posttoday

"หมอนทองไทย" กับมนตรา "อาลีบาบา"

22 เมษายน 2561

ดูเหมือน “อาลีบาบา” จะทำให้เราต้องตื่นตัว เรียนรู้ ตั้งรับ และต่อกรในทุกมิติจริงๆ

โดย...ผศ.ดร.ประมวล สุธีจารุวัฒน ภาควิชาวิศวกรรมอุตสาหการ คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

พลันที่สำนักข่าวซินหัวของจีน รายงานว่า คนจีนแห่ซื้อทุเรียนพันธุ์ยอดนิยม “หมอนทอง” ของไทยผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์ “T-mall” ของ “บริษัท อาลีบาบา” กันแบบถล่มทลายจำนวน 8 หมื่นลูก ในเวลาแค่ 1 นาที เมื่อวันพุธที่ 18 เม.ย.ที่ผ่านมา หนึ่งวันก่อนการเดินทางมาประเทศไทยของ “แจ็ค หม่า” ประธานกรรมการบริหารของ “อาลีบาบากรุ๊ป” เพื่อเข้าพบหารือกับนายกรัฐมนตรี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา พร้อมลงนามในข้อตกลงเป็นตัวแทนจำหน่ายทุเรียนพันธ์ุหมอนทองกับรัฐบาลไทย มูลค่า 428 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และประกาศว่าภายในปี พ.ศ. 2562 อาลีบาบาจะลงทุนราว 330 ล้านดอลลาร์ (ประมาณหมื่นล้านบาท) ในประเทศไทยเพื่อพัฒนา “ตลาดออนไลน์” โดยเฉพาะการส่งเสริมให้มีการขายสินค้าเกษตรของไทยไปยังตลาดผู้บริโภคในจีน

“แจ็ค หม่า” กล่าวตอนหนึ่งว่า “ประเทศจีนกำลังจะกลายเป็นตลาดของผู้บริโภคที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลก ด้วยกำลังซื้ออันเกิดจากความร่ำรวยขึ้นของชนชั้นกลางจีนกว่า 300 ล้านคน ไม่มีเวลาที่เหมาะสมไปกว่านี้แล้วสำหรับประเทศที่เน้นทำธุรกิจค้าขายที่จะฉกฉวยโอกาสนี้ในการส่งสินค้าไปขายในประเทศจีน เพราะจีนกำลังเปิดกว้างสู่ประตูการค้าในเวทีระดับนานาชาติ ด้วยความแข็งแกร่งของผู้คนและวัฒนธรรมอันโดดเด่นของประเทศไทย เรามีความเชื่อมั่นในอนาคตและศักยภาพในการเติบโตของประเทศไทยภายใต้นโยบายของรัฐบาล ซึ่งมุ่งเน้นการพัฒนาเศรษฐกิจด้วยการส่งเสริมอุตสาหกรรมหนัก เกษตรกรรม เทคโนโลยี และนวัตกรรมต่างๆ”

หลังข่าวแพร่ออกไป โลกออนไลน์ของไทยก็ถกเถียงกันอย่างกว้างขวางว่า การมาถึงของ “อาลีบาบา” ในครั้งนี้จะ “ให้คุณหรือเป็นโทษ” กับธุรกิจของไทย จำแนกได้อย่างน้อย 3 กลุ่ม คือ กลุ่ม “SME” ผู้ผลิตสินค้าในประเทศไทย กลุ่มพ่อค้าแม่ค้าออนไลน์ที่นิยมสั่งซื้อสินค้าจีนผ่านแพลตฟอร์มชื่อดัง อย่าง “ลาซาด้า” (Lazada) “เถาเป่า” (Taobao) หรือ 1688.com มาจำหน่ายกันผ่านโซเชียลมีเดียอย่างครื้นเครง (จนสังเกตได้จากความคับคั่งของผู้คนในการส่งสินค้ากันที่ไปรษณีย์และผู้ให้บริการขนส่งต่างๆ) และกลุ่มสินค้าเกษตร ซึ่งหลายท่านอาจเริ่มกังวลว่าทุเรียนไทยจะถูกส่งไปขายที่จีนเสียหมดจนไม่เหลือไว้ให้คนไทยกินกันเอง หรือบางท่านไปไกลถึงขนาดคิดว่าจะหันไปทำสวนทุเรียนเพื่อผลิตส่งขายประเทศจีน

