posttoday

"โปรเจกต์แมเนเจอร์"จราจร

27 สิงหาคม 2561

ทุกโครงการขนาดใหญ่ทั่วโลกที่สำเร็จได้ล้วนมี “ผู้จัดการโครงการ” หรือ “โปรเจกต์แมเนเจอร์” ซึ่งเป็นผู้ประสานงานที่มีอำนาจตัดสินใจ

ทุกโครงการขนาดใหญ่ทั่วโลกที่สำเร็จได้ล้วนมี “ผู้จัดการโครงการ” หรือ “โปรเจกต์แมเนเจอร์” ซึ่งเป็นผู้ประสานงานที่มีอำนาจตัดสินใจ

****************************

โดย...ศ.ดร.สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ ประธานสถาบันนวัตกรรมชุมชนอัจฉริยะ และอธิการบดี สจล.

เมื่อนายกรัฐมนตรี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ลงตรวจพื้นที่เพื่อเร่งรัดการแก้ปัญหาจราจร โดยสัญจรเส้นทางจากทั้งรถ เรือ และรถไฟฟ้า สะท้อนภาพผู้นำประเทศที่ไม่ละเลยกับเรื่องความทุกข์แบบสุดๆ ของคนกรุงเทพฯ เพราะปัญหาจราจรที่วันนี้คงไม่มีใครเถียงได้ว่ากรุงเทพฯ ขึ้นสู่อันดับ 1 ของโลก ทิ้งคู่แข่งอย่างกรุงเม็กซิโกซิตี้ และกรุงจาการ์ตา แบบไม่เห็นฝุ่นไปแล้ว

แม้คนส่วนใหญ่อาจยังเข้าใจว่าการแก้ปัญหาจราจรเป็นหน้าที่รับผิดชอบของ กทม. ซึ่งก็มีส่วนถูก เพราะ กทม.ต้องดูแลทั้งระบบไฟจราจร (แต่ตำรวจจราจรเปิดปิด) ให้ใบอนุญาตและควบคุมการก่อสร้าง ดูแลถนนและซอย ทั้งยังเป็นเจ้าของป้ายรถเมล์ (แต่ ขสมก.ดูแลรถเมล์ประจำทาง) และจัดการเรื่องการระบายน้ำ แน่นอนว่า กทม.มีส่วนทั้งแก้ปัญหาหรืออาจสร้างปัญหาได้เช่นกัน แต่ก็ยังมีอีกหลายอำนาจหน้าที่สำคัญที่เป็นของตำรวจจราจร กรมเจ้าท่า รฟม. กฟน. กปน. และอื่นๆ อีกไม่รู้กี่หน่วยงาน กี่กระทรวง ทั้งทางตรงและทางอ้อม

ดังนั้น หากจะแก้ปัญหาการจราจรอย่างเบ็ดเสร็จ คงไม่พ้นต้องพึ่งพาผู้นำสูงสุดของรัฐบาล การที่นายกรัฐมนตรีลงมาเดินทางตรวจสอบด้วยตนเองจึงเป็นเรื่องจำเป็น อย่างไรก็ตามนายกรัฐมนตรีย่อมมีภารกิจอีกนับไม่ถ้วนที่ท้าทายและต้องใช้พลังเช่นกัน ความต่อเนื่องจึงเป็นปัญหาของการจัดการเรื่องจราจรในกรุงเทพฯ อย่างที่เห็นกันอยู่

ทุกโครงการขนาดใหญ่ทั่วโลกที่สำเร็จได้ล้วนมี “ผู้จัดการโครงการ” หรือ “โปรเจกต์แมเนเจอร์” ซึ่งถือเป็นผู้ประสานงานที่มีอำนาจตัดสินใจ แม้ไม่ใช่ผู้บังคับบัญชาของแต่ละหน่วยโดยตรง ก็สามารถจัดการแก้ปัญหา ทำโครงการที่ยากและซับซ้อนสำเร็จได้ เรื่องการจัดการจราจรก็ไม่ต่างกัน แม้ท่านนายกรัฐมนตรีจะมีความมุ่งมั่นตั้งใจ แต่ก็ควรมีใครสักคนมากำกับดูแลแบบเต็มเวลา ปัญหาจราจรจะถูกบรรเทาได้แน่นอน

ผมเคยไปดูงานการจัดการจราจรของมหานครนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา ซึ่งเป็นเมืองที่หนาแน่นและมีพลเมืองมากที่สุดเมืองหนึ่งในโลก มีคนทำงานและนักท่องเที่ยวมากกว่า 30 ล้านคนเข้ามาในเมืองทุกวัน ทั้งทางเรือเฟอร์รี่ที่ข้ามฟากจากฝั่งรัฐนิวเจอร์ซีย์รถยนต์หลายล้านเที่ยวต่อวันที่ต้องผ่านสะพานข้ามแม่น้ำฮัดสัน และแม่น้ำอื่นๆ รอบเมืองจากทุกทิศทุกทาง

ผู้คนหลายล้านใช้รถไฟฟ้าใต้ดินที่ยาวที่สุดในโลก ทั้งจากสนามบินเจเอฟเค และจากสนามบินของเมืองข้างเคียง มุ่งสู่มหานครนิวยอร์ก เปรียบเสมือนกระแสเลือดที่เข้าหล่อเลี้ยงเมืองไม่มีวันหยุด หรือแม้แต่แท็กซี่สีเหลืองอันเป็นเอกลักษณ์ของเมืองก็วิ่งขวักไขว่เต็มถนน ทุกตรอกซอย ยังมีจักรยาน คนเดินเท้า นักวิ่งออกกำลังกาย น่ามหัศจรรย์มากที่พลเมืองหลายล้านคน พาหนะหลายล้านเที่ยวจากทั้ง รถ เรือ ราง อยู่ร่วมกันได้ในเมืองที่แออัดที่สุด อย่างที่ไม่เป็นทุกข์เท่ากับกรุงเทพฯ

การจัดการจราจรของมหานครนิวยอร์ก ทำได้เพราะการบูรณาการทุกอำนาจหน้าที่ให้กับเมืองอย่างเบ็ดเสร็จ แม้วันนี้ระบบบูรณาการอาจยังไม่เกิดขึ้นที่กรุงเทพฯ นายกรัฐมนตรีเลยต้องเสียสละแสดงบทบาทผู้นำการบูรณาการเพื่อจัดการกับปัญหาจราจร หรือถ้าหาโปรเจกต์แมเนเจอร์เจ๋งๆ สักคน ช่วยบริหารเต็มเวลา เชื่อว่าการจราจรกรุงเทพฯ ดีขึ้นแน่นอน