posttoday

ส่องไฟตัวละคร ไฮสปีด 3 สนามบิน (2)

26 สิงหาคม 2561

ไล่เรียงตัวละครหลักจากต่างแดนในฝั่งยุโรปและเอเชียที่จะเข้ามามีบทบาทในโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน

ไล่เรียงตัวละครหลักจากต่างแดนในฝั่งยุโรปและเอเชียที่จะเข้ามามีบทบาทในโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน

**************************

โดย...อาทิตย์ โกวิทวรางกูร เครือข่ายมักกะสัน [email protected]

ครั้งก่อนได้ไล่เรียงตัวละครหลักจากต่างแดน เริ่มจากจีนต่อด้วยญี่ปุ่น ให้พอเข้าใจที่มาที่ไป และเห็นความโยงใยไปพอสมควร

คราวนี้ขอตั้งต้นจากยุโรป แล้วปิดท้ายด้วยเพื่อนบ้านเราในเอเชีย

ฝรั่งเศส - ประเทศที่สองในโลกที่ทำรถไฟความเร็วสูง (ถัดจากญี่ปุ่น) มากัน 2 บริษัท คือ SNCF International และ Transdev

SNCF เป็นตัวย่อของ The Societe Nationale des Chemins de fer Francais ในภาษาฝรั่งเศส แปลเป็นอังกฤษคือ French National Railway Company หรือบริษัทรถไฟแห่งชาติฝรั่งเศส เทียบเป็นไทยก็คงประมาณการรถไฟแห่งประเทศไทยนั่นล่ะ

องค์กรนี้ถือกำเนิดขึ้นในปี 1938 (พ.ศ. 2481) จากการควบรวมบริษัทเอกชน 5 แห่ง และรัฐวิสาหกิจ 2 แห่ง ซึ่งเป็นผู้สร้างเครือข่ายทางรถไฟในประเทศฝรั่งเศสในช่วงศตวรรษที่ 19 แรกเริ่มเดิมที SNCF เป็นองค์กรที่รัฐและเอกชนร่วมกันถือหุ้น (รัฐ 51% เอกชน 49%) แต่ในที่สุดได้กลายเป็นบริษัทที่รัฐถือหุ้น 100% ตั้งแต่ปี 1982 เป็นต้นมา

หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 รถไฟโดนแย่งลูกค้าจากทั้งทางถนนและทางอากาศ ผลประกอบการแย่ลง SNCF ต้องปรับยุทธศาสตร์ใหม่เพื่อให้อยู่รอด เส้นทางใดที่แข่งกับรถและเครื่องบินไม่ได้จะถูกยกเลิก แต่ทำแค่นั้นไม่พอ SNCF ต้องพลิกโฉมให้ทันสมัย หนึ่งในก้าวที่กล้าคือการนำรถไฟความเร็วสูงมาให้บริการในปี 1981 จนกลายเป็นหนึ่งในสิ่งที่คนฝรั่งเศสภาคภูมิใจ และโลกร่วมรับรู้ในนาม TGV (Train a Grande Vitesse)

สายแรกที่เปิดให้บริการ คือ ปารีส-ลียงประสบความสำเร็จอย่างล้นหลาม เพราะเป็นเส้นทางที่คนต้องการเดินมาก แต่บริการคมนาคมไม่เพียงพออย่างรุนแรง (The corridor with the most serious congestion problems) จึงกำไรมาก ถึงขนาดคืนทุนค่าก่อสร้างทั้งหมด (ซึ่งในโลกจนถึงนาทีนี้มีเพียงสองเส้นที่ทำเช่นนี้ได้ คือเส้นปารีส-ลียงเส้นนี้ และเส้นโตเกียว-โอซากาเส้นแรกของชิงคันเซ็นญี่ปุ่น)

จากนั้นก็สร้างเพิ่มอีกหลายสาย ทว่าผลประกอบการคละเคล้ากันไป เมื่อก้าวเข้าสู่ศตวรรษที่ 21 เพชฌฆาตรถไฟความเร็วสูง นั่นคือ สายการบินต้นทุนต่ำ เริ่มแข่งดุขึ้นเรื่อยๆ ในยุโรป โดยเฉพาะภายในประเทศฝรั่งเศส ทำให้ TGV หลายสายขาดทุนอ่วม ส่งผลกระทบต่อมายัง SNCF จนรัฐบาลฝรั่งเศสกำลังจะปฏิรูปองค์กรแห่งนี้ ภายในปี 2020 ... อีกด้านหนึ่งที่เป็นแรงกดดันคือสหภาพยุโรป (EU) ที่ต้องการให้เกิดการแข่งขันมากขึ้นในกิจการรถไฟและคมนาคมอื่นๆ

หนึ่งในทางปรับตัวและเพิ่มรายได้ของ SNCF คือการออกไปรับงานในต่างแดน ผ่าน SNCF International ซึ่งมีหลายรูปแบบ เช่น ฝึกอบรมการดำเนินการ ซ่อมบำรุง ออกแบบระบบไฟฟ้า ระบบอาณัติสัญญาณ เป็นต้น

