posttoday

เรียนรู้ จากการจับฉลามวาฬ

27 พฤษภาคม 2561

เรื่องการจับฉลามวาฬกลายเป็นประเด็นที่สังคมให้ความสนใจจึงอยากขยายความในกรณีนี้ว่าเราเรียนรู้อะไรบ้างและสามารถนำมาต่อยอดได้อย่างไร

เรื่องการจับฉลามวาฬกลายเป็นประเด็นที่สังคมให้ความสนใจจึงอยากขยายความในกรณีนี้ว่าเราเรียนรู้อะไรบ้างและสามารถนำมาต่อยอดได้อย่างไร

**********************

โดย...ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ อาจารย์ประจำคณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

เรื่องการจับฉลามวาฬกลายเป็นประเด็นสำคัญที่สังคมให้ความสนใจ ผมจึงอยากขยายความในกรณีนี้ว่าเราเรียนรู้อะไรบ้างและสามารถนำมาต่อยอดได้อย่างไร

อันดับแรก กรณีที่เกิดขึ้นจบลงได้ เพราะปัจจัย 3 ประการ ประการแรก เรามีกฎหมายที่ทันสมัย เพราะสมัยก่อนเรามีปัญหามากกับคำว่า “ห้ามจับ” เนื่องจากเจ้าหน้าที่ต้องไปเจอตอนจับเท่านั้น

เมื่อกฎหมายที่ทันสมัยถูกนำมาใช้ ทำให้มีคำว่า “ห้ามนำขึ้นเรือ” จึงช่วยได้มากในกรณีนี้ เพราะถ้าเป็นแบบสมัยก่อน เราอาจทำอะไรไม่ได้ จับไปก็หลุด เพราะกฎหมายมีช่องว่าง

ประการที่สอง เรามีระบบที่ทันสมัยแต่ก่อนเรือประมงจำนวนมากไม่ได้ลงทะเบียน ไม่สามารถติดตามได้ว่าไปตรงไหนบ้าง ตอนนี้เรายกระดับ มีดาวเทียมติดตามเรือ มีระบบ PIPO (Port In-Port Out) ช่วยติดตามว่าเรือชื่อใดไปขึ้นท่าไหนบ้าง เจ้าหน้าที่จึงไปรอที่ท่าโดยไม่ต้องสืบอะไรให้มากความ ก็เพราะระบบที่ทันสมัยนี่แหละครับ

ทั้งกฎหมายทันสมัยและระบบทันสมัย เกิดมาจากการทำงานอย่างหนักของทุกฝ่ายร่วมกัน เพื่อแก้ปัญหาประมงใบเหลือง หรือประมง IUU เพราะฉะนั้น เราสามารถต่อยอดได้ โดยบอกกับชาวโลกว่า ประเทศไทยมีระบบที่ดีในการคุ้มครองสัตว์หายากของโลก และเมื่อเกิดเหตุ เราจัดการได้รวดเร็ว และมีโทษที่รุนแรง

ตอนนี้เรากำลังอยู่ช่วงลุ้นปลดล็อกประมงใบเหลือง กรณีนี้หากนำไปใช้ น่าจะได้ผลมาก เพราะประมงใบเหลืองคือประมงทำลายล้างทรัพยากร เน้นย้ำอีกครั้ง ฉลามวาฬ คือปลาใหญ่ที่สุดในโลก อยู่ในบัญชี CITES และทุกคนทั่วโลกห่วงใย หากประเทศไทยแสดงความชัดเจนในเรื่องนี้ จะช่วยได้อีกเยอะครับ

ปัจจัยสุดท้าย คนไทยรักทะเล ไม่ว่ามีระบบดีแค่ไหน กฎหมายเฉียบขาดเท่าใด ถ้าขาดพี่ๆ นักดำน้ำผู้รักทะเลเหล่านั้น ติดตามจนได้ภาพและหลักฐาน แจ้งข่าวขึ้นออนไลน์ และถ้าคนไทยไม่สนใจทะเล ข่าวนี้ก็ไม่มีใครสนใจ แต่คนไทยรักทะเลครับ และรักทะเลมากๆ เพราะฉะนั้น เรื่องนี้จึงกลายเป็นประเด็นระดับประเทศที่โด่งดังจนทราบกันไปทั่ว

เมื่อนำ 3 เรื่องมารวมกัน เราจะเห็นว่าเราทำอะไรไปเยอะ มีความคืบหน้าเกิดขึ้น อย่างไรก็ตาม มีอีก 2 เรื่องที่เรายังทำได้

เรื่องแรก ครม.มีมติให้ฉลามวาฬเป็นสัตว์สงวน ผ่านมา 2 ปี เรายังใช้ได้แค่คำว่า “ว่าที่” เพราะกระบวนการประกาศใช้มันยังไม่สำเร็จ หากเราเร่งรัดตรงนี้ จะเข้าเป้ามากๆ ครับ

เรื่องสอง ยังมีสัตว์หายากอีกหลายชนิด เช่น ฉลามหัวค้อน ปลานกแก้วหัวโหนก ที่คนทั่วโลกสนใจ อยู่ใน CITES แต่ยังไม่ได้มีกฎหมายใดๆ คุ้มครอง มีคนรักทะเลส่งภาพมาให้ผมมากมาย ผมก็ไม่รู้จะทำยังไง มันไม่มีกฎหมาย แต่กรณีฉลามวาฬ แสดงให้เห็นชัดเจนว่า เมื่อมีกฎหมายเราทำอะไรได้...เยอะ

เพราะฉะนั้น คงต้องฝากความหวังไว้กับทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง กรมประมง กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ในการช่วยกันผลักดันให้ถึงที่สุด

ทั้งหมดนี้แสดงให้เห็นว่าเรากำลังก้าวไปข้างหน้า ทั้งเรื่องการตอบสนองต่อโลกในเรื่องสัตว์หายาก ทั้งการรักษาปลาใหญ่ที่สุดในโลกที่มีมูลค่ามหาศาลต่อการท่องเที่ยว และมีค่ามากกว่านั้นในเรื่องความรู้สึกของคนรักทะเล

เรามาถูกทางแล้ว และยังต้องก้าวต่อไปครับ