posttoday

มอง "มหาเธร์" กับ "Thailand 4.0"

20 พฤษภาคม 2561

ส่องยุทธศาสตร์การพัฒนามาเลเซียของ "มหาเธร์ โมฮัมหมัด" และมองย้อนกลับมาที่ประเทศไทย

ส่องยุทธศาสตร์การพัฒนามาเลเซียของ "มหาเธร์ โมฮัมหมัด" และมองย้อนกลับมาที่ประเทศไทย

****************************

โดย...ผศ.ดร.ประมวล สุธีจารุวัฒน ภาควิชาวิศวกรรมอุตสาหการ คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

พลันที่ “มหาเธร์ โมฮัมหมัด” อดีตนายกรัฐมนตรี วัย 92 ปี ของประเทศมาเลเซีย ชนะการเลือกตั้งครั้งประวัติศาสตร์จนได้กลับมาเป็นนายกรัฐมนตรี และจะเป็นนายกรัฐมนตรีที่อายุมากที่สุดในโลกเสียด้วย (“มหาเธร์” เคยดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีมาเลเซียยาวนานถึง 22 ปี ตั้งแต่ปี 1981-2003) การเกาะกระแส “มหาเธร์” ในประเทศไทยก็เกิดขึ้นตามมา

ทั้งการยกยอปอปั้นผู้นำเก่าแก่ของไทยว่าสามารถกลับมาเป็นนายกรัฐมนตรีได้ใหม่เฉกเช่น “มหาเธร์” ไล่เรียงมาจนถึงการเทียบเคียงนโยบายการปฏิรูปการศึกษาด้านวิทยาศาสตร์เทคโนโลยี (STEM ~ Science, Technology, Engineering, Mathematics) ซึ่ง “มหาเธร์” กำลังเริ่มลั่นกลองรบว่าจะต้องกำหนดยุทธศาสตร์การพัฒนาระบบการศึกษาใหม่ให้กับประเทศมาเลเซียอีกครั้ง

ผู้เขียนเล่าไว้หลายครั้งว่าช่วงปี พ.ศ. 2559-2560 ทั้งเคยเชิญผู้บริหารระดับสูงของ TDA (Technology Depository Agency) สังกัดกระทรวงการคลังของมาเลเซียมาบรรยายเรื่องยุทธศาสตร์การพัฒนาอุตสาหกรรมที่จุฬาฯ ซึ่ง “มหาเธร์” วางรากฐานไว้ในช่วงทศวรรษ 1980 และตัวผู้เขียนเองก็เคยได้รับเทียบเชิญพร้อมสนับสนุนค่าใช้จ่ายจาก TDA ให้ไปร่วมประชุมรับฟังแนวทางการพัฒนาที่กัวลาลัมเปอร์ด้วย ผู้เขียนยังบอกไม่ได้

“มหาเธร์” มีแผนพัฒนามาเลเซียอย่างไรบ้างในอนาคต แต่จุดสำคัญที่สุดที่ทำให้ “ยุทธศาสตร์การพัฒนา STEM ฉบับมหาเธร์ในอดีต” แตกต่างจากยุทธศาสตร์อุตสาหกรรมใหม่ของไทยในปัจจุบัน คือ การผูกโยง “ความต้องการของประเทศ” (Needs) เข้ากับ “โอกาส” (Opportunities) เพื่อ “เสริมสร้างขีดความสามารถ” โดยมีการ “การพัฒนาเครื่องมือ” ซึ่งจะเป็นกลไกสำคัญในการทำให้ยุทธศาสตร์สัมฤทธิผลเป็นรูปธรรม (ท่านผู้อ่านที่สนใจรายละเอียดสามารถค้นหาบทความของผู้เขียนเรื่อง “การพัฒนาอุตสาหกรรมขนส่งระบบราง : บทเรียนจากมาเลเซีย” ซึ่งออนไลน์อยู่ในอินเทอร์เน็ตมาจะ 2 ปีแล้ว)

