posttoday

อวสานของระบบรัฐสภา ที่สนับสนุนทหาร

22 เมษายน 2561

ที่น่าเสียใจก็คือ ไม่เพียงแต่ทหารไม่ได้สร้างสรรค์ให้เกิด “การเมืองที่ดี” อย่างที่ได้เคยให้ความหวังแก่คนไทย ทหารยังพาการเมืองไทยกลับไปสู่วังวนเดิมๆ

โดย...ทวี สุรฤทธิกุล

“วงจรอุจาด” ได้หวนกลับมาอีกแล้ว!

ท่านที่สนใจการเมืองไทยคงเคยได้ยินคำว่า “วงจรอุบาทว์” ที่หมายถึงระบบการเมืองที่วนเวียนไปมาระหว่าง “การเลือกตั้ง” กับ “การรัฐประหาร” แต่คำว่า “วงจรอุจาด” อาจจะเพิ่งมารู้จักในวันนี้

“อุจาด” มีความหมายว่า “น่าเกลียด น่าอาย สิ่งที่ไม่ควรทำ”

แน่นอนว่าการทำรัฐประหารนั้นเป็นสิ่งอุบาทว์ แต่การที่ทำรัฐประหารโดยอ้างว่าจะ “สร้างการเมืองใหม่” จะปฏิรูปประเทศ แล้วกลับไปทำการเมืองแบบเก่าๆ น่าจะเรียกว่า “อุจาดจริงๆ”

อีกเดือนเดียวก็จะครบรอบ 4 ปี ที่คณะทหารชุดนี้ได้ยึดอำนาจจากนักการเมือง โดยลวงให้นักการเมืองที่กำลังทะเลาะกันให้มาประชุมหาทางออกที่สโมสรทหารบก ถนนวิภาวดีรังสิต แล้วจับไปแยกควบคุมตัว “ปรับพฤติกรรม” อยู่ระยะหนึ่ง ระหว่างนั้นก็สร้างพิธีกรรมปฏิรูปประเทศ เริ่มจากการให้กลุ่มคนที่สมมติว่าเป็นตัวแทนจากภาคส่วนต่างๆ ของประชาชน มาประชุมที่กระทรวงกลาโหมตรงข้างศาลหลักเมือง สนามหลวง ทำเอกสารสรุปปัญหาของประเทศจำนวน 15 เล่ม จากนั้นก็ตั้งสภาปฏิรูปแห่งชาติจากผู้ทรงคุณวุฒิทุกสาขาอาชีพทั่วประเทศ ทำกรอบการปฏิรูป 37 ด้าน ก่อนที่จะยุบสภานี้ไปโดยใช้ข้ออ้างที่เขียน “วางหมาก” ไว้ในรัฐธรรมนูญชั่วคราว ซึ่งรัฐธรรมนูญฉบับนี้เองที่กำหนดแนวทางการปฏิรูปไว้อย่างเรียบร้อย เหมือนว่าคณะทหารที่ยึดอำนาจคือ คสช.นั้น “เอาจริงละนะ”

หลังจากรัฐธรรมนูญฉบับ “บวรศักดิ์” ได้ร่วงไป ทหารก็ให้หัวหน้าเครือข่ายนิติบริกรที่เป็นอาจารย์ของบวรศักดิ์นั่นเองมาร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ พร้อมกับตั้งสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศมาแทนที่สภาปฏิรูปแห่งชาติ ซึ่งคณะยกร่างชุดนี้ดูจะมีอิทธิพลมาก เพราะสามารถกำกับเนื้อหาให้คณะกรรมาธิการของสภานิติบัญญัติแห่งชาติที่จะทำกฎหมายลูกต่างๆ ต้อง “ไปตามแนว” ที่คณะยกร่างนี้กำหนดไว้ รวมถึงหมากกลอันแยบยลที่มีผลต่อการเลื่อนโรดแมปการเลือกตั้ง และอนาคตของพัฒนาการทางการเมืองไทย

ถ้าใครเก็บคำให้สัมภาษณ์ของผู้นำทหาร ตลอดจนคำให้สัมภาษณ์ของคณะยกร่างทั้งฉบับบวรศักดิ์ และฉบับอาจารย์ใหญ่ จะเห็นถ้อยคำที่ไปในทิศทางเดียวกันว่า ท่านจะ “ล้างบาง” นักการเมืองแบบเก่า คือนักการเมืองที่ชั่วร้ายโกงกิน ถึงขนาดที่ประธานยกร่างรัฐธรรมนูญ 2560 ท่านเรียกรัฐธรรมนูญบับนี้ว่า “ฉบับปราบโกง” ในขณะที่หัวหน้าคณะรัฐประหารก็พยายามแต่งเพลงมากล่อมใจมวลชน ตั้งแต่ที่ “เราจะทำตามสัญญา” มาจนถึงล่าสุด “พรุ่งนี้ต้องดีกว่าเดิม”

