posttoday

ส่องไฟตัวละคร ไฮสปีดสามสนามบิน

29 กรกฎาคม 2561

ใครเป็นใคร หลังเปิดขายซองทีโออาร์รถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน

ใครเป็นใคร หลังเปิดขายซองทีโออาร์รถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน

********************

โดย...อาทิตย์ โกวิทวรางกูร เครือข่ายมักกะสัน [email protected]

การเปิดขายซองทีโออาร์ไฮสปีดสามสนามบินผ่านพ้นไปแล้ว มาดูกันว่าใครเป็นใครบ้าง

ฝั่งไทยเราพอคุ้น ข้ามไปดูต่างชาติกันก่อน

ขอเริ่มจากชาติที่คนหวาดกันมาก เพราะกำลังกลืนประเทศไทย

ใช่ครับ ประเทศจีน

ทั้ง 7 รายล้วนเป็นองค์กรที่รัฐบาลจีนเป็นเจ้าของ (ผู้ถือหุ้นใหญ่) ...ถ้าไม่อยู่ในรูปของรัฐวิสาหกิจ ก็เป็นบริษัทลูกของรัฐวิสาหกิจ หรือบริษัทที่รัฐถือหุ้นใหญ่

แพตเทิร์นที่คล้ายคลึงกันของรัฐวิสาหกิจเหล่านี้ คือ (1) จะแยกบริษัทลูกออกมา เพื่อจดทะเบียนเข้าตลาดหลักทรัพย์ (เซี่ยงไฮ้ และ/หรือ ฮ่องกง) (2) รัฐวิสาหกิจตัวแม่ จะอยู่ภายใต้หน่วยงานกำกับของรัฐวิสาหกิจของรัฐบาลจีน ที่มีชื่อย่อว่า SASAC (State-owned Assets Supervision and Administration Commission of the State Council หน่วยงานนี้ตั้งขึ้นในปี 2003 เพื่อปฏิรูปการดูแลและบริหารจัดการรัฐวิสาหกิจ)

คู่แรกเป็น “รัก-ยม” ของการสร้างทางรถไฟ

China Railway Group Limited (CREC) บริษัทลูกของรัฐวิสาหกิจ China Railway Engineering Corporation (CRECG) ก่อสร้างงานรถไฟและอื่นๆ อีกแห่งคือ China Railway Construction Corporation Limited (CRCC)

ทั้งคู่เป็น Railway Construction Super Conglomerates คือ ไม่ได้ทำแต่ทางรถไฟ แต่ยังทำทางด่วน ทางยกระดับ โครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ มีบริษัทลูกในเครือกันหลายสิบบริษัท และต่างมีรายได้กันในระดับ “หลายล้านล้านบาท”

China Communications Construction Company Limited (CCCC) เกิดขึ้นในปี 2005 หลังการปรับโครงสร้างรัฐวิสาหกิจ โดยรวมเอา China Road and Bridge Corporation (CRBC) และ China Harbour Engineering Co. (CHEC) เข้าด้วยกัน รับงานได้ทั้งโครงสร้างคมนาคมทางบกและทางน้ำ

China State Construction Engineering Corporation Limited (CSCECL) หนึ่งในบริษัทก่อสร้างที่ใหญ่ที่สุดโลก (วัดจากรายได้) อาจเรียกได้ว่าเป็นรัฐวิสาหกิจก่อสร้างแห่งชาติของจีน โตขึ้นมาจากงานก่อสร้างในอุตสาหกรรมหนักและโครงสร้างพื้นฐานทั่วโลก โดยเฉพาะในทวีปเอเชีย แอฟริกา และตะวันออกกลาง มีบริษัทลูกที่ทำงานเฉพาะด้าน อย่างครบวงจร ออฟฟิศในเมืองไทยอยู่ที่ตึกอิตัลไทย

China Resources (Holdings) Company Limited (CRC) รัฐวิสาหกิจที่เน้นส่งออกสินค้าจากจีนแผ่นดินใหญ่ไปยังฮ่องกง ปัจจุบันมีธุรกิจสารพัดอย่างทั้งในจีนและฮ่องกง (เช่น โรงไฟฟ้าถ่านหิน ก๊าซ ซีเมนต์ เอทานอล พัฒนาอสังหาริมทรัพย์ ค้าปลีก เครื่องดื่ม ฯลฯ) ในเมืองไทยตรง All Seasons Place มีตึกหนึ่งชื่อ CRC Tower เป็นชื่อย่อของ China Resources หนึ่งในผู้ร่วมลงทุน ตั้งแต่ปี 2532 โน่นล่ะ

SinoHydro Corporation Limited ชื่อสื่อเป็นนัยว่าทำอะไรเกี่ยวกับน้ำและเป็นของจีน รัฐวิสาหกิจทางด้านวิศวกรรมพลังงานน้ำและก่อสร้าง หลังจากสร้างเขื่อนสามผา (Three Gorges Dam) แล้วเสร็จ ได้กลายเป็นบริษัทผลิตเขื่อนใหญ่สุดในโลก ในเมืองไทยเคยร่วมกับ UNIQ ประมูลงานก่อสร้างทางรถไฟทางคู่

