ์ของทั้งอาคารสำนักงานทั้งของรัฐและเอกชนที่ก่อสร้างขึ้นใหม่

แม้แต่ “ป้ายรถเมล์” นับพันป้ายทั่วกรุงเทพฯ ก็มีรูปแบบแทบจะเหมือนกันทั้งหมด ขาดเอกลักษณ์ของความเป็นไทยร่วมสมัย หากป้ายรถเมล์สาธารณะมีสถาปัตยกรรมตามแต่ละพื้นที่หรือแต่ละเขต คงเป็นความมหัศจรรย์ที่งดงามของกรุงเทพฯ ที่ทุกคนผู้มาเยือนต้องมาถ่ายรูปและชื่นชม จนต้องโพสต์ลงอินสตาแกรมหรือเฟซบุ๊ก รับรองดังกระฉ่อนไปทั่วโลกแน่นอน เปรียบเหมือนเมื่อไปกรุงลอนดอนต้องไปถ่ายรูปกับตู้โทรศัพท์สาธารณะสีแดง แม้จะไม่มีโทรศัพท์แล้วก็ตาม หรือรถเมล์สองชั้น หรือแท็กซี่ลอนดอน อันเป็นเอกลักษณ์ของเมืองผู้ดีอังกฤษ

หรือแม้แต่อาคารในมหาวิทยาลัยชั้นนำทั่วโลกก็ต้องมีเอกลักษณ์เช่นกัน ทั้งออกซฟอร์ด เคมบริดจ์ ฮาร์วาร์ด สแตนฟอร์ด เห็นแล้วจดจำได้ทันที ยังดีใจที่หลายมหาวิทยาลัยของไทยยังคงอนุรักษ์และสร้างอาคารที่สะท้อนความเป็นไทยอยู่บ้าง เช่น จุฬาลงกรณ์ยังมีอาคารมหาจุฬาลงกรณ์อันทรงคุณค่า ธรรมศาสตร์ก็มีตึกโดม หรือแม้แต่ที่สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง ก็ยังมีอาคารนวัตกรรมที่เป็นสถาปัตยกรรมในสมัยรัชกาลที่ 4 ออกแบบโดยอาจารย์ภิญโญ สุวรรณคีรี ศิลปินแห่งชาติเช่นกัน

“ศิลปะยืนยาว ชีวิตสั้น” คติพจน์ของมหาวิทยาลัยศิลปากร คงสะท้อนทุกสิ่งที่ผมเขียนมาทั้งหมดได้ดีที่สุด