posttoday

วิศวกรรมกับถ้ำหลวง

09 กรกฎาคม 2561

งานวิศวกรรมมีอิทธิพลอย่างยิ่งในการกู้ภัยให้สำเร็จ และเชื่อมั่นว่าทีมหมูป่าจะกลับบ้านโดยปลอดภัยทุกวิธีการทุกความเป็นไปได้ถูกระดมเข้าช่วยเต็มรูปแบบ

โดย...ศ.ดร.สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ ประธานสถาบันนวัตกรรมชุมชน อัจฉริยะและอธิการบดี สจล.

ผมเขียนคอลัมน์นี้ในวันเสาร์ที่ 7 ก.ค. สัปดาห์ที่ผ่านมา ข่าวดีที่สุด คงหนีไม่พ้นเรื่องการพบทีมหมูป่าทั้ง 13 ชีวิตปลอดภัย พิสูจน์ความหวังและกำลังใจสร้างปาฏิหาริย์ และเป็นผลจากความทุ่มเทแบบเกินร้อยของทีมกู้ชีพ ทั้งจากภาครัฐ เอกชน อาสาสมัครจากทั้งในและนอกประเทศ แม้แต่ชาวบ้านที่อาจจะไม่ได้ช่วยงานด้านกู้ภัยยังเสียสละแปลงเกษตรให้เป็นพื้นที่การระบายน้ำ แม่บ้านก็มาทำอาหาร ล้างห้องน้ำ ทำทุกอย่างที่พอจะเป็นประโยชน์ หาอย่างนี้ไม่ได้อีกแล้วในโลก

ภารกิจพาทีมหมูป่ากลับบ้านยังไม่เสร็จสิ้น ทีมกู้ชีพยายามทุกวิถีทางเพื่อพาน้องๆ ออกจากถ้ำ ทั้งการลดระดับน้ำด้วยวิธี 1.สูบน้ำโดยตรงจากปากถ้ำที่พยายามนำเครื่องสูบน้ำเข้าไปให้ได้ลึกที่สุด 2.สูบน้ำบาดาลบริเวณปากถ้ำ ที่มีโพรงน้ำเชื่อมต่อถึงโพรงน้ำใต้ถ้ำ และ 3.สร้างฝายเบี่ยงทางน้ำบนเขาไม่ให้เติมเข้าถ้ำจนระดับน้ำค่อยๆ ลดลงอย่างได้ผล ขณะที่ทีมวิศวกรพยายามเจาะถ้ำจากบนเขาเพื่อเจาะรูขนาดเล็กเชื่อมลงไปในตำแหน่งที่พบน้องทีมหมูป่า ทั้งยังมีอีกทีมที่พยายามหาปล่องถ้ำที่อาจมีโอกาสเชื่อมถึงภายในถ้ำ

ปฏิบัติการทั้งหมดทำคู่ขนานกันตามหลักวิธีการช่วยชีวิตที่ต้องมีหลายแผน แข่งขันกับเวลา ทุกคนต้องทำงานสุดฤทธิ์ จึงอ่อนล้า จนอาสาสมัครอดีตหน่วยซีลสละชีวิตขณะปฏิบัติภารกิจ สร้างความเสียใจต่อคนไทยทั้งประเทศ ตอกย้ำคำสอนของศาสตราจารย์เฮอร์เบิร์ต ไอน์สไตน์ อาจารย์ที่ปรึกษาของผมที่เอ็มไอที ปรมาจารย์ด้านกลศาสตร์หินและอุโมงค์ระดับโลก หลานของ อัลเบิร์ต  ไอน์สไตน์ ที่สอนไว้เสมอว่า "การทำงานใต้ดินมีความเสี่ยง จะต้องระมัดระวังตลอดเวลา" ถึงแม้ผู้ปฏิบัติงานจะมีประสบการณ์สูง แต่ด้วยข้อจำกัดทางพื้นที่ ความกดดัน ความเร่งรีบ อุบัติเหตุจึงอาจเกิดขึ้นได้

อีกทั้งด้วยความห่วงใยของทุกคน จึงมีความคิดเห็นข้อเสนอแนะ จากทุกสารทิศไปยังทีมงานกู้ชีพ ผมเชื่อว่าทีมงานรับรู้ รับฟัง และนำมาพิจารณาทุกความเป็นไปได้ แต่ด้วยข้อจำกัดในพื้นที่และสถานการณ์ที่ คนส่วนใหญ่อาจไม่เห็น จึงเป็นเรื่องที่เราทุกคนควรเข้าใจและเห็นใจ เจ้าหน้าที่ให้มากขึ้น

ปฏิบัติการถ้ำหลวงจึงกลายเป็นตำนานสามารถเขียนคัมภีร์กู้ภัยเล่มหนึ่งก็ว่าได้ เพราะทุกเทคโนโลยีที่มีอยู่ในโลกได้ถูกนำเสนอ ทั้งทางด้านวิศวกรรมสำรวจที่ต้องใช้ทั้งดาวเทียมและเลเซอร์บอกพิกัด วิศวกรรมธรณีเทคนิคที่ต้องใช้ในการเจาะถ้ำ วิศวกรรมแหล่งน้ำที่ต้องใช้ในการเจาะน้ำบาดาล วิศวกรรมโทรคมนาคมที่ต้องใช้เพื่อการสื่อสาร วิศวกรรมวัสดุที่ต้องใช้ผ้าห่มฟรอยด์ วิศวกรรมไฟฟ้าที่ต้องใช้พลังงานไฟฟ้าทุกพื้นที่ วิศวกรรมอากาศยานที่ต้องใช้โดรนสำรวจ วิศวกรรมหุ่นยนต์ที่ต้องใช้ หุ่นยนต์สำรวจใต้น้ำ วิศวกรรมอาหารที่ต้องใช้อาหารนักบินอวกาศ และวิศวกรรมการแพทย์ที่ต้องใช้เครื่องมือแพทย์ช่วยชีวิต

แสดงว่างานวิศวกรรมมีอิทธิพลอย่างยิ่งในการกู้ภัยให้สำเร็จ แม้แต่ อีลอน มัสก์ ผู้ก่อตั้งเทสล่าและสเปซเอ็กซ์ ยังสนใจช่วยด้วยวิศวกรรมอวกาศและวิศวกรรมอุโมงค์ส่งวิศวกรลงพื้นที่ จึงต้องเฝ้าติดตามว่า จะมีวิศวกรรมด้านใดจะช่วยได้อีก ที่น่าสนใจ คือ  ท่านณรงค์ศักดิ์ โอสถธนากร อดีตผวจ.เชียงราย ยังเป็นวิศวกรโยธา จบปริญญาโทจากสหรัฐอเมริกา จึงบัญชาการทีมกู้ชีพด้วยทักษะและความรู้ทางด้านวิศวกรรม นับเป็นความโชคดี

ถึงวันนี้ผมยังเชื่อมั่นว่าทีมหมูป่าจะกลับบ้านโดยปลอดภัย เพราะทุกวิธีการทุกความเป็นไปได้ทางวิศวกรรมถูกระดมเข้าช่วยเต็มรูปแบบ แต่ที่สำคัญที่สุดคือพลังใจคนไทยถึงคนไทยด้วยกัน ที่สนับสนุนการปฏิบัติการครั้งนี้อย่างเต็มที่.