posttoday

สูญเสีย"เอกราชทางการผลิต"

08 สิงหาคม 2561

อุเทน ชาติภิญโญ หัวหน้าพรรคคนไทย

อุเทน ชาติภิญโญ หัวหน้าพรรคคนไทย

ในขณะที่ประชาชนบอกว่าเศรษฐกิจแย่อย่างนั้นอย่างนี้ แต่ขุนพลทางเศรษฐกิจของรัฐบาลยังตระเวนโชว์วิสัยทัศน์ในหลายเวที ด้วยการยกตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ หรือจีดีพี ว่าขยับสูงขึ้นที่สุดในรอบ 5 ปี ตลอดจนการคาดการณ์เศรษฐกิจไทยโดยธนาคารเพื่อการพัฒนาแห่งเอเชีย (เอดีบี) ที่ระบุว่าเศรษฐกิจไทยในปี 2561 จะขยายตัวถึงร้อยละ 4.2 เพื่อพยายามบ่งบอกว่าเศรษฐกิจไทยดีขึ้นทั้งระบบอย่างต่อเนื่อง

แต่หากติดตามให้ดีจะพบว่าตัวเลขเศรษฐกิจการค้าการลงทุนที่ขยับขึ้นในทิศทางที่ดูดีจนรัฐบาลปลาบปลื้ม และนำมาป่าวประกาศเป็นผลงานนั้นต้องแลกมากับอะไรหลายอย่าง ทั้งในแง่ความเป็นจริงที่ประชาชน แทบทุกระดับต้องประสบกับปัญหารายได้ไม่เพียงพอกับรายจ่ายไม่เพียงเท่านั้นการปลุกปั้นตัวเลขด้านต่างๆ ยังทำให้รัฐบาลทำร้ายภาคเอกชนไทย ไม่ว่าจะด้วยความจงใจ หรือพลั้งเผลอก็ตามเพียงเพื่อแลกมากับตัวเลขการค้าการลงทุนจากประเทศมหาอำนาจ เพราะในขณะนี้ที่ว่ากันว่ามีสงครามการค้าระหว่างประเทศยักษ์ใหญ่นั้น รัฐบาลไทยกลับเลือกที่จะเปิดประตูให้ข้าศึกที่มาในนามประเทศมหาอำนาจเข้ามายึดหัวหาด กลายเป็นทำให้เรากลายเป็นเมืองขึ้นทางเศรษฐกิจให้กับหลายประเทศ  กดทับความโดดเด่นของเราที่เป็นประเทศผู้ผลิตผู้ส่งออกลงอย่างสิ้นเชิง  จนอาจพูดได้ว่า เราได้สูญเสีย” เอกราชทางการผลิต- การส่งออก” ไปเป็นที่เรียบร้อยแล้ว

มีข้อมูลจากการที่ได้สื่อสารกับเพื่อนฝูงในแวดวงธุรกิจว่า นอกเหนือจากได้รับความลำบากในแง่การส่งออกสินค้าไปขายยังต่างประเทศแล้ว ตลาดในประเทศเองก็ถูกข้าศึกเข้ามาตียับเยิน โดยมีภาครัฐของเราเองรู้เห็นและเป็นใจ ด้วยมีการเลือกใช้ช่องโหว่ทางกฎหมายเปิดประตูให้ต่างชาติ เข้ามากอบโกยผลกำไรในประเทศราวกับว่าเราเป็นตลาดสด-ตลาดนัดสินค้าต่างชาติไหลเข้าแข่งขันกับสินค้าไทย ทั้งที่สินค้าที่มาจากต่างประเทศ ก็ใช่ว่าจะดีทั้งหมด หลายครั้งก็ต้องประเภทของย้อมแมว ของก๊อบปี้ เกรดมิลเลอร์ อาจจะดูดีเฉพาะแบรนด์แต่คุณภาพเนื้อในไม่ได้ดีเด่นไปกว่าของที่ผลิตในประเทศ

สิ่งที่เกิดขึ้นในขณะนี้ทำให้สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เริ่มเคลื่อนไหวชี้ปัญหาที่ภาคเอกชนไทยกำลังเผชิญให้รัฐบาลได้รับรู้ในหลายวาระ ล่าสุด ส.อ.ท.ต้องออกมา กระตุ้นภาครัฐให้เห็นค่าความสำคัญของการส่งเสริมสินค้าที่ผลิตในประเทศ หรือเมดอินไทยแลนด์ โดยเรียกร้องให้ยกเป็นวาระแห่งชาติเลยทีเดียว น่าสังเกตว่ามีการหยิบยกพระราชบัญญัติการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ. 2560 เพื่อใช้บทบัญญัติข้อกำหนดต่างๆ ในกฎหมายที่เพิ่งปรับปรุงกันใหม่ในการส่งเสริมการใช้สินค้าไทย ซึ่งสาระสำคัญของพระราชบัญญัติดังกล่าวกำหนดให้ ภาครัฐพิจารณาให้ความสำคัญในการจัดซื้อจัดจ้างสินค้าและบริการของเอกชนผู้ประกอบการสัญชาติไทยก่อน กล่าวคือหากมีผู้ยื่นเสนอขายสินค้าให้กับรัฐที่เป็นของไทย ได้รับรองการจดทะเบียนผลิตภัณฑ์ไว้กับกระทรวงอุตสาหกรรมตั้งแต่ 3 ราย ขึ้นไป ให้ระบุความต้องการเฉพาะพัสดุซึ่งแสดงเครื่องหมายมาตรฐานและผลิตจากโรงงานที่ได้รับรองระบบคุณภาพที่ทำในประเทศไทยเท่านั้น

