posttoday

ปลอดภัย ไทยแลนด์

16 กรกฎาคม 2561

ศาสตราจารย์ ดร.สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ ประธานสถาบันนวัตกรรมชุมชนอัจฉริยะ และอธิการบดี สจล.

กฎหมาย วินัย และเทคโนโลยี จำเป็นต่อการสร้างความปลอดภัยแก่สังคมไทย และต้องระลึกไว้เสมอว่า ความปลอดภัยเป็นคุณสมบัติเบื้องต้นของประเทศที่พัฒนาแล้ว

********************

โดย...ศาสตราจารย์ ดร.สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ ประธานสถาบันนวัตกรรมชุมชนอัจฉริยะ และอธิการบดี สจล.

ตั้งแต่เด็ก หลายท่านคงเคยฟังเพลงดัง “เมดอินไทยแลนด์” ของคาราบาวที่มีท่อนกระแนะกระแหน กทม.ว่า เป็นเมืองที่คนตกท่อ ไม่น่าเชื่อว่าผ่านไปมากกว่า 30 ปี ก็ยังมีข่าวคนตกท่อที่ กทม.ไม่เปลี่ยนแปลง สะท้อนปัญหาเรื่องความปลอดภัยที่เรื้อรังของสังคมไทย

ยังฟ้องด้วยสถิติอุบัติเหตุทางถนนที่ไทยถือเป็นแชมป์โลก เฉพาะสงกรานต์ก็ร่วม 400 ชีวิต/ปี มาถึงกรณีเรือล่มที่ภูเก็ตคร่าชีวิตนักท่องเที่ยวจีนเกือบ 50 ชีวิต หรือไฟไหม้ ป้ายล้ม ก็เห็นอยู่บ่อยเกินไป แม้แต่ขับรถในช่วงมีการก่อสร้างเต็มถนน ไม่รู้ว่าอะไรจะตกใส่รถวันไหน กระทั่งกรณีน้องๆ ทีมหมูป่าติดถ้ำหลวง ก็ยังไม่มีคำอธิบายว่าปล่อยให้เข้าไปได้อย่างไร ทำไมไม่ปิดถ้ำในช่วงฤดูฝน หรืออย่างน้อยก็น่ามีป้ายห้ามจริงจังชัดเจน สังคมไทยยังคงอะลุ้มอล่วย จนกลายเป็น “ความละเลย” หนักยิ่งกว่าความประมาทเสียอีก ปล่อยไปแบบนี้คงไม่ได้

ปัญหาความปลอดภัย แก้ไขได้ด้วย 3 วิธี คือ 1.กฎหมาย 2.วินัย และ 3.เทคโนโลยี เรื่องกฎหมายข้อบังคับ ถึงแม้จะดีแค่ไหน แต่หากไม่จริงจังบังคับใช้ ก็เหมือนไม่มี ขณะที่เรื่องวินัย เมื่อเปรียบเทียบกับญี่ปุ่น ที่เด็กทุกคนจะถูกสอนการปฏิบัติตนเมื่อเกิดภัยพิบัติ เช่น แผ่นดินไหว ก็ต้องรีบหลบลงใต้โต๊ะ เดินต่อแถวออกไปสนาม ไม่ผลักกัน มีสติ มีวินัย หรือเมื่อต้องเผชิญกับภัยทั้งสึนามิ ไต้ฝุ่น ดินถล่ม พายุหิมะ น้ำท่วม เด็กญี่ปุ่นก็สามารถดูแลตนเองได้ ขณะที่วันนี้ประเทศไทยก็เกิดภัยพิบัติ ตั้งแต่น้ำท่วม ไฟไหม้ หรือแม้แต่แผ่นดินไหว ทำไมเด็กไทยมิได้เรียนรู้วิธีการดูแลตนเอง และช่วยเหลือผู้อื่นเลย ควรต้องบรรจุอยู่ในวิชาบังคับในโรงเรียนด้วยซ้ำไป

แม้ภัยพิบัติอาจไม่เกิดขึ้นกับทุกคน แต่การเรียนรู้ด้านความปลอดภัยเป็นกุศโลบาย สร้างความมีวินัยให้กับเด็กไทย เราคงอยากเห็นคนไทยรุ่นหน้ามีระเบียบ ยิ่งเริ่มตั้งแต่ระดับอนุบาลก็ยิ่งดี เริ่มต้นด้วยการเคารพกฎจราจร การแจ้งเหตุ การรู้จักสังเกตสิ่งผิดปกติ การปฐมพยาบาลเบื้องต้น และการรู้จักใช้เทคโนโลยี แถมหากลูกกลับไปสอนพ่อแม่ด้วยแล้ว ยิ่งถือเป็นกำไรของสังคมไทย

ส่วนเรื่องเทคโนโลยีที่ใช้ในเรื่องความปลอดภัยก็เป็นปัจจัย ลองจินตนาการดูว่า นักท่องเที่ยวที่ไปวนอุทยานจะได้รับแจกกำไลยางกันน้ำติดตามได้ด้วยดาวเทียม หรือระบบสื่อสารในพื้นที่ นอกจากสร้างความปลอดภัยในการติดตามตัว หรือให้การช่วยเหลือในยามฉุกเฉินแล้ว ยังเป็นสัญลักษณ์ของความเอาใจใส่ห่วงใยนักท่องเที่ยว หรือทำแอพพลิเคชั่นดาวน์โหลดลงสมาร์ทโฟนที่มีกันแทบทุกคน ช่วยเป็นทั้งทัวร์ไกด์ให้ข้อมูล อธิบายสถานที่ท่องเที่ยวจุดต่างๆ อีกทั้งยังรับข้อมูลที่เป็นประโยชน์ยามฉุกเฉินได้ สะดวกและทันสมัย แบบนี้ใครก็รักเมืองไทยยุค 4.0

รถทัวร์โดยสารที่คว่ำกันประจำช่วงเทศกาล หากติดระบบจีพีเอส ตรวจสอบได้ทั้งตำแหน่งและความเร็ว จะป้องปรามคนขับรถเร็ว ลดอุบัติเหตุได้ การเดินทางทางทะเลก็เช่นกัน ต้องเชื่อมโยงกับระบบการพยากรณ์อากาศที่แม่นยำ เมื่อรู้อยู่ว่าจะมีพายุฝน ก็ต้องห้ามออกเรือ ปฏิบัติตามกฎอย่างเคร่งครัด มิฉะนั้นผู้เกี่ยวข้องจะได้รับโทษหนักตามกฎหมายที่บังคับใช้จริง เด็กไทยทุกคนถึงแม้อาจว่ายน้ไม่เป็น แต่อย่างน้อยก็จำเป็นต้องรู้วิธีปฏิบัติ หากต้องเดินทางทางเรือ

ทั้งกฎหมาย วินัย และเทคโนโลยี จำเป็นต่อการสร้างความปลอดภัยแก่สังคมไทย และต้องระลึกไว้เสมอว่า ความปลอดภัยเป็นคุณสมบัติเบื้องต้นของประเทศที่พัฒนาแล้วทุกประเทศในโลก