posttoday

การเมือง"คนมาเลย์"

17 พฤษภาคม 2561

สิ่งที่เกิดขึ้นในการเมืองมาเลเซียน่าจะเป็น "บทเรียน" สำหรับคนไทยที่ประเทศจะมีการเลือกตั้งระดับชาติในช่วงต้นปี 2562

สิ่งที่เกิดขึ้นในการเมืองมาเลเซียน่าจะเป็น "บทเรียน" สำหรับคนไทยที่ประเทศจะมีการเลือกตั้งระดับชาติในช่วงต้นปี 2562

******************************

โดย...ภุมรัตน ทักษาดิพงศ์ อดีตผู้อำนวยการ สำนักข่าวกรองแห่งชาติ

ผลการเลือกตั้งในมาเลเซียที่เพิ่งผ่านไปเป็นเรื่องที่ฮือฮากันมาก เพราะมาเลเซียเป็นประเทศที่มีนายกรัฐมนตรีที่อายุมากที่สุดในโลก คือ 92 ปี โดยที่พรรคพันธมิตรของ มหาเธร์ โมฮัมหมัด อดีตนายกรัฐมนตรีเคยบริหารประเทศมายาวนานถึง 22 ปี ได้ชัยชนะอย่างท่วมท้นและได้เสียงข้างมากในสภา ซึ่งทำให้เขาจะเป็นนายกรัฐมนตรีคนต่อไป มีหลายคำถามเกิดขึ้นว่า ทำไม มหาเธร์ ซึ่งแม้ยังแข็งแรงแต่ก็อายุมากแล้ว และมีพร้อมทุกสิ่งทุกอย่างทั้งทรัพย์สินเงินทอง เกียรติยศ ชื่อเสียง ความสุขในครอบครัวที่พร้อมด้วยลูกหลาน จึงต้อง “เสียสละเพื่อบ้านเมือง” อีกครั้ง

คงไม่ใช่เพราะ “ความอยาก” แต่คงเป็น “ความจำเป็นอย่างยิ่งยวด” ที่หลีกเลี่ยงมิได้ หลังจากที่เฝ้าดูและส่งคำเตือน คำแนะนำด้วยความห่วงใยไปยังนายกรัฐมนตรีลูกน้องเก่า แต่ก็ถูกละเลย เมินเฉย จนท่านทนไม่ไหวที่จะเห็นบ้านเมืองเลวร้ายไปกว่านี้ คนแก่คนนี้จึงไม่ห่วงสังขารและลุกขึ้นมาทวงตำแหน่งคืน และก็ทวงได้จริงๆ ด้วยชัยชนะอย่างท่วมท้นและสง่าผ่าเผย

การที่คนมาเลย์ส่วนใหญ่เลือก มหาเธร์ ให้กลับมาบริหารประเทศอีกครั้งหนึ่ง สะท้อนให้เห็นว่า ประชาชนเจ้าของอำนาจอธิปไตยที่แท้จริงคงทนไม่ไหวกับพฤติกรรมของอดีตนายกรัฐมนตรี นาจิบ ราซัค และคิดว่าหากปล่อยให้นาจิบบริหารประเทศต่อไป บ้านเมืองคงเสียหายมากขึ้นแน่ๆ จึงเลือกให้คนแก่แต่ยังเตะปี๊บดังแบบ มหาเธร์ เข้ามากู้บ้านกู้เมืองอีกครั้ง

ส่วนวิธีการของ มหาเธร์ ในการได้ชัยชนะครั้งนี้ คือ การใช้ “บารมี” ของตนรวมพรรคการเมืองคนมาเลย์ เช่น พรรคของภรรยาอันวาร์ อิบราฮิม พรรคที่แยกตัวจากพรรคปาส พรรคดี.เอ.พี.ของคนจีน ซึ่งเป็นฝ่ายค้าน รวมกันเป็น “พรรคพันธมิตรแห่งความหวัง” สู้กับ “พรรคพันธมิตรแห่งชาติ” ซึ่งครองอำนาจมาตลอดเวลา 60 ปีนับแต่มาเลเซียได้เอกราช ประกอบด้วยพรรคอัมโน ของการเมืองคนมาเลย์ ซึ่งมหาเธร์เคยเป็นหัวหน้าพรรคมาก่อน พรรคเอ็มซีเอของคนจีน พรรคเอ็มไอซีของคนอินเดีย พรรคการเมืองจากรัฐซาราวัค และซาบาห์ ในที่สุด มหาเธร์ก็บรรลุความหวังที่ตั้งไว้