ส่องไฟตัวละคร ไฮสปีดสามสนามบิน

รายสุดท้าย คือ CITIC Group

ย่อมาจาก China International Trust Investment Corporation

ซีติก ตั้งขึ้นจากดำริของอดีตประธานาธิบดี เติ้งเสี่ยวผิง ในปี 1979 เพื่อ “ดึงดูดและใช้ประโยชน์จากทุนต่างประเทศ ส่งเสริมเทคโนโลยีที่ก้าวหน้า และรับเอาวิธีบริหารจัดการวิธีปฏิบัติการที่ก้าวหน้าและเป็นวิทยาศาสตร์ ดังที่นานาชาติทำกัน”

ปัจจุบันถือเป็นกลุ่มบริษัทสารพัดธุรกิจที่ “ใหญ่ที่สุดของจีน”

ซีพี มีความสัมพันธ์กับกลุ่มซีติก ผ่านการลงทุนในบริษัทลูก CITIC Limited (ซึ่งถือสินทรัพย์เกือบทั้งหมดของ CITIC Group นั่นล่ะ) ร่วมกับอิโตชู (ผู้ร่วมซื้อซองประมูล อีกบริษัทจากญี่ปุ่น) โดยถือหุ้น
ซีติกกันคนละ 10%

ถือเป็นการลงทุนจากต่างชาติในรัฐวิสาหกิจจีนที่ใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์

มาต่อกันที่ “ญี่ปุ่น” ประเทศต้นกำเนิดรถไฟความเร็วสูง

ที่น่าสนใจ คือ Japan Overseas Infrastructure Investment Corporation for Transport & Urban Development (JOIN)

JOIN เป็นบริษัทร่วมลงทุน ตั้งขึ้นในปี 2014 โดยการลงขันกันระหว่างรัฐและเอกชน

ถามว่ารัฐบาลญี่ปุ่นตั้งองค์กรนี้ขึ้นมาเพื่ออะไร ? คำตอบ คือ เพื่อส่งเสริมระบบโครงสร้างสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานของญี่ปุ่นในตลาดต่างประเทศ ให้ “โตขึ้น 3 เท่า ภายใน 10 ปี” (เพิ่มจาก 10 ล้านล้านเยน ในปี 2010 เป็น 30 ล้านล้านเยน ในปี 2020) ภายใต้ยุทธศาสตร์ฟื้นคืนพลังให้กับเศรษฐกิจญี่ปุ่น (ที่คนเรียกกันว่า Abenomics ตามชื่อนายกรัฐมนตรี ชินโสะ อาเบะ) โดยเริ่มมาตั้งแต่ปี 2013

ณ สิ้นเดือน มี.ค.ที่ผ่านมา JOIN มีเงินทุนทั้งสิ้น 4.65 หมื่นล้านเยน โดยมาจากรัฐบาล 4.05 หมื่นล้านเยน จากเอกชน 6,000 ล้านเยน (ส่วนใหญ่เป็นกลุ่มสมาคมต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง)

แต่ละโครงการ JOIN จะร่วมลงทุนกับบริษัทเอกชน และร่วมมือกับธนาคารหรือสถาบันต่างๆ (JICA JBIC NEXI ฯลฯ) เพื่อสนับสนุนทางการเงินและด้านอื่นๆ ในกรณีนี้หากฟูจิตะ หรืออิโตชู หรือฮิตาชิ ร่วมประมูลก็น่าจะมี JOIN เข้าร่วมด้วย

ฮิตาชิ บริษัทที่คนไทยคุ้นเคยผ่านเครื่องใช้ไฟฟ้าภายในบ้าน แต่แท้จริงแล้วในญี่ปุ่นฮิตาชิ มีธุรกิจอื่นๆ อีกมากมาย และที่เกี่ยวกับโครงการนี้ คือ ฮิตาชิ เป็นหนึ่งในไม่กี่บริษัทของญี่ปุ่นที่ผลิตรถไฟความเร็วสูง

ฟูจิตะ คอร์ปอเรชั่น เป็นบริษัทที่ให้บริการด้านก่อสร้างทั่วไป (General Construction Services) มีบริการที่หลากหลายและครอบคลุมอยู่ในเครือเดียวกับ Daiwa House Group (ซึ่งเป็นเจ้าของธุรกิจรับสร้างบ้านที่ใหญ่ที่สุดในประเทศญี่ปุ่น เชี่ยวชาญในบ้านกึ่งสำเร็จรูป
(บ้านพรีแฟบ - Prefabricated Houses)

ที่คนจับตา คือ อิโตชู (Itochu Corporation) บริษัทเทรดดิ้งชั้นนำของญี่ปุ่น เข้าใจว่าเพราะ

(1) กลุ่มซีพีถือหุ้น 4.9% ในอิโตชู (เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่อันดับ 3 มูลค่าเงินลงทุนประมาณ 1,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ) ในทางกลับกันอิโตชูก็ถือหุ้น 25% ในบริษัท CP Pokphand Co. ที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฮ่องกง (มูลค่าประมาณ 854 ล้านดอลลาร์) -- พูดภาษาชาวบ้าน คือ ถือหุ้นไขว้กัน เรื่องเกิดในปี 2014

(2) อิโตชูและซีพี ร่วมลงทุนในซีติก

สามเจ้าผนึกกัน : ญี่ปุ่น+ไทยผสมจีน+จีน = อภิ-มหา-โคตร-ทุนแห่งเอเชีย!

ส่องไฟตัวละคร ไฮสปีดสามสนามบิน