posttoday

น้ำท่วม แพ้น้ำใจ

30 กรกฎาคม 2561

ประเทศไทยในฐานะผู้บริโภคไฟฟ้าจากลาวและในฐานะเพื่อนบ้านใกล้เคียงที่รักกัน ก็ต้องให้ความช่วยเหลืออย่างเต็มที่

ประเทศไทยในฐานะผู้บริโภคไฟฟ้าจากลาวและในฐานะเพื่อนบ้านใกล้เคียงที่รักกัน ก็ต้องให้ความช่วยเหลืออย่างเต็มที่

********************

โดย...ศาสตราจารย์ ดร.สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ ประธานสถาบันนวัตกรรมชุมชนอัจฉริยะ และอธิการบดี สจล.

ภาพพี่น้องชาวลาวอุ้มลูกหนีตายอยู่บนหลังคาบ้าน หลังจากที่ทั้งหมู่บ้านถูกมวลน้ำมหาศาลมากกว่า 5,000 ล้านลูกบาศก์เมตรท่วมถล่ม เมื่อเขื่อนเซเปียน-เซน้ำน้อยเกิดวิบัติกลายเป็นภาพสะเทือนใจไปทั่วโลก และยังสร้างความสูญเสียให้กับชีวิตและทรัพย์สินมหาศาล ถือเป็นภัยพิบัติครั้งใหญ่ในรอบทศวรรษของลาว

ลาว หรือสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว (สปป.ลาว) ประเทศเพื่อนบ้านของไทย มีพื้นที่ประมาณ 2.3 แสนตารางกิโลเมตร หรือเกือบครึ่งหนึ่งของพื้นที่ประเทศไทย ภูมิประเทศส่วนใหญ่มากกว่า 3 ใน 4 ของประเทศ เป็นภูเขาสูงและที่ราบสูง ปกคลุมไปด้วยป่าสมบูรณ์ ทั้งยังมีแม่น้ำหลายสาย รวมถึงแม่น้ำโขง ซึ่งเป็นแม่น้ำสายหลักของประเทศทอดยาวจากเหนือลงใต้ ลาวมีความหนาแน่นของประชากรต่ำ รายได้ไม่สูง ประกอบอาชีพทางการเกษตรเป็นหลัก

ปัจจุบันลาวมีรายได้จากการผลิตกระแสไฟฟ้าพลังน้ำเพื่อการส่งออก ลูกค้ารายใหญ่ที่สุดคือประเทศไทย ที่มีความต้องการพลังงานไฟฟ้าสูงขึ้นทุกปี เนื่องจากภูมิประเทศที่เหมาะสม ฝนตกชุก ป่าสมบูรณ์เก็บน้ำ มีแม่น้ำหลายสาย จึงเกิดโครงการก่อสร้างเขื่อนผลิตกระแสไฟฟ้าจำนวนมากในทศวรรษที่ผ่านมา จนได้รับการขนานนามว่าเป็น “แบตเตอรี่ของเอเชีย”

เขื่อนวิบัติครั้งนี้ไม่ใช่ครั้งแรกของลาว เพราะเคยเกิดขึ้นมาแล้ว แต่ความเสียหายน้อยกว่า การก่อสร้างเขื่อนถือเป็น “งานวิศวกรรมขนาดใหญ่” เป็นเทคนิคขั้นสูง ตั้งแต่การสำรวจภูมิประเทศ การออกแบบคำนวณ การก่อสร้าง จนถึงการใช้งาน เพราะเขื่อนคือสิ่งก่อสร้างที่มนุษย์สร้างขึ้นเพื่อกั้นมวลน้ำมหาศาล ยิ่งมีขนาดใหญ่ สูงขึ้นเท่าใดก็จะมีแรงดันน้ำมากขึ้นเท่านั้น และยิ่งสามารถใช้ในการปั่นมอเตอร์เพื่อผลิตกระแสไฟฟ้ามากขึ้นเช่นกัน

แต่การออกแบบงานวิศวกรรมเขื่อน วิศวกรต้องคำนวณปริมาณน้ำที่ต้องเก็บกัก ซึ่งถือเป็นงานที่ท้าทายมาก เพราะไม่มีใครรู้แน่ชัดว่าอีก 100 หรือ 200 ปี หรือนานกว่านั้นจะมีน้ำมากขึ้นหรือน้อยลงแค่ไหน จึงจำเป็นต้องประมาณเผื่อไว้ หากเผื่อน้อยไป น้ำมีมากเกิน เขื่อนอาจจะต้านทานแรงดันน้ำไม่ได้ จึงเกิดการวิบัติได้ทุกเมื่อ

บทเรียนของเขื่อนวิบัติในลาวครั้งนี้ ให้เราต้องเรียนรู้ คือ 1.งานวิศวกรรมขนาดใหญ่ย่อมมีความเสี่ยง ความผิดพลาดเพียงเล็กน้อยไม่ว่าจะเกิดจากกระบวนการใด อาจส่งผลกระทบระดับภัยพิบัติของชาติได้ทันที 2.แผนการป้องกันและบรรเทาภัยพิบัติต้องมีการเตรียมพร้อมเสมอ ซึ่งพบว่ามีการตรวจเจอรอยร้าวของเขื่อนเซเปียน-เซน้ำน้อย ก่อนเขื่อนวิบัติ 1 วัน แต่ก็ไม่แน่ชัดว่ามีการดำเนินการเตือนภัยจริงจังมากน้อยเพียงใด และ 3.ต้องหาสาเหตุของการวิบัติให้เจอเร็วที่สุด เพราะยังมีเขื่อนอีกนับร้อยที่ก่อสร้างไปแล้ว หรือกำลังก่อสร้างในลาว เพื่อหาทางป้องกันภัยพิบัติไม่ให้เกิดขึ้นอีก

ประเทศไทยในฐานะผู้บริโภคไฟฟ้าจากลาวและในฐานะเพื่อนบ้านใกล้เคียงที่รักกัน ก็ต้องให้ความช่วยเหลืออย่างเต็มที่ ซึ่งสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) ที่มีความผูกพันกับลาวในฐานะสถาบันที่สนับสนุนการเรียนการสอนด้านวิศวกรรมศาสตร์ของลาวตั้งแต่เริ่มต้น และสมาคมไทย-ลาว เพื่อมิตรภาพ กระทรวงการต่างประเทศ จึงได้ร่วมกันจัดคอนเสิร์ตการกุศล “ส่งน้ำใจ ไปช่วยลาว” ในวันพฤหัสบดีที่ 2 ส.ค.นี้ เวลา 17.00 น. ที่หอประชุมใหญ่ฝั่งคณะวิศวกรรมศาสตร์ สจล. โดยมีเอกอัครราชทูตลาวประจำประเทศไทย มารับบริจาคด้วยตนเอง หรือสามารถบริจาคผ่านบัญชีธนาคารไทยพาณิชย์ เลขที่ 088-262988-4

เพราะเราเชื่อมั่นว่าน้ำท่วมหนักแค่ไหน ยังแพ้น้ำใจคนไทย