posttoday

พรรคใหม่ไม่หวังสูง สู้แบบเจียมตัวเข้าสภา

16 เมษายน 2561

การเมืองไทยกำลังเกิดความไม่แน่นอนอย่างเห็นได้ชัด โดยเฉพาะการเลือกตั้งที่แม้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ

โดย ทีมข่าวการเมืองโพสต์ทูเดย์

การเมืองไทยกำลังเกิดความไม่แน่นอนอย่างเห็นได้ชัด โดยเฉพาะการเลือกตั้งที่แม้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) จะย้ำนักย้ำหนาว่าการเลือกตั้งจะมีขึ้นแน่ในต้นปี 2562 แต่พลันที่ สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) พิจารณากฎหมายเลือกตั้งไปแบบมีตำหนิ ทำให้การเลือกตั้งที่คนไทยต่างเฝ้ารอเกิดความสั่นคลอนขึ้นมาทันที

เมื่อไม่นานมานี้ สนช.เพิ่งให้ความเห็นชอบ ร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง สส. และ ร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการได้มาซึ่ง สว. ซึ่งเป็นกฎหมายเลือกตั้ง 2 ฉบับสุดท้ายจากทั้งหมด 4 ฉบับ แต่การให้ความเห็นชอบของ สนช.ดังกล่าวได้นำมาซึ่งความแคลงใจว่ามีเนื้อหาบางส่วนที่ขัดกับรัฐธรรมนูญ

ก่อนที่ในที่สุด สนช.ทนกับกระแสกดดันไม่ไหว จนต้องส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความ ซึ่งล่าสุดศาลรัฐธรรมนูญได้รับไว้พิจารณาเรียบร้อยแล้ว

ถ้ากฎหมายผ่านศาลรัฐธรรมนูญก็ดีไป แต่ถ้าไม่เป็นเช่นนั้นอาจหมายความว่าจะต้องกลับมาเริ่มต้นเขียนกฎหมายกันใหม่ ซึ่งต้องใช้เวลาไม่น้อยกว่าหนึ่งหรือสองปีอย่างแน่นอน

ตรงนี้จึงนำมาซึ่งความหวั่นวิตกว่าการเลือกตั้งที่รอกันมานานถึง 4 ปี อาจต้องต่อไปอีกพักใหญ่

อย่างไรก็ดี ภายใต้ความไม่แน่นอนเกี่ยวกับการเลือกตั้ง แต่ด้านหนึ่งก็มีกลุ่มบุคคลเข้ามาแสดงเจตนากับคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เพื่อขอตั้งพรรคการเมืองใหม่เป็นจำนวนมาก

กกต.ได้สรุปยอดล่าสุดเมื่อช่วงต้นเดือน เม.ย.ที่ผ่านมา พบว่ามีจำนวนทั้งสิ้น 98 พรรคการเมือง โดยมีบางส่วนที่ได้รับการรับรองให้สามารถจดทะเบียนเป็นพรรคการเมืองไปแล้ว โดยเมื่อได้รับการรับรอง บรรดากลุ่มผู้ก่อการจะต้องไปดำเนินการตามกฎหมายเพื่อเข้าสู่สถานะของการเป็นพรรคการเมืองอย่างเป็นทางการต่อไป

ตัวเลข 98 ที่ออกมานั้นนับว่าสะท้อนความหมายทางการเมืองอยู่พอสมควร เพราะเมื่อรวมกับพรรคการเมืองเดิมที่เคยลงเลือกตั้งครั้งล่าสุดเมื่อปี 2554 ที่มีถึง 40 พรรค จะทำให้เห็นแนวโน้มของการแข่งขันในสนามเลือกตั้งครั้งหน้าว่าประชาชนคนไทยอาจมีพรรคการเมืองให้เลือกมากถึง 100 พรรคก็เป็นได้