อีกบริษัท คือ Transdev (ชื่อเดิมคือ Veolia Transdev) เป็นผู้ให้บริการขนส่งสาธารณะระดับนานาชาติสัญชาติฝรั่งเศส ที่เกิดจากการควบรวมกิจการของ Veolia Transport และ Transdev เมื่อปี 2011 บริษัทนี้ถือหุ้นใหญ่ (70%) โดย The Caisse des Depots et Consignations (Deposits and Consignments Fund) ซึ่งเป็นสถาบันการเงินของรัฐ ที่ทำหน้าที่เป็น “หน่วยงานลงทุน” (Investment Arm) ของรัฐบาลฝรั่งเศส (ทำนองเดียวกับ Temasek ของสิงคโปร์)

Transdev วางตำแหน่งตัวเองเป็น The Mobility Company หากไปดูไส้ใน จะพบว่าเป็นผู้ให้บริการคมนาคมที่หลากหลาย โดยเน้นที่รถบัส รถราง และรถไฟใต้ดิน ปัจจุบันให้บริการในกว่า 20 ประเทศ

ในการพบปะกับคณะของนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีเศรษฐกิจที่ประเทศฝรั่งเศสเมื่อวันที่ 25 มิ.ย.ที่ผ่านมา Transdev ได้กล่าวว่า มีแผนธุรกิจที่จะร่วมมือกับ SNCF เพื่อบริหารและบำรุงรักษารถไฟความเร็วสูงเชื่อมโยง ท่าอากาศยานดอนเมือง สุวรรณภูมิ และอู่ตะเภา และรถไฟสายต่างๆ ในกรุงเทพฯ

ทั้งสองบริษัท (ที่รัฐบาลฝรั่งเศสเป็นเจ้าของ) นี้ ตามข่าวคือกำลังเจรจากับทางซีพี ส่วนทางซีพีเองก็ให้ข่าวว่าจะชวนพันธมิตรจากฝรั่งเศสมาร่วมประมูลด้วย

อีกหนึ่งจากยุโรป มาจากอิตาลี

Salini Impregilo S.p.A. กลุ่มธุรกิจก่อสร้างและวิศวกรรมโยธาที่ใหญ่ที่สุดในประเทศอิตาลี (เกิดจากการควบรวมกันระหว่างบริษัท Salini และ Impregilo ในปี 2014) ถือเป็นผู้เล่นสำคัญคนหนึ่งในระดับโลก มีผลงานมากกว่า 50 ประเทศใน 5 ทวีป ประสบการณ์ในการก่อสร้างขนาดใหญ่ที่หลากหลาย

ตั้งแต่เขื่อน โรงไฟฟ้าพลังน้ำ ท่าเรือ ถนน ทางพิเศษ ทางรถไฟ รถไฟฟ้าใต้ดิน สนามบิน โรงพยาบาล ฯลฯ เคยสร้างทางรถไฟความเร็วสูงสายตูริน-มิลาน และโบโลญญา-ฟลอเรนซ์ ในอิตาลี ในเมืองไทยมีผลงานคือสนามกีฬาสมโภชเชียงใหม่ 700 ปี

กลับมาที่เอเชีย มาเลเซียส่งมาสองบริษัท บริษัทหนึ่งคือ Wannasser International Green Hub Berhad ซึ่งได้เซ็น MOU กับทางบริษัท เทอดดำริ และน่าจะเข้าประมูลร่วมกัน

อีกแห่งคือ MRCB Builders บริษัทลูกในเครือ MRCB (Malaysian Resources Corporation Berhad) เป็นบริษัทก่อสร้างและพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ชั้นนำของมาเลเซีย (โดย MRCB มีผู้ถือหุ้นใหญ่คือ Employee Provident Fund ภายใต้กระทรวงการคลัง ถือหุ้น 38% จึงถือเป็นบริษัทที่รัฐเป็นเจ้าของ)

ผลงานสำคัญคือเป็น Master Developer ของ Kuala Lumpur Sentral Transport Hub ได้งานจำพวก Transit Oriented Development (TOD) และ Central Business District (CBD) หลายโครงการ ตั้งแต่ปี 2015 เป็นต้นมา บริษัทต้องการขยายการลงทุนไปในภูมิภาคอาเซียน โดยมีเป้าหมายที่ไทยและอินโดนีเซีย

สำหรับโครงการรถไฟความเร็วสูง ที่ผ่านมาได้ร่วม Consortium ในเส้นกัวลาลัมเปอร์-สิงคโปร์ แต่หลังจากมหาเธร์
โมฮัมหมัด ขึ้นเป็นผู้นำประเทศอีกครั้ง ได้ตัดสินใจยกเลิกโครงการนี้ ทำเอาหุ้น MRCB ร่วงไป 16.79%

ในปี 2558 บริษัท MRCB LAND (บริษัทลูกอีกแห่งหนึ่งในเครือ MRCB) เคยนำเสนอแนวคิดการพัฒนาพื้นที่มักกะสันต่อ พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง รมว.คมนาคม ในขณะนั้น โดยจะพัฒนาโครงการเชิงพาณิชย์ครบวงจร คอนเซ็ปต์เดียวกันกับโครงการ KL Sentral กัวลาลัมเปอร์ มาเลเซีย โดยพัฒนาเป็นเมืองเล็กๆ ประกอบด้วย โรงแรม ห้างสรรพสินค้า และที่พักอาศัย ซึ่ง พล.อ.อ.ประจิน ชี้แจงกับบริษัทว่า นโยบายของรัฐบาลชุดปัจจุบันจะเน้นพัฒนาสวนสาธารณะเป็นหลักมากกว่า