posttoday

รถติด-ของหล่นทับแก้ได้

20 สิงหาคม 2561

สถานการณ์รถติดหนักและปัญหาของหล่นใส่จากการก่อสร้าง สามารถแก้ไขให้ดีขึ้นได้ เพียงแต่จะทำจริงหรือไม่

สถานการณ์รถติดหนักและปัญหาของหล่นใส่จากการก่อสร้าง สามารถแก้ไขให้ดีขึ้นได้ เพียงแต่จะทำจริงหรือไม่

******************************

โดย...ศ.ดร.สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ ประธานสถาบันนวัตกรรมชุมชนอัจฉริยะและอธิการบดี สจล.

เมื่อมีการก่อสร้างโครงการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนหลายเส้นทางพร้อมกันในกรุงเทพฯ รถจึงติดหนักตั้งแต่เช้าวันจันทร์ถึงเย็นวันศุกร์ ไม่เว้นแม้แต่วันเสาร์และอาทิตย์ที่แย่ไม่แพ้กัน การเดินทางในกรุงเทพฯ ช่วงนี้ จึงอาจต้องเผื่อเวลามากกว่าเดิมเป็นชั่วโมง อากาศพิษก็มากขึ้นจากการก่อสร้างและการจราจร เป็นความทุกข์แสนสาหัสของคนกรุงเทพฯ แม้ก็รู้ว่าต้องจำใจรับสภาพก็ตาม

ยิ่งเราเห็นข่าวชิ้นส่วนงานก่อสร้างหล่นใส่รถเก๋งจนพังพินาศ โชคดียังไม่มีผู้เสียชีวิต แค่นี้เราขับรถไปไหนในยุคที่มีการก่อสร้างทั่วกรุงเทพฯ อย่างนี้ เกิดความเสี่ยงอันตรายได้ทุกเวลา ยังกับอยู่ในสมรภูมิรบ ที่จริงสถานการณ์รถติดหนักวันนี้ และปัญหาของหล่นใส่จากการก่อสร้าง สามารถแก้ไขให้ดีขึ้นได้แน่นอน

ยกตัวอย่างผู้รับเหมาก่อสร้างมักจะกั้นหนึ่ง หรือสองช่องทางเดินรถตลอดทั้งแนวถนน เพื่อใช้ในการก่อสร้างตั้งแต่ใช้เป็นสำนักงาน กองวัสดุ ติดตั้งอุปกรณ์ จึงเสียพื้นที่ผิวถนนและสร้างอุปสรรครถก็เลยติด

ในฐานะวิศวกรโยธาผมสังเกตว่าหากบริหารจัดการอย่างมีระบบ ก็อาจไม่จำเป็นต้องใช้พื้นที่ถนนมากขนาดนั้นสามารถคืนพื้นที่บางส่วน บางเวลา ตรงไหนยังไม่ถึงเวลาจะใช้ก็ไม่ควรไปกั้นล่วงหน้านานจนเกินไป ตรงไหนทำเสร็จแล้ว ก็ต้องรีบคืนผิวทางจราจร เพื่อบรรเทาปัญหารถติด

เรื่องนี้จะทำสำเร็จได้ก็ต้องขอให้ผู้รับเหมาช่วยบริหารงานก่อสร้างสัมพันธ์กับการจราจรในแต่ละพื้นที่ โดยต้องได้รับความสนับสนุนจาก 1.เจ้าหน้าที่ของ กทม. 2.ตำรวจจราจร 3.เจ้าของโครงการผู้กำกับดูแลงานสัญญาก่อสร้าง และ 4.ประชาชนผู้ใช้รถใช้ถนน

นั่นเพราะปัญหาสำคัญของการก่อสร้างรถไฟฟ้าในเมืองคือ เรื่องการย้ายสาธารณูปโภคเดิม ซึ่ง กทม.ต้องอนุญาตและให้ความร่วมมือ ส่วนตำรวจจราจรคือ ผู้เสียสละที่ต้องรักษากฎหมาย และบริหารการจราจรตามสถานการณ์

ขณะที่เจ้าของโครงการ เช่น รฟท.และ รฟม.ก็ต้องกำชับผู้รับเหมาเรื่องมาตรฐานความปลอดภัยขณะก่อสร้าง ซึ่งเป็นเรื่องที่สังคมไทยเป็นกังวลที่สุด ความปลอดภัยต้องมาก่อนเสมอ เชื่อว่าทำได้ เพราะไม่ใช่เรื่องใหม่และผู้ใช้รถใช้ถนนก็ต้องมีวินัยจราจร ช่องทางจราจรมีน้อยลง หากยังติดนิสัย ชอบเบียด ชอบปาด ชอบจี้ แบบไทยๆ สถานการณ์คงมีแต่แย่กับแย่ลง

กรุงเทพฯ ไม่ใช่เมืองเดียวที่ประสบปัญหากรณีนี้ เพราะช่วงที่ผมเรียนปริญญาเอกที่เอ็มไอที เมืองบอสตัน สหรัฐอเมริกา เมื่อเกือบ 20 ปีที่แล้ว ก็มีโครงการก่อสร้างระดับอภิมหาโปรเจกต์คือ โครงการอุโมงค์ไฮเวย์ (Central Artery) หรือ Big Dig เป็นโครงการอภิมหางานขุดดินที่ต้องรื้อทางยกระดับขนาด 12 ช่องทางจราจร ที่ตัดผ่ากลางเมืองบอสตันจากเหนือลงใต้ แล้วก่อสร้างเป็นอุโมงค์ใต้ดินทดแทน ต้องใช้เวลาก่อสร้างทั้งเมืองมากกว่า 20 ปี ใช้งบประมาณมากกว่า 5 แสนล้านบาท เป็นโครงการก่อสร้างที่ใหญ่ที่สุดในอเมริกา ใหญ่กว่าโครงการรถไฟฟ้าที่กำลังสร้างที่กรุงเทพฯ รวมกันเสียอีก

ขณะนั้นเมืองบอสตันเข้าใจปัญหาและได้ให้ความสำคัญกับการจัดการจราจรที่หนาแน่นได้อย่างมีประสิทธิภาพ จนประชาชนแทบไม่เดือดร้อนเลย ยิ่งไปกว่านั้นโครงการนี้ยังมีความความซับซ้อนและท้าทายมาก เพราะต้องขุดเจาะอุโมงค์ลอดใต้ทางรถไฟจำนวนมาก ขณะที่รถไฟยังต้องให้บริการปกติและต้องเจาะผ่านอุโมงค์รถไฟฟ้าใต้ดินที่เก่าแก่ที่สุดในทวีปอเมริกา ทั้งต้องรื้อโครงสร้างทางยกระดับเดิม ยากกว่าโครงการที่กรุงเทพฯ แต่ก็ยังทำได้ดีและมีอุบัติเหตุเกิดขึ้นน้อยมาก

จากตัวอย่างดังกล่าวจึงมั่นใจว่า การแก้วิกฤตรถติดในกรุงเทพฯ และสร้างความปลอดภัยของการก่อสร้าง ทำได้แน่นอน อยู่ที่ว่าจะทำจริงหรือไม่