สัญญาของหัวหน้าคณะรัฐประหารก็คือ “การปฏิรูปประเทศ” และ “การเลือกตั้ง” โดยเฉพาะการปฏิรูปประเทศในด้านการเมืองก็สัญญาว่า “จะสร้างการเมืองใหม่” คือล้มล้างภาพความเลวร้ายของระบบการเมืองแบบเก่าๆ โดยใช้มาตรการทั้งทางรัฐธรรมนูญและกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญ “ปิดกั้น” และ “ป้องกัน” ไม่ให้นักการเมืองที่เคยประกอบกรรมทำชั่วได้หวนกลับคืนมาในวงการการเมือง ยกตัวอย่างเช่นเขียนไว้ในรัฐธรรมนูญว่าไม่ให้คนที่อยู่นอกประเทศหรือไม่ได้เกี่ยวข้องกับการบริหารพรรคมา “บงการ” หรือควบคุมการดำเนินงานของพรรค หรือการทำไพรมารีโหวตเพื่อ “คัดกรอง” นักการเมืองให้ได้คนที่ประชาชนต้องการจริงๆ แต่เมื่อปรากฏข่าวว่ามีการเคลื่อนไหวที่จะจัดตั้งพรรคการเมืองเพื่อสนับสนุนหัวหน้าคณะรัฐประหาร โดยไปทาบทาม “ก๊วนการเมือง” ที่คณะรัฐประหารเคยขับไล่และควบคุมตัวเหล่านั้น ให้มาร่วมเป็นฐานคะแนนในการเลือกตั้ง รวมถึงฐานเสียงในรัฐสภาเพื่อให้คณะรัฐประหารอยู่ในอำนาจผ่านระบบการเลืกตั้งนั้นต่อไป จึงได้สร้างความงวยงงกับประชาชนว่า แล้ว “พรุ่งนี้จะดีกว่าเดิม” ได้อย่างไร

ผู้เขียนเชื่อว่าคณะทหารโดยเฉพาะนายทหารที่กุมอำนาจอยู่ในขณะนี้ ต้องเคยผ่านประสบการณ์ของการที่ทหารเข้าไปคุมระบบรัฐสภามาแล้วอย่างน้อยสัก 2 ช่วง คือ ในช่วงที่เป็นนายทหารระดับนายร้อย ราวปี 2522 ช่วงหนึ่ง ที่ทหารคุมวุฒิสภาไว้ทั้งหมด ในขณะที่ใช้ตำแหน่งในรัฐบาลแลกเปลี่ยนผลประโยชน์กับ สส. กับในช่วงปี 2535 อีกช่วงหนึ่ง ที่นายทหารเหล่านี้น่าจะเป็นนายพันกันหมดแล้ว ทหารก็ใช้พรรคการเมืองมาหนุนผู้นำทหารให้เป็นนายกรัฐมนตรี แต่ก็มีอายุสั้นๆ ทั้งสองช่วง เพราะ “นักการเมือง” เหล่านั้น “เลี้ยงไม่เชื่อง” และหักหลังคณะทหารเหล่านั้นมาแล้วเช่นกัน

หลายคนที่ร่วมต่อสู้มากับกระบวนการ กปปส. ที่ขับไล่นักการเมืองกลุ่มทุนสามานย์ (และพวกคิดล้มล้างสถาบัน) คงจะกลับย้อนไปมีความรู้สึกร่วมกันได้ว่า ทันทีที่ คสช.ยึดอำนาจได้และประกาศแนวทางการปฏิรูปประเทศ พวกเราจำนวนมากต่างยินดีและไชโยโห่ร้องต้อนรับ โดยหวังว่าคณะทหารชุดนี้จะสามารถทำได้จริง โดยไม่ทำให้ “เสียของ” เหมือนคณะ คมช.ของ พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน แต่ผ่านมา 47 เดือน เราก็ได้เห็นเพียงแค่ “ความอับจนปัญญา” ของคณะผู้มีอำนาจ แทนที่จะมีการปฏิรูปประเทศโดยการพัฒนาการเมืองไทยให้ดีขึ้น แต่กลับหวนมาทำการเมืองแบบเดิมๆ แบบที่คณะนายทหารรุ่นพี่รุ่นพ่อก็เคยล้มเหลวมาแล้ว

หลายคนคงจะเสียใจที่ทหารทำไม่ได้อย่างที่อวดอ้าง แต่ที่น่าเสียใจมากกว่าก็คือ ไม่เพียงแต่ทหารไม่ได้สร้างสรรค์ให้เกิด “การเมืองที่ดี” อย่างที่ได้เคยให้ความหวังแก่คนไทยมาหลายปีนั้นแล้ว ทหารยังพาการเมืองไทยกลับไปสู่วังวนเดิมๆ ของการเมืองไทย ที่สุดเมื่อมีการเลือกตั้งแล้ว (ที่คงไม่ใช่ต้นปี 2562) บ้านเมืองก็วุ่นวายขึ้นมาอีก ในรัฐบาลและในรัฐสภาก็จะยิ่งแลกเปลี่ยนผลประโยชน์กันเพื่อความอยู่รอด บางทีรัฐประหารซ้ำอาจจะเกิดขึ้นตามมา ระบบรัฐสภาก็จะพังไปพร้อมกับรัฐบาลที่มีทหารเป็นผู้นำ

ระหว่าง “อุบาทว์” กับ “อุจาด” อะไรจะแย่กว่ากัน