posttoday

รัฐบาลคสช.มีส่วนเพิ่มความเหลื่อมล้ำ-ไม่เป็นธรรมในสังคม

08 พฤษภาคม 2561

รัฐบาล คสช. ให้ความสำคัญต่อปัญหาความเหลื่อมล้ำและความไม่เป็นธรรมในสังคม เพียงแต่ลมปาก การประกาศว่าจะปฏิรูปให้ได้ภายใน 8 เดือน จึงเป็นความหวังที่เลือนลางเต็มที

เฟซบุ๊ก ธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล

รัฐบาล คสช. มีส่วนเพิ่มความเหลื่อมล้ำและไม่เป็นธรรมในสังคมด้วย!"

ตามที่พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี กล่าวว่าจะปฏิรูปประเทศ ให้เห็นผลภายใน 8 เดือน ก่อนการเลือกตั้ง

โดยหนึ่งใน 5 เรื่องนั้น คือการลดความเหลื่อมล้ำและสร้างความเป็นธรรมในสังคม

แต่ผมวิเคราะห์ว่า - เป็นไปได้ยาก! ...

เพราะนโยบายรัฐบาล คสช. นี้เอง ก็มีส่วนเพิ่มความเหลื่อมล้ำและไม่เป็นธรรมในสังคม

พล.อ.ประยุทธ์พูดบ่อยๆ ว่า ปัญหาต่างๆ ในประเทศไทยนั้น เกิดขึ้นตั้งแต่รัฐบาลในอดีตก่อนหน้าการปฏิวัติ คสช. ...

ดังนั้น คสช. จึงเป็นพระเอกขี่ม้าขาว เข้ามาช่วยแก้ปัญหา มากกว่าจะเป็นจำเลย

ผมยอมรับว่าความเหลื่อมล้ำและไม่เป็นธรรมในสังคมนั้น เป็นของที่อยู่คู่กับประเทศไทยมานาน ...

และถึงแม้สภาวะเศรษฐกิจในอดีตที่ผ่านมา เคยมีอัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยเกินกว่าร้อยละ 7 เป็นเวลาต่อเนื่องหลายปี ...

แต่ปัญหาความเหลื่อมล้ำก็ไม่ได้หมดไป กลับมีแนวโน้มจะเพิ่มขึ้นด้วยซ้ำ

แสดงว่าในโครงสร้างเศรษฐกิจของไทยนั้น การแบ่งสันปันส่วนทรัพยากรโดยกลไกมือที่มองไม่เห็นของระบบตลาดเสรี (ที่เรียก The Invisible Hand) ...

รวมไปถึงการเข้าถึงทรัพยากรของบุคคลต่างระดับนั้น ...

โดยตัวเอง ไม่เอื้ออำนวยต่อการกระจายรายได้ หรือต่อการลดความเหลื่อมล้ำ

ดังนั้น รัฐบาลจึงไม่สามารถปล่อยให้กลไกเศรษฐกิจและสังคมแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำเอง แต่ต้องเป็นตัวจุดชนวนเรื่องนี้

มาตรการหลักของรัฐบาลทั่วโลก คือต้องใช้นโยบายภาษี ปฏิรูปภาษี เพื่อให้คนรวยต้องช่วยคนจนมากขึ้น ทำแบบค่อยเป็นค่อยไป ...

ตัวอย่างที่ควรพิจารณาถกแถลง เพื่อนำมาใช้สำหรับประเทศไทย เช่น

1) เปลี่ยนการเก็บภาษีเงินได้สำหรับรายได้จากการลงทุน จากอัตราตายตัวระดับต่ำ ให้เป็นภาษีอัตราก้าวหน้า อาจจะต้องถึงขั้นที่สูงกว่าอัตราภาษีรายได้จากการทำงานปกติ