กรณีสินค้าเกษตร ต้องสังเกตและไตร่ตรองมากเป็นพิเศษ เนื่องจากเกี่ยวพันกับเรื่อง “การรุกคืบของธุรกิจนำเข้าและส่งออกสินค้าเกษตรผ่านถนน R3A” ของพ่อค้าจีนในรูปแบบ “ล้ง” ที่ไปรับซื้อผลไม้จากหน้าสวนเพื่อส่งไปขายในประเทศจีนในลักษณะ “ผลไม้ปลูกในไทย ส่งออกโดยคนจีน ขนส่งโดยคนจีน และค้าส่งโดยคนจีน” โดยไม่ต้องเสียอากร (ตามข้อตกลง
ACFTA - ASEAN-China Free Trade Area)

กรณีสินค้าเกษตรค่อนข้างแตกต่างจากสินค้าอื่น เนื่องจากต้องผ่านกระบวนการตรวจสอบและกักกันโรคสำหรับการส่งออกนำเข้าผลไม้ระหว่างประเทศไทยและจีนแล้ว (สำหรับกรณีถนน R3A มีการลงนามในพิธีสารเมื่อวันที่ 21 เม.ย. 2554 ณ กรุงปักกิ่ง) ก็ยังมีเรื่อง “วิธีดำเนินธุรกิจ” ที่แตกต่างออกไป นอกเหนือไปจากรูปแบบของธุรกิจ นำเข้า-ส่งออก สินค้าเกษตรที่ผ่านมาจะเป็น “ธุรกิจของคนจีน” แล้ว อาลีบาบาอาจจะทำให้เราต้องจับตาดูว่ารูปแบบของธุรกิจนี้จะกลายเป็น “ผูกขาด” โดยผู้ให้บริการรายใหญ่เพียงรายเดียว การลงนามในข้อตกลงให้อาลีบาบาเป็นตัวแทนจำหน่ายทุเรียนพันธ์ุหมอนทองกับรัฐบาลไทย มูลค่า 428 ล้านดอลลาร์ ก็เป็นเรื่องที่น่าสนใจว่าเหตุการณ์จะดำเนินต่อไปอย่างไร

ว่าโดยสรุปแบบไม่ต้องแปลกใจ การมาถึงของอาลีบาบาครั้งนี้ย่อมส่งผลกระทบกลุ่มผู้ประกอบการทั้งภาคการผลิตและภาคจัดจำหน่ายของไทย แม้คำหวานของ “แจ็ค หม่า” อาจทำให้เรามองเห็นภาพสวยหรูว่าสินค้าของไทยมีโอกาสรุกเข้าสู่ตลาดของจีนที่มีกำลังซื้อกว่า 1,300 ล้านคน (จนถึงเดือน มี.ค. ปี ค.ศ. 2017 อาลีบาบามีผู้ใช้บริการราว 454 ล้านคน) แต่ในมุมกลับกันสินค้าจากจีนที่มีราคาถูกกว่า ปริมาณมากกว่า หลากหลายกว่าก็ย่อมสามารถเข้าถึงผู้บริโภคในประเทศไทยได้โดยตรง โดยไม่มีเหตุผลที่จะต้องจัดซื้อผ่านคนกลางอีกต่อไป ธุรกิจในกลุ่มนี้จะต้องเร่งปรับตัว มิเช่นนั้นก็อาจจะต้องล้มหายตายจากไป ทั้งนี้ต้องยอมรับว่าเมื่อตลาดออนไลน์มีความสะดวกขึ้น (ซึ่งเป็นเรื่องดีสำหรับผู้บริโภค และอาจจะเป็นเรื่องดีที่คนไทยจะได้รับแรงกดดันอย่างรุนแรงให้ต้องพัฒนาตัว) กลุ่มผู้ค้าปลีก ห้างร้าน หรือแม้แต่ภาคการเงินการธนาคารก็จะต้องได้รับผลกระทบ อันเกิดจากพฤติกรรมของผู้บริโภคที่จะปรับเปลี่ยนไป

