posttoday

ปฏิรูปท่องเที่ยวทางทะเล

22 กรกฎาคม 2561

อุบัติเหตุจากเรือท่องเที่ยวในอันดามัน นอกจากเป็นเหตุการณ์ที่น่าเศร้า ยังหมายถึงหลายฝ่ายหันมาให้ความสำคัญกับการจัดระเบียบการท่องเที่ยวในพื้นที่ภูเก็ต พังงา และกระบี่

อุบัติเหตุจากเรือท่องเที่ยวในอันดามัน นอกจากเป็นเหตุการณ์ที่น่าเศร้า ยังหมายถึงหลายฝ่ายหันมาให้ความสำคัญกับการจัดระเบียบการท่องเที่ยวในพื้นที่ภูเก็ต พังงา และกระบี่

*************************

โดย...ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ อาจารย์ประจำคณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

อุบัติเหตุที่เกิดขึ้นจากเรือท่องเที่ยวในอันดามัน นอกจากเป็นเหตุการณ์ที่น่าเศร้า ยังหมายถึงหลายฝ่ายหันมาให้ความสำคัญกับการจัดระเบียบการท่องเที่ยวในพื้นที่ภูเก็ต พังงา และกระบี่ ที่ถือเป็นแหล่งท่องเที่ยวทำรายได้สูงสุดเป็นอันดับ 2 ของประเทศ เป็นรองแค่กรุงเทพมหานครเพียงเท่านั้น

การจัดการแบ่งเป็น 2 ส่วน อย่างแรก คือการจัดการทัวร์ศูนย์เหรียญ ที่มีการแก้ปัญหาอย่างต่อเนื่องและคงจะดำเนินต่อไป อีกส่วนคือการจัดระเบียบการท่องเที่ยวเพื่อความปลอดภัยและเพื่อลดผลกระทบต่อทรัพยากรธรรมชาติ

ในแผนปฏิรูปประเทศที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยวทางทะเล ระบุแนวทางไว้ชัดเจนว่าการท่องเที่ยวในอันดามันมีความสำคัญต่อรายได้ประเทศเป็นอย่างมาก แต่ก็มีความสุ่มเสี่ยงต่อการก่อให้เกิดผลกระทบต่อทรัพยากรทางทะเล โดยเฉพาะแนวปะการัง ยังหมายถึงการจัดการเพื่อป้องกันและลดอุบัติเหตุ ที่ต้องทำงานร่วมกันเพื่อยกระดับในหลายด้าน

ผมเพิ่งมีโอกาสประชุมกับผู้บริหารของกรมอุทยานฯ เพื่อช่วยกันผลักดันโครงการใหม่ๆ ให้เกิดขึ้น ส่วนที่เกี่ยวข้องโดยตรงคือระบบติดตามเรือท่องเที่ยวที่เข้ามาในเขตอุทยานทางทะเล โดยเฉพาะ 3 อุทยานหลัก ได้แก่ พีพี สิมิลัน และอ่าวพังงา ปริมาณเรือท่องเที่ยวที่ขออนุญาตรวมกันมีมากกว่า 3,000 ลำ

เรือเหล่านี้ไม่มีระบบติดตามการสัญจร เพราะส่วนใหญ่เป็นเรือขนาดเล็ก ไม่ได้อยู่ในกฎข้อบังคับของกรมเจ้าท่า แต่ถ้าอยากจัดระเบียบเพื่อลดอุบัติเหตุและลดผลกระทบ เราจำเป็นต้องติดตามเรือเหล่านี้ให้ได้ว่าจะไปไหน มีนักท่องเที่ยวเท่าไหร่ เข้าไปในเขตที่กำหนดให้เข้าหรือไม่ ขออนุญาตหรือเปล่า ฯลฯ

กรมอุทยานฯ จึงกำลังจะจัดระบบติดตามเรือเหล่านี้ โดยปรับปรุงการขออนุญาตให้เข้ามาท่องเที่ยวในอุทยาน สร้างระบบติดตามการสัญจรของเรือ เพื่อใช้ในการควบคุมดูแล อีกทั้งยังสามารถขอความช่วยเหลือได้ในกรณีฉุกเฉิน

ระบบดังกล่าวหากใช้ได้สมบูรณ์ เราจะสามารถดูแลการท่องเที่ยวได้อย่างเป็นระบบ ลดปัญหาในด้านต่างๆ รวมถึงปัญหาคนล้นเกาะที่เกิดขึ้นเป็นประจำ เพราะมีเรือที่ไม่ได้ขออนุญาตลักลอบเข้ามา ทำให้ปริมาณสูงกว่าที่ควบคุมไว้

การจัดการไม่เพียงแค่ใช้เทคโนโลยีติดตามเรือ ยังหมายถึงปรับระบบควบคุมดูแล ค่าปรับในกรณีฝ่าฝืนหรือไม่ขออนุญาต รวมทั้งการจัดโซนนิ่งให้มีจุดจอดเรือ จุดเข้าออก ช่วงเวลาที่เข้าหาดเพื่อให้ไม่เกินขีดความสามารถในการรองรับ ตลอดจนการดูแลเรือขนาดเล็กของชาวบ้านในท้องถิ่นให้สามารถประกอบอาชีพได้อย่างเป็นธรรม ไม่ถูกกลุ่มทุนได้เปรียบมากเกินไป

ผลจากการประชุมชัดเจนว่ากรมอุทยานฯ จะเดินหน้าเรื่องนี้ ทั้งปรับระเบียบการขออนุญาตท่องเที่ยว จัดทำระบบติดตามตรวจสอบ มีศูนย์ทั้งที่ส่วนกลางและประจำพื้นที่ ตลอดจนการปรับระบบบริหารจัดการในอุทยานนำร่องทั้ง 3 แห่งเพื่อทดลองระบบ

ในฐานะกรรมการปฏิรูปประเทศที่รับผิดชอบเรื่องทะเล ผมเห็นความหวังในการยกระดับการดูแลความปลอดภัยของนักท่องเที่ยว ควบคู่ไปกับการดูแลรักษาธรรมชาติไม่ให้โดนใช้มากเกินไปจนเกิดผลกระทบ และหวังเป็นอย่างยิ่งว่าการเริ่มต้นของกรมอุทยานครั้งนี้จะเป็นการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญในการนำเทคโนโลยีที่ทันสมัย มาใช้ร่วมกับกฎระเบียบที่เหมาะสม และการทำงานในพื้นที่อย่างมีประสิทธิภาพ

โครงการดังกล่าวจึงถือเป็น Flagship และ Quick Win ของการปฏิรูปการท่องเที่ยวทางทะเล ที่น่าสนใจติดตามเป็นอย่างยิ่งว่าเราจะประสบความสำเร็จแค่ไหน? เพราะไม่ใช่เพียงแค่งบประมาณที่พอจะหาได้จากรายได้ค่าธรรมเนียมอุทยานที่มากขึ้น ยังหมายถึงการยกระดับกระบวนความคิดของผู้ดูแลพื้นที่ เพื่อก้าวไปใกล้ความเป็น Thailand 4.0 อีกก้าวหนึ่ง และสำคัญยิ่งต่ออนาคตของการท่องเที่ยวที่เป็นกิจการหลักในการหารายได้ของประเทศครับ