ในส่วนของ “ความต้องการ” กับ “โอกาส” นั้นอาจจะพอกล้อมแกล้มเทียบเคียงว่าบรรดาทีมงานรัฐบาลของไทยก็คงจะพอคิดได้ จนกลายมาเป็นอุตสาหกรรม “New S-Curve” ที่กำลังพูดกัน แต่ส่วนของ “เครื่องมือ” นั้น เกรงว่าคงจะกำลังมึนๆ งงๆ กัน “มหาเธร์” ให้กำเนิด “MIGHT” (Malaysian Industry-Government Group for High Technology) ตั้งแต่ปี ค.ศ. 1993

ภายใต้การริเริ่มโดยสำนักนายกรัฐมนตรี อันเนื่องจากการมองเห็นช่องทางการพัฒนาโอกาสให้กับกลุ่มธุรกิจของมาเลเซียผ่านการกำหนดยุทธศาสตร์การพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อการบรรลุสู่วิสัยทัศน์ 2020 ในระยะแรกได้รับการจดทะเบียนเป็นรูปบริษัทจำกัด (Company Limited by Guarantee)

ก่อนจะถูกปรับมาดำเนินการภายใต้กระทรวงวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีและนวัตกรรม (Ministry of Science, Technology and Innovation) ในช่วงปี 2004-2010 และในปี 2011 ก็ถูกโอนมาสังกัดสำนักนายกรัฐมนตรี โดยมีที่ปรึกษาด้านวิทยาศาสตร์ของนายกรัฐมนตรี (Science Advisor to the Prime Minister) เป็นผู้รับผิดชอบ MIGHT ดำเนินการโดยคณะกรรมการบริหาร มีประธานคณะกรรมการร่วม (Joint-Chairmanship) ระหว่างภาคเอกชนและที่ปรึกษาด้านวิทยาศาสตร์ของนายกรัฐมนตรี

เป้าหมายหลักของ MIGHT คือ การตอบสนองต่อกระแสโลกาภิวัตน์ (Globalization) และการค้าเสรี (Trade Liberalization) ซึ่งจะมีผลต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศมาเลเซียโดยอาศัยการเร่งพัฒนาขีดความสามารถของประเทศในด้านเทคโนโลยีชั้นสูง (HighTechnology)

โดยกลุ่มสมาชิกซึ่งมาจากทั้งภาครัฐและเอกชน ซึ่งมีทั้งภาคอุตสาหกรรมและภาคการศึกษา ซึ่งจะทำหน้าที่ร่วมกันพิจารณา กำหนดนโยบาย ตลอดจนแนวทางการบ่มเพาะเทคโนโลยีชั้นสูงของประเทศ (ก็อาจจะไม่ต่างจากประชารัฐแบบไทยๆ)

เราอาจพอจะเทียบเคียงว่าประเทศไทยก็อาจจะพอมีกิจกรรมที่คล้ายๆ ที่ MIGHT ทำ แต่ลำพังเพียง MIGHT ไม่สามารถทำให้เกิดสัมฤทธิผลเป็นรูปธรรมได้ ช่วงทศวรรษ 1980 “มหาเธร์” จึงได้สนับสนุนให้มีการพัฒนา “เครื่องมือ” เผื่อผูกโยง “ความต้องการ” เข้ากับ “โอกาส” ในระยะแรกอาจจะเรียกเป็นชื่ออื่น แต่ในปัจจุบันเรียกว่า “ICP” หรือ “Industrial Collaboration Program” ถูกบริหารโดย TDA (ซึ่งอยู่ใต้กระทรวงการคลัง) คือ แนวทางการบริหารจัดการกระบวนการจัดซื้อของภาครัฐ โดยมีวัตถุประสงค์หลัก 6 ประการ คือ

(1) เพื่อเป็นตัวเร่งให้เกิดยุทธศาสตร์ความร่วมมือระดับนานาชาติ (Global Strategic Cooperation) เพื่อการพัฒนาอุตสาหกรรมในประเทศมาเลเซีย อันนำไปสู่การพัฒนาทักษะ ขีดความสามารถ การตลาด และศักยภาพในการส่งออก

(2) เพื่อส่งเสริมให้เกิดการใช้ผลิตภัณฑ์ที่ผลิตภายในประเทศมาเลเซีย ลดการพึ่งพาต่างชาติ และลดการไหลออกนอกประเทศของเงินงบประมาณ (3) เพื่อเสริมสร้างความเข้มแข็งให้กับการเป็นฐานอุตสาหกรรมมีเทคโนโลยีที่ประหยัดค่าใช้จ่ายและยั่งยืนพัฒนาขึ้นโดยมียุทธศาสตร์การพัฒนาขีดความสามารถของอุตสาหกรรมในประเทศให้เป็นส่วนหนึ่งห่วงโซ่อุปทานของโลกเพื่อสร้างให้เกิดความยั่งยืนและสามารถแข่งขันได้