ตรงนี้สำคัญเพราะขณะนี้ในแต่ละปีรัฐบาลกำหนดงบประมาณรายจ่ายประจำปีสูงถึง 3 ล้านล้านบาท โดยมีงบประมาณจัดซื้ออุปกรณ์ครุภัณฑ์ต่างๆ อยู่เกือบครึ่งหนึ่งของงบประมาณทั้งหมด หากมีการจัดสรรวางระบบเอื้อให้ผู้ประกอบการคนไทยได้รับประโยชน์อย่างมีประสิทธิภาพก็จะช่วยพัฒนา ยกระดับอุตสาหกรรมภายในประเทศ โดยเฉพาะในส่วนของอุตสาหกรรม เป้าหมายใหม่หรือธุรกิจสตาร์ทอัพ ที่รัฐบาลพยายามส่งเสริมสนับสนุน แต่มีการใช้กฎหมายที่เขียนขึ้นมาอย่างดูดี พระราชบัญญัติการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ. 2560 มาเป็นเครื่องมือในการทำร้ายภาคเอกชนผู้ประกอบการไทย โดยขณะนี้ทราบว่าการตีความบทบัญญัติที่เขียนไว้อย่างกว้างในมาตรา 3 ที่ระบุว่า “ให้ยกเลิกบทบัญญัติเกี่ยวกับพัสดุการจัดซื้อ จัดจ้าง หรือการบริหารพัสดุในกฎหมาย ระเบียบ ข้อบังคับ ประกาศ ข้อบัญญัติ และข้อกําหนดใดๆ ของหน่วยงาน ของรัฐที่อยู่ ภายใต้บังคับแห่งพระราชบัญญัตินี้”

จนเกิดความคลาดเคลื่อนและ เกิดผลในทางไม่เป็นโยชน์กับภาคเอกชนของไทยเอง ลบล้างข้อดีของกฎหมายและข้อบังคับในอดีต โดยเฉพาะการนำไปหักล้างข้อ 16 ของระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการพัสดุ พ.ศ. 2535 ที่ว่าด้วย “การใช้พัสดุที่ผลิตในประเทศและกิจการของคนไทย” ว่าถูกยกเลิกไปทั้งหมด ทั้งที่ในมาตรา 122 ของกฎหมายจัดซื้อจัดจ้างปี 2560 ได้ป้องกันความคลาดเคลื่อนที่อาจเกิดขึ้นไว้แล้วว่า ให้ระเบียบต่างๆ และมติคณะรัฐมนตรีที่เกี่ยวกับพัสดุการจัดซื้อจัดจ้าง หรือการบริหารพัสดุของหน่วยงานของรัฐยังคงใช้บังคับได้ต่อไปเท่าที่ไม่ขัดหรือแย้งกับพระราชบัญญัตินี้

ที่ต้องออกมากระชุ่นอีกแรงเพราะเป็นความจริงอันโหดร้าย เมื่อรัฐบาลที่หน้าฉากบอกว่าจะส่งเสริมสนับสนุนเอกชนผู้ประกอบการไทย แต่หลังฉากกลับปล่อยให้มีขบวนการ ที่กำลังทำลายเกราะป้องกันเศรษฐกิจไทย ทำให้เราสูญเสีย “เอกราชทางการผลิต-การส่งออก” และกลายเป็นเมืองขึ้นทางเศรษฐกิจของมหาอำนาจไม่ว่าด้วยจะความจงใจ หรือพลั้งเผลอก็ตาม หากไม่รีบแก้ไขผู้ประกอบการไทยจะไม่สามารถแข่งขันกับสินค้าที่นำเข้าจากต่างประเทศได้  เพราะยังมีหลายประเทศที่รัฐบาลส่งเสริมการส่งออกโดยคืนภาษีให้ (Export Tax Rebate) โดยเฉพาะประเทศจีนได้คืนภาษีให้สินค้าบางรายการสูงถึง 17% จะทำให้ผู้ผลิตในประเทศขายสินค้าไม่ได้ และจะต้องทยอยลดกำลังการผลิตและอาจจะต้องถึงปิดกิจการ ก็จะทำให้รัฐสูญเสียรายได้จากภาษีอากร ทั้งทางตรงและทางอ้อม ทำให้คนไทยตกงานมากขึ้นด้วย เรียกว่าจะเพิ่มภาระปัญหาให้กับประเทศอีกนานัปการ