ในความเป็นจริง นี่เป็น “การเมืองของคนมาเลย์” ซึ่งเป็นคนส่วนใหญ่ของประเทศและเป็นผู้คุมอำนาจทางการเมืองตลอดมา นี่เป็นการต่อสู้ทางการเมืองระหว่างคนมาเลย์ด้วยกันเป็นหลัก มหาเธร์เป็นนายกรัฐมนตรีมา 22 ปี ที่มีผลงานเด่นทำให้บ้านเมืองเจริญก้าวหน้า ประชาชนยังจำได้ไม่ลืม เขารู้ดีถึงจุดแข็งจุดอ่อนของนาจิบซึ่งเคยเป็นลูกน้องเก่า ส่วนนาจิบก็มีประสบการณ์ทางการเมืองสูง เขาเติบโตในพรรคอัมโนและเป็นบุตรชายของตุน อับดุล ราซัค อดีตนายกรัฐมนตรีซึ่งเสียชีวิตที่อังกฤษระหว่างเดินทางไปปฏิบัติราชการ นาจิบเป็นนายกรัฐมนตรีมาแล้ว 4 ปี และเตรียมตัวเป็นนายกรัฐมนตรีสมัยที่สอง

การเมืองในมาเลเซียเป็นอีกตัวอย่างหนึ่งที่แสดงให้เห็นว่า “การเมืองไม่มีมิตรแท้และศัตรูถาวร” ขึ้นอยู่กับผลประโยชน์เฉพาะหน้าเป็นสำคัญ

อันวาร์ อิบราฮิม เคยเป็นรองนายกรัฐมนตรีในรัฐบาลมหาเธร์มาก่อน ซึ่งมหาเธร์เคยหมายมั่นปั้นมือที่จะให้สืบทอดอำนาจในรัฐบาลแทนเขาต่อไป แต่เพราะอันวาร์ไปเชื่ออเมริกันที่วางแผนจะผลักดันให้เขายึดอำนาจจากมหาเธร์ ซึ่งไม่ยอมก้มหัวให้กับอเมริกัน โดยไม่ต้องรอให้มหาเธร์พ้นจากตำแหน่ง อันวาร์จึงโดน “ฆาตกรรมทางการเมือง” อย่างเหี้ยมโหดจากมหาเธร์ จนเสียหายทั้งชื่อเสียงและติดคุกด้วยข้อหาร้ายแรงในสังคมคนมาเลย์ เขาต้องให้ภรรยาเดินงานทางการเมืองแทน

แต่ข้อเสนอจากมหาเธร์ ครั้งนี้เป็นเรื่องที่เขาและภรรยายากจะปฏิเสธหากต้องการฟื้นคืนชื่อเสียงทางการเมืองต่อไป นั่นคือ การขอพระราชทานอภัยโทษจากพระราชาธิบดีและให้เป็นนายกรัฐมนตรีต่อจากมหาเธร์ ที่บอกว่าจะอยู่ในตำแหน่งเพียง 2 ปีเท่านั้น เพื่อแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าเร่งด่วนของชาติ

มหาเธร์พิสูจน์ให้เห็นว่า เขาเป็นคนแก่เฉพาะอายุเท่านั้น แต่ร่างกายยังกระฉับกระเฉง ความคิดและการตัดสินใจยังดีเยี่ยม เพียงวันเดียวที่รับตำแหน่ง เขาก็ประกาศอายัดทรัพย์ของนาจิบทันที และประกาศห้ามนาจิบเดินทางออกนอกประเทศ

เรียกว่าทันอดทันใจกองเชียร์ที่ลงคะแนนให้ ไม่ต้องรอไปแก้กฎหมายให้ศาลสามารถพิจารณาคดีลับหลังสำหรับนักการเมืองที่หนีคดีไปต่างประเทศแบบเมืองไทย