2) เก็บภาษีจากกิจกรรมในตลาดทุน รวมไปถึงกำไรจากหุ้น

3) ใช้ระบบภาษีมูลค่าเพิ่มหลายอัตรา โดยกำหนดอัตราภาษีมูลค่าเพิ่มสำหรับสินค้าฟุ่มเฟือยให้สูงกว่าสินค้าทั่วไป

4) สำหรับสินค้าประเภทอวดรวย เช่น ซูเปอร์คาร์ ควรกำหนดอัตราภาษีและค่าธรรมเนียมต่างๆ ให้แพงกว่าสินค้าปกติ

5) ปัจจุบันรัฐอนุญาตให้นำเงินที่บุคคลธรรมดาลงทุนในหุ้นบางประเภท และประกันชีวิตประเภทเพื่อลงทุน ยอมให้หักเป็นค่าลดหย่อน กติกานี้ควรลดลง และยกเลิกในที่สุด

6) ปัจจุบันรัฐยกเว้นรายได้ที่เกิดในต่างประเทศ ถ้าไม่นำเข้ามาในประเทศในปีนั้น ควรเปลี่ยนเป็นเก็บเมื่อรายได้เกิดขึ้น เหมือนรายได้ในไทย ฯลฯ

แต่ตลอด 4 ปี ผมไม่เห็นรัฐบาล คสช. มีการพูดเกี่ยวกับการปฏิรูปภาษีเหล่านี้เลย

นอกจากนี้ ประเทศไทยจำเป็นต้องขยายฐานการเก็บภาษี โดยเริ่มเก็บภาษีสำหรับทรัพย์สินบางอย่างของคนรวย เพื่อเอาเงินมาช่วยคนจน และใช้การเก็บภาษีแบบอัตราก้าวหน้า

แต่การที่จะทำให้สังคมโดยรวมยอมรับการขยายฐานภาษีไปครอบคลุมเรื่องทรัพย์สินนั้น ควรจะต้องเริ่มต้นเก็บเฉพาะรายการใหญ่ Super size เท่านั้นก่อน ...

เช่น การถือครองที่ดินเกินกว่า 1,000 ไร่ ทรัพย์สินและมรดกมูลค่าเกิน 500 ล้านบาท เพื่อให้เวลาสังคมปรับตัว ...

แล้วจึงค่อยๆ ขยายฐานโดยลดวงเงินลงมา หรือเพิ่มอัตราภาษี หลังจากสังคมเคยชินปรับตัวได้แล้ว 5 ปี 10 ปี 20 ปี เป็นต้น

รัฐบาล คสช. กลับเสนอกฎหมายเก็บภาษีทรัพย์สินเริ่มต้นในวงเงินที่ต่ำ ซึ่งจะมีผลทำให้โครงการขยายฐานภาษีทรัพย์สินกระทบอย่างกว้างขวาง ...

แทนที่จะโฟกัสที่คนรวยจริง กลับกระทบกระเทือนคนหมู่มาก ทำให้ไม่มีเวลาปรับตัว และจะกระทบต่อราคาตลาดของทรัพย์สิน จนเกิดการคัดค้านกฎหมายถึงทุกวันนี้

อำนาจที่จะลดความเหลื่อมล้ำสำหรับสังคมไทยนั้น อยู่ในมือของรัฐบาล ...

รัฐบาลจะต้องกำหนดมาตรการและนโยบาย อันมีผลบังคับการกระจายความมั่งคั่ง

แต่ปรากฏว่า แทนที่จะปฏิบัติเข้มต่อบุคคลที่ถือครองที่ดินระดับหมื่นไร่แสนไร่ ...

รัฐบาล คสช. กลับเห็นชอบกรมสรรพากรออกประกาศ ที่ยอมให้มีการโอนที่ดินจากบุคคลธรรมดาเจ้าของเดิม เปลี่ยนกระจายไปในชื่อบริษัทที่ตั้งขึ้นใหม่ได้นับร้อยนับพัน โดยยกเว้นภาษีสำหรับการโอนดังกล่าว!