(4) ส่งเสริมกระบวนการถ่ายทอดเทคโนโลยี และยุทธศาสตร์การพัฒนาองค์ความรู้ (Strategic Knowledge Development)

(5) พัฒนาความร่วมมือในเรื่องโครงการวิจัยและพัฒนา(Research&Development) ตลอดจนส่งเสริมให้เกิดผลลัพธ์ในเชิงพาณิชย์ (Commercialization) – R&D&C และ

(6) อำนวยความสะดวกให้เกิดการลงทุนตรงจากต่างชาติ (Foreign Direct Investment) ซึ่งจะนำไปสู่การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ในกลุ่มอุตสาหกรรมที่เป็นยุทธศาสตร์ ซึ่งนำมาสู่โอกาสการได้งานทำ การเพิ่มความเชี่ยวชาญ ตลอดจนขีดความสามารถของอุตสาหกรรมภายในประเทศ

แนวความคิดของ ICP เกิดขึ้นจากการพิจารณากระบวนการจัดซื้อของภาครัฐ (Procurement by the Government) ซึ่งไม่ว่าจะอย่างไร ก็ต้องจ่ายเงินงบประมาณเพื่อการได้มาซึ่งผลิตภัณฑ์ที่ต้องการให้กับผู้ส่งมอบ (Suppliers) ซึ่งจะทำหน้าที่ส่งมอบสินค้าให้ตามความต้องการ ด้วยกระบวนการนี้

หากพบว่าสินค้าที่ต้องการอยู่ในกลุ่มที่สามารถส่งเสริมอุตสาหกรรมภายในประเทศเพื่อการพัฒนาตามยุทธศาสตร์ของประเทศ (Targeted Local Industry) ผู้ส่งมอบก็จะต้องดำเนินการตามโปรแกรม ICP ซึ่งมีการกำหนดรายละเอียดขั้นตอนต่างๆ อย่างละเอียด

หากผู้ส่งมอบไม่สามารถดำเนินการได้ ก็จะไม่สามารถจำหน่ายสินค้าดังกล่าวนั้นให้กับภาครัฐ (ซึ่งอาจเป็นหน่วยงานใดก็ได้ อาทิ ระบบขนส่งมวลชนของกระทรวงคมนาคม โรงไฟฟ้าของกระทรวงพลังงาน เรือดำน้ำของกระทรวงกลาโหม เครื่องมือทดสอบของกระทรวงวิทยาศาสตร์

หรืออุปกรณ์ต่างๆ ของกระทรวงศึกษาธิการ เป็นต้น) ด้วยแนวความคิดนี้ ก็จะเปิดโอกาสให้เกิดกระบวนการ “จับคู่หุ้นส่วนทางธุรกิจ” อย่างเป็นธรรมชาติ เพื่อร่วมกันพัฒนาอุตสาหกรรมการผลิตภายในประเทศมาเลเซีย กระบวนการนี้ในที่สุดนำไปสู่การเป็นหุ้นส่วนของภาคธุรกิจอุตสาหกรรม (ICP Recipients) ซึ่งครอบคลุมไปทั้งกลุ่มอุตสาหกรรมยุทธศาสตร์ของประเทศ

มองย้อนกลับมาที่ประเทศไทย นอกเหนือไปจากชักชวนต่างชาติมาลงทุน เรามีเครื่องมือผูกโยงอุตสาหกรรม “New S-Curve” เข้ากับการจัดซื้อของภาครัฐ เพื่อเอื้อให้เกิดการสนับสนุนอุตสาหกรรมภายในประเทศ ถ่ายทอดเทคโนโลยี หรือสร้างความเข้มแข็งในด้าน STEM ให้กับบรรดาบุคลากรทุกระดับของไทยไหมครับ? ถ้าคิดยุทธศาสตร์อย่าง “มหาเธร์” ไม่ได้ อย่าทะลึ่งไปเทียบชั้นเลยครับ ... อายเขาเปล่าๆ