ประเด็นสุดท้าย (แต่ไม่ท้ายสุด) ที่จะต้องจับตามองกันต่อไปอีกเมื่อครั้งที่ “แจ็ค หม่า” เดินทางไปพบ “โอบามา” และ “โดนัลด์ ทรัมป์” สองประธานาธิบดีของสหรัฐอเมริกา เพื่อชักชวนชาวอเมริกันให้มาทำธุรกิจกันบนแพลตฟอร์มของอาลีบาบา (สหรัฐอเมริกามีแพลตฟอร์มออนไลน์ของตัวเองที่ใหญ่ที่สุด คือ Amazon.com แต่ก็เป็นแพลตฟอร์มที่มีรูปแบบการดำเนินธุรกิจที่อาจจะต่างไปจากอาลีบาบา กล่าวคือ อาลีบาบาอาจจะเน้นให้ตัวเองเป็นแพลตฟอร์มของร้านค้ารายย่อยต่างๆ ที่ไปทำธุรกิจแข่งขันกัน) มีบทวิเคราะห์จากนักเขียนชื่อดังหลายท่านในสื่ออย่าง Fortune และ Financial Times ที่กล่าวถึงข้อกังวลของชาวอเมริกันที่มีต่อ “สินค้าปลอม” ที่ขายกันอย่างคึกคักในอาลีบาบา

ข้อเขียนหนึ่งใน USA Today กล่าวว่า “ผู้บริโภคชาวจีนเองก็ไม่ค่อยจะไว้ใจในความปลอดภัยของธัญญาหารที่ปลูกโดยคนจีน รวมถึงผลิตภัณฑ์เสริมความงามที่ผลิตในประเทศจีน พวกเขาเป็นกังวลกับผลิตภัณฑ์เหล่านี้ที่จะต้องไปสัมผัสผิวพรรณทั้งของพวกเขาเองและลูกหลาน อาหารและผลิตภัณฑ์ต่างๆ จากสหรัฐอเมริกาดูจะมีชื่อเสียงดีและน่าเชื่อถือมากกว่า”

สำหรับสหรัฐอเมริกา อาลีบาบาถูกมองว่าเป็นแหล่งจัดจำหน่ายสินค้าปลอม การลอกเลียนผลิตภัณฑ์ยี่ห้อดังของคนอเมริกัน “สมาคมต่อต้านสินค้าปลอมนานาชาติ” (IACC, International Anti-Counterfeiting Coalition) ประมาณการว่าเฉพาะในปี ค.ศ. 2015 มีสินค้าปลอมขายในอาลีบาบามูลค่ากว่า 1.7 ล้านล้านดอลลาร์

ปี ค.ศ. 2015 “แจ็ค หม่า” หลีกเลี่ยงที่จะออกสื่อที่งานต่อต้านสินค้าปลอมในรัฐฟลอริดา ซึ่งเขามีกำหนดปาฐกถาที่งานในเมืองออร์แลนโด ภายหลังเขาส่ง “จดหมายเปิดผนึก” ผ่านแพลตฟอร์ม “เหว่ยโป” (Weibo) ถึงรัฐบาลจีนให้จัดการกับธุรกิจค้าของปลอมอย่างจริงจัง เนื่องจากคงจะเป็น “หอกข้างแคร่” ของอาลีบาบา

เขากล่าวว่า “หากเราจับคนทำของปลอมมาลงโทษให้ติดคุกเสีย 7 วัน สำหรับการทำสินค้าปลอมแต่ละรายการที่ขายไป โลกของเราก็จะเปลี่ยนแปลงไป ทรัพย์สินทางปัญญาจะได้รับการพิทักษ์ เราจะมีความปลอดภัยของอาหารและยา และจะช่วยให้เรามีความสามารถในการพัฒนานวัตกรรมใหม่ๆ ได้เร็วมากขึ้น” และ “กฎหมายของเราทำให้ 99% ของคนทำสินค้าปลอมไม่ได้รับโทษอะไร หรือถ้ามีก็เพียงน้อยนิด ใครๆ ก็เอาแต่พูดเรื่องสนับสนุนให้หยุดการทำสินค้าปลอม แต่ก็เหมือนหมาที่เอาแต่เห่า ไม่เคยกัดจริงๆ เสียที”

รายงานในนิตยสาร Fortune ระบุว่า มีคนจีนราว 10 ล้านคน ทำงานอยู่ในธุรกิจสินค้าปลอม หากรัฐบาลจีนจะเอาจริงเอาจังที่จะหยุดธุรกิจผิดกฎหมายนี้ก็คงจะทำสำเร็จได้ในระเวลาอันสั้น แต่ในเวลาเดียวกันธุรกิจที่ทำให้คน 10 ล้านคน มีงานทำก็อาจเป็นเงื่อนไขที่ทำให้ไม่มีใครอยากไปแตะต้องอะไร

ดูเหมือน “อาลีบาบา” จะทำให้เราต้องตื่นตัว เรียนรู้ ตั้งรับ และต่อกรในทุกมิติจริงๆ