ในการลดความเหลื่อมล้ำ รัฐบาลควรจะใช้จ่าย เพื่อยกระดับโอกาสเริ่มต้นให้แก่คนไทยทุกคน ...

ควรตั้งเป้าให้ทุกคนมีองค์ประกอบพื้นฐานที่สำคัญที่จะช่วยตัวเอง อย่างน้อยตามมาตรฐานขั้นต่ำ ...

เช่น การมีสุขภาพที่ดีแบบพื้นฐาน การศึกษาระดับพื้นฐาน การเข้าถึงข้อมูลของทางราชการ การเข้าถึงบริการสาธารณะ เป็นต้น

แต่ปรากฏว่าพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เอาแต่บ่นเกี่ยวกับการใช้จ่ายของรัฐ ...

ไม่แยกแยะระหว่าง:

- การแจกเงินแบบสังคมสงเคราะห์ เพื่อกระตุ้นอุปโภคบริโภค และเพื่อตัวเลข จีดีพี แบบไฟไหม้ฟาง ที่รัฐบาล คสช. เลียนแบบคุณทักษิณ ...

- กับการสร้างโอกาสขั้นพื้นฐานสำหรับชาวบ้านช่วยตัวเอง ซึ่งควรทำให้ชาวบ้านเห็นได้ว่า ไม่ต้องคอยพึ่งการกุศลจากรัฐบาล แต่ตนขยันและขวนขวายแสวงหาเองได้ โดยอาศัยโอกาสขั้นพื้นฐานที่รัฐบาลจัดไว้ให้

การแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำและความไม่เป็นธรรมในสังคมนั้น จะต้องเปลี่ยนพฤติกรรม:

- จากผู้ใหญ่ให้ผู้น้อย
- จากการรอความเมตตาและความหวังจากนักการเมือง ...

ไปเป็นการสร้างความภูมิใจในตัวเอง และการสร้างโอกาสให้คนสร้างตน

แต่ในทางกลับกัน นโยบายเศรษฐกิจของรัฐบาล คสช. นั้น กลับเน้นโครงการที่เอื้อประโยชน์แก่นายทุนระดับชาติ ...

ทั้งที่ประวัติการพัฒนาเศรษฐกิจไทยสำหรับนโยบายทำนองนี้ ปรากฏผลในเชิงประจักษ์ว่า ...

น้ำที่เอ่อล้นจากระดับบน จนถึงขั้นล้นเขื่อนลงไปถึงระดับล่างนั้น เกิดขึ้นน้อยกว่าการสร้างฐานะความมั่งคั่งให้แก่เศรษฐี ...

จึงทำให้มีมหาเศรษฐีไทยติดอันดับโลกมากขึ้นทุกปี และมหาเศรษฐีแต่ละคนรวยขึ้นมากมายทุกปี ...

ในขณะที่ Oxfam จัดอันดับประเทศที่มีปัญหาเหลื่อมล้ำมากที่สุดในโลก ไทยได้เลื่อนตำแหน่ง ล่าสุดขึ้นเป็นเลวอันดับสามของโลก

ถามว่าผมประเมิน พล.อ.ประยุทธ์ จะมีโอกาสสำเร็จแค่ไหน ในการปฏิรูปประเทศ ลดความเหลื่อมล้ำ แก้ปัญหาความไม่เป็นธรรมในสังคม ให้เห็นผลภายใน 8 เดือน ก่อนการเลือกตั้ง?

ผมตอบว่า 4 ปีที่ผ่านมา รัฐบาล คสช. ให้ความสำคัญต่อปัญหาความเหลื่อมล้ำและความไม่เป็นธรรมในสังคม เพียงแต่ลมปาก

การประกาศว่าจะปฏิรูปให้ได้ภายใน 8 เดือน จึงเป็นความหวังที่เลือนลางเต็มที

วันที่ 8 พฤษภาคม 2561

ธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล

Facebook Thirachai Phuvanatnaranubala

www.facebook.com/thirachai.phuvanatnaranubala