คนไทยมองการเปลี่ยนแปลงในมาเลเซียจากการที่มหาเธร์ได้ชัยชนะอย่างท่วมท้น อย่างไร พรรคเพื่อไทยพยายามแสวงประโยชน์โดยใช้ชัยชนะของมหาเธร์มาโจมตีรัฐบาล คสช. พรรคประชาธิปัตย์ ใช้คุณชวน หลีกภัยหาเสียงโดยอ้างความแก่ที่มีคุณภาพแบบมหาเธร์

แต่คนส่วนใหญ่มองว่าที่รัฐบาลนาจิบแพ้อย่างยับเยินน่าจะมาจากประเด็นการทุจริตคอร์รัปชั่นเป็นหลัก จากกรณีที่นาจิบถูกกล่าวหาว่าทุจริตคอร์รัปชั่น มีเงินจากตะวันออกกลางคิดเป็นเงินไทยกว่า 2 หมื่นล้านบาท โอนเข้าบัญชีของนาจิบโดยที่เขาแก้ตัวว่าเป็นการให้ส่วนตัวไม่ได้เกี่ยวกับ “กองทุนพัฒนาเศรษฐกิจแห่งชาติมาเลเซีย” ที่รัฐบาลตั้งขึ้นแต่อย่างใด นอกจากนั้น คนมาเลย์ไม่พอใจสภาพเศรษฐกิจของประเทศที่คิดว่าแย่ลง จึงร่วมกันสั่งสอนรัฐบาล

เกิดกระแสการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญทั่วโลก เมื่อประชาชนในประเทศกำลังพัฒนาและประเทศเศรษฐกิจใหม่ โดยเฉพาะชนชั้นกลางทั้งระดับบนและล่าง คนในตัวเมือง ต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชั่นอย่างจริงจัง และลงโทษพรรคการเมือง นักการเมืองที่มีข่าวทุจริตหรือพัวพันกับการทุจริตคอร์รัปชั่นด้วยการไม่เลือกผู้สมัครจากพรรคการเมืองนั้นๆมาเลเซียเป็นตัวอย่างล่าสุดที่นักการเมืองแม้มีอำนาจมากแต่ทุจริตคอร์รัปชั่น คนมาเลย์ได้ใช้พลังของประชาชนปฏิเสธคนทุจริตคอร์รัปชั่นพวกนี้

สิ่งที่เกิดขึ้นในมาเลเซียน่าจะเป็น “บทเรียน” สำหรับคนไทยที่ประเทศจะมีการเลือกตั้งระดับชาติในต้นปี 2562 กระแสการต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชั่นในไทยที่ผ่านมาจนปัจจุบันขึ้นสูงโดยเฉพาะชนชั้นกลาง คนในเมือง คนมีการศึกษา ที่ปฏิเสธนักการเมืองที่มีข่าวพัวพันกับการทุจริตคอร์รัปชั่น รัฐบาลและองค์กรอิสระ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะต้องปลุกความรับรู้ของคนระดับล่างและคนในชนบทให้มากขึ้น

การทุจริตคอร์รัปชั่นซึ่งเป็นความชั่วร้ายที่สะสม หมักหมม มานาน จนเป็นอุปสรรคสำคัญต่อการพัฒนาประเทศ สิ่งหนึ่งที่คนไทยที่มีสิทธิออกเสียงเลือกตั้งสามารถทำได้เลย และทำได้ทันทีโดยไม่ต้องรอใครมาบอกก็คือ ไม่เลือกนักการเมืองจากพรรคการเมืองที่มีประวัติทุจริตคอร์รัปชั่นในการเลือกตั้งระดับท้องถิ่นและระดับชาติ ครั้งนี้เป็นโอกาสอันดีที่ “พลเมืองไทยที่ตื่นรู้” จะช่วยกันสั่งสอน และให้บทเรียนกับนักการเมืองที่มีประวัติทุจริตคอร์รัปชั่นและทำการเมืองไทยให้เป็น “การเมืองใหม่” กันเสียที

เราเชื่อว่า คนไทยมีจิตสำนึกในการต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชั่นไม่แพ้คนมาเลย์ เหลือแต่เพียงการแสดงออกเท่านั้น ซึ่งโอกาสนี้กำลังจะมาในเวลาไม่นานนัก