เมื่อมีความเป็นไปได้ว่าจะเป็นเช่นนั้น จึงนำมาซึ่งคำถามที่ว่า ทำไมกติกาของการเลือกตั้งระบบ “จัดสรรปันส่วนผสม” ที่หลายฝ่ายต่างออกมาพูดตรงกันว่าเป็นกลไกทำลายพรรคการเมือง แต่กลับมีกลุ่มคนหน้าใหม่ออกมาขอตั้งพรรคการเมืองป้ายแดงเป็นจำนวนมาก

ระบบการเลือกตั้งในปัจจุบัน ประชาชนจะลงคะแนนเลือก สส.ทั้งสองระบบด้วยบัตรเลือกตั้ง สส.แบ่งเขตเลือกตั้งเพียงใบเดียว และเอาทุกคะแนนของ สส.ระบบแบ่งเขตไปคำนวณหาจำนวน สส.บัญชีรายชื่อที่แต่ละพรรคจะพึงมีพึงได้ต่อไป

เมื่อทุกอย่างไปผูกกับบัตรเลือกตั้ง สส.แบบแบ่งเขตเลือกตั้งแล้ว นั่นหมายความว่าพรรคการเมืองต้องคัดเกรดเอเพื่อลงสนามเลือกตั้งเพื่อให้ได้คะแนนมากที่สุด ซึ่งในทางปฏิบัติแล้วพรรคการเมืองเก่าที่ทำพื้นที่มานานและอยู่มาก่อน ย่อมได้เปรียบพรรคการเมืองใหม่ที่่เริ่มต้นจากศูนย์

แต่กระนั้น ถึงระบบเลือกตั้งจะไม่เอื้อประโยชน์ให้กับพรรคการเมืองน้องใหม่มากนัก ก็ใช่ว่าพรรคการเมืองใหม่จะไร้ซึ่งโอกาสเสียทีเดียว

ทั้งนี้ เป็นเพราะภูมิศาสตร์ทางการเมืองกำลังเกิดการเปลี่ยนแปลงพอสมควร ต้องไม่ลืมว่าคะแนนนิยมของบรรดากลุ่มอำนาจเก่าไม่ว่าจะเป็นพรรคการเมืองไหนก็ไม่ค่อยสูดีนัก ซึ่งจะกลายเป็นช่องว่างให้พรรคการเมืองใหม่สามารถฉวยโอกาสเพื่อชิงสัดส่วนเก้าอี้ สส.บัญชีรายชื่อได้มากขึ้น

เรียกได้ว่าพรรคการเมืองใหม่จะขอสู้แบบเจียมตัว เล่นกับกระแสสังคม โดยไม่หวังจะชนะ สส.ระบบแบ่งเขตเลือกตั้ง แต่หวังใช้กระแสเพื่อตัดคะแนนพรรคการเมืองเก่ามาเป็นคะแนน สส.บัญชีรายชื่อของพรรคตัวเอง จึงไม่แปลกที่พรรคการเมืองใหม่พยายามขายความเป็นคนรุ่นใหม่สู้กับพรรคการเมืองเก่า

กกต.ออกมาวิเคราะห์ในเบื้องต้นว่าสัดส่วนของคะแนนต่อ สส.บัญชีรายชื่อหนึ่งคนน่าจะอยู่ที่ประมาณ 7 หมื่นคะแนน ซึ่งจะว่าไปแล้วตัวเลข 7 หมื่นคะแนนก็ไม่ได้ยากเกินไปที่พรรคการเมืองจะไปถึงจุดนั้น เพียงแต่ต้องอาศัยกระแสเป็นกำลังหลักในการขับเคลื่อนเพื่อสู้กับพรรคการเมืองเก่า

ดังนั้น ภายใต้เงื่อนไขและกระแสทางการเมืองที่มีแนวโน้มว่าจะเปลี่ยนแปลงไปอย่างมีนัยสำคัญ อาจเป็นโอกาสของพรรคการเมืองใหม่ที่จะเดินเข้าสภา ไม่ได้ผูกขาดโดยบางพรรคเหมือนในอดีต