posttoday

อนาคตพลังงาน ในอ่าวไทย

29 เมษายน 2561

"ถ้าเลื่อนประมูลออกไป การส่งต่อการผลิตจะไม่ทัน และเมืองไทยอาจเสียหายไม่ต่ำกว่า 3.5 แสนล้านบาท/ปี"

"ถ้าเลื่อนประมูลออกไป การส่งต่อการผลิตจะไม่ทัน และเมืองไทยอาจเสียหายไม่ต่ำกว่า 3.5 แสนล้านบาท/ปี"

**********************

โดย...ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ อาจารย์ประจำคณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

เรื่องสำคัญที่เพิ่งเกิดขึ้น คือ ผลการประชุมของ กพช. (กรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ) สรุปได้ว่าจะเริ่มเปิดประมูลแหล่งเอราวัณ-บงกช ทั้งสองแหล่งปิโตรเลียมผลิตก๊าซถึง 75% ของอ่าวไทย นำมาใช้เพื่อผลิตไฟฟ้าและเป็นวัตถุดิบของอุตสาหกรรมปิโตรเคมี แต่กำลังจะหมดสัมปทานในปี 2565 ทั้งสองแหล่งยังมีปิโตรเลียมเหลือ และการประมูลต้องเริ่มตั้งแต่เนิ่นๆ ไม่งั้นจะเกิดปัญหามากมาย และส่งผลให้ประเทศเสียหายหลายด้าน

การเปิดประมูลหนนี้เป็นแบบ PSC (Product Sharing Contract) โดยมีกติกาหลักๆ 4 ข้อครับ 1) ระยะเวลาผลิต 10 ปี ผู้ประมูลได้ต้องการันตีว่าจะผลิตได้ไม่ต่ำกว่า 800 ล้าน ลบ.ฟุต/วัน และ 700 ล้าน ลบ.ฟุต/วัน (รวมแล้วไม่น้อยกว่า 1,500 ล้าน ลบ.ฟุต/วัน)

ปัจจุบันทั้งแหล่งผลิตได้ 2,120 ล้าน ลบ.ฟุต/วัน 2) ผู้เข้าประมูลต้องเสนอราคาก๊าซไม่สูงเกินราคาเฉลี่ยของก๊าซในปัจจุบัน (มีสูตรคำนวณครับ) 3) ผู้เข้าประมูลต้องเสนอสัดส่วนแบ่งกำไรให้รัฐอย่างน้อย 50% ยังมีภาษีอื่นๆ และต้องมีข้อเสนอโบนัสให้รัฐในรูปแบบต่างๆ 4) ผู้เข้าประมูลต้องจ้างงานคนไทยไม่ต่ำกว่า 80% ในปีแรก และไม่ต่ำกว่า 90% ภายในปีที่ 5

เมื่อดูจาก 4 ข้อแล้ว บอกได้ว่ากระทรวงพลังงานร่าง TOR ได้ชัดเจนดี ทั้งด้านความมั่นคง (มีกำลังการผลิตขั้นต่ำ) ทั้งด้านผลประโยชน์ (ราคาก๊าซไม่สูงเกินไป กำไรต้องแบ่งอย่างน้อย 50%) และด้านการจ้างงานคนไทย (80-90%)

สำหรับบริษัทที่จะเข้าประมูล ตอนนี้เท่าที่แน่ๆ มีอย่างน้อย 2 บริษัทที่เป็นเจ้าเดิม ได้แก่ เชฟรอน และ ปตท.สผ. แน่นอนว่าทั้งคู่ต้องพยายามประมูลแหล่งเดิมให้ได้ เพราะมันง่ายกว่าในการดำเนินงานให้ต่อเนื่อง ทั้งสองฝ่ายยังจับมือกับพันธมิตรรายเดิม เชฟรอนกับมิตซุยออยล์ ปตท.ผส.จับมือกับโททาล (ฝรั่งเศส)

นอกจากนี้ ยังมีแววว่าอาจมีการพยายามเพิ่มสัดส่วนหรือประมูลแหล่งของอีกฝ่ายหนึ่ง เช่น ปตท.สผ.จะพยายามเจรจากับเชฟรอนเพื่อเพิ่มสัดส่วนในแหล่งเอราวัณ (ของเชฟรอน) หรือถ้าตกลงกันไม่ได้ ปตท.สผ.อาจเข้าประมูลแข่งในแหล่งเอราวัณ

งานนี้อาจมีบริษัทอื่นเข้ามาร่วมแจม โดยเฉพาะมูบาดาลา ยักษ์ใหญ่จากตะวันออกกลาง (UAE) เป็น 1 ใน 5 บริษัทสำรวจและผลิตปิโตรเลียมใหญ่สุดในโลก ซึ่งเดิมทีเน้นขายอเมริกา แต่หลังจากเริ่ม Shale Oil - Shale Gas ทำให้อเมริกาผลิตเองแถมส่งออกได้อีก บริษัทจากตะวันออกกลางจึงต้องหันมามองเอเชีย โดยเฉพาะอาเซียน ตอนนี้มูบาดาลาก็มีแท่นผลิตอยู่ในอ่าวไทย หากเข้าร่วมประมูลจะเป็นการขยายพลังเพื่อจับตลาดเอเชียที่มีความต้องการก๊าซเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ

หากทุกอย่างเป็นไปอย่างราบรื่น งานนี้กระทรวงพลังงานโชว์ผลงานเข้าตาครับ เพราะถ้าเลื่อนประมูลออกไป การส่งต่อการผลิตจะไม่ทัน และเมืองไทยอาจเสียหายไม่ต่ำกว่า 3.5 แสนล้านบาท/ปี เพราะต้องนำก๊าซ LNG เข้ามาเพียบ และส่งผลต่ออุตสาหกรรมปิโตรเคมี

นอกจากนี้ แท่นผลิตที่หมดอายุไม่มีปิโตรเลียมเหลืออยู่แล้ว กำลังเริ่มอยู่ในระหว่างการรื้อถอน และจะมากขึ้นเรื่อยๆ ในช่วง 5-15 ปี ทางกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งร่วมกับหน่วยงานวิชาการและมูลนิธิบางแห่ง กำลังอยู่ระหว่างการเตรียมการศึกษาเพื่อทดลองนำขาแท่นในส่วนที่ไม่เกี่ยวข้องกับปิโตรเลียมไปใช้เป็นปะการังเทียมเพื่อเป็นแหล่งท่องเที่ยวดำน้ำ หรืออีกชื่อหนึ่งคือ Rig to Reef ที่นิยมทำในหลายประเทศ ในเขตอาเซียนก็มีทั้งบรูไนและมาเลเซียที่นำร่องไปแล้ว

เล่ามาทั้งหมด จะเห็นว่าในช่วงปีนี้จะเกิดกิจกรรมมากมายในอ่าวไทย ทั้งในเรื่องความมั่นคงทางพลังงานและการต่อยอดเพื่อรองรับนักท่องเที่ยวทางทะเลที่มีปริมาณมหาศาลเพิ่มขึ้นทุกปีครับ