posttoday

สงกรานต์แข่งกันตายปล่อยคนขายทำผิดลอยนวล

12 เมษายน 2561

ยังเกาไม่ถูกที่ สงกรานต์แข่งกันตาย...ปล่อยคนขายทำผิดกฎหมายลอยนวล?

ยังเกาไม่ถูกที่ สงกรานต์แข่งกันตาย...ปล่อยคนขายทำผิดกฎหมายลอยนวล?

มีการประกาศมาตรการต่างๆนาๆจากทุกภาคส่วน โดยเฉพาะหน่วยงานที่เกี่ยวข้องที่มีหน้าที่โดยตรงในการดูแลปฎิบัติหน้าที่ในช่วงเทศกาลสงกรานต์ ทั้งในส่วนของเจ้าหน้าที่ตำรวจ มหาดไทย คมนาคม สาธารณสุข ฯลฯ และในส่วนของภาคประชาสังคม หน่วยงานองค์กรต่างๆ ที่ ร่วมกันรณรงค์ สารพัดแคมเปญ

แน่นอนกิจกรรมเหล่านี้ แทบจะกลายเป็นภารกิจ ที่พ่วงติดกับเทศกาลสงกรานต์ของไทย เพราะไม่ว่าจะเป็นสงกรานต์ปีไหนๆ หรือ อาจจะกล่าวได้ว่าไม่ว่าเทศกาลไหนๆของประเทศ ล้วนพ่วงอยู่กับ อุบัติเหตุ7วันอันตราย เจ็บตายจากอุบัติเหตุบนท้องถนน

และยิ่งนับวัน สิ่งนี้กำลังกลายเป็นวัฒนธรรมความไม่ปลอดภัยในสังคมไทย แทนที่กิจกรรมสร้างสรรค์ ที่ประกอบด้วยวิถีชีวิตประเพณีอันงดงาม ที่ถ่ายทอดสืบต่อกันมา เป็นเทศกาล ที่นำไปสู่การสูญเสียชีวิต บาดเจ็บ ล้มตาย มาอย่างต่อเนื่องในทุกๆปี หรือ ล่าสุด นอกจาก รณรงค์สงกรานต์ปลอดเหล้า กลายเป็นต้องมาเพิ่มเคมเปญ หยุดพฤติกรรรมไม่เหมาะสม ลวนลาม คุกคามทางเพศ ไปในแต่ละพื้นที่ต่างๆด้วย

เกิดอะไรขึ้นในสังคมไทย?

และเหตุใดปัญหาเรื้อรัง อุบัติเหตุ บนท้องถนน ที่พุ่งทะยานสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องยิ่งในช่วงเทศกาล แทบจะเรียกว่า เป็นมหกรรมแข่งกันตาย และผลกระทบไม่ได้แค่เฉพาะในประเทศ แต่ขณะนี้กำลังกลายเป็นที่จับตามองของนานาประเทศ ในเรื่องของปลอดภัยทางถนน จนล่าสุด กรุงเทพมหานครได้รับคัดเลือกจากมูลนิธิบลูมเบิร์กเพื่อสาธารณะประโยชน์ ให้เป็น หนึ่งในสิบเมืองที่เข้าร่วมโครงการความคิดริเริ่มเพื่อความปลอดภัยทางถนนทั่วโลก เป็นระยะ5ปี เพื่อมุ่งลดความสูญเสียอุบัติเหตุ

นัยยะสำคัญของ การถูกจัดอันดับ หรือเป็นหนึ่งในประเทศ ที่ถูกหยิบยกขึ้นมาศึกษา หาใช่เป็นเรื่องที่น่ายินดี แต่ในทางกลับกัน คือ คำถามว่า เหตุใด มาตรการต่างๆ หรือ กฎหมาย ตลอดจนการรณรงค์ปลูกจิตสำนึก ให้เกิดขึ้นในประเทศจึงไม่เกิดผล หรือ หน่วยงานที่รับผิดชอบ รัฐบาล กำหนดทิศทางการแก้ไขปัญหา ได้ตรงจุดหรือไม่ โดยเฉพาะปมปัญหา สองเรื่องใหญ่ นั้นคือ บทบาทผู้รักษากฎหมาย กับ การแสวงหาผลประโยชน์ทางธุรกิจของกลุ่มทุน

สงกรานต์แข่งกันตายปล่อยคนขายทำผิดลอยนวล

ชูวิทย์ จันทรส เลขานุการเครือข่ายรณรงค์ป้องกันภัยแอลกอฮอล์ ระบุว่า เทศกาลสงกรานต์ ถือเป็นช่วงน้ำขึ้นให้รีบตัก หรือ ถูกจับจองทำการตลาดมากกว่าปกติของกลุ่มทุนธุรกิจน้ำเมา เพราะเป็นวาระแห่งการฉลองของคนไทยในทุกระดับ ทุกพื้นที่

เขาระบุว่าปัญหาคือกิจกรรมที่เกิดขึ้น พ่วงกับการหลบเลี่ยง ฉวยโอกาส การส่งเสริมการขายแบบเทาๆ เป็นเทคนิค ทางการตลาด ที่มุ่งเน้นไปในตอนกลางคืนเพิ่มมากขึ้น

“บรรดาสารพัดอีเว้น ปาร์ตี้ คอนเสิร์ตกลางคืน หรือมิดไนท์สงกรานต์ ยิ่งดึกๆ กิจกรรมกินดื่ม ส่งเสริมการขาย ก็เพิ่มมากขึ้นและผิดกฎหมายชัดเจน สิ่งที่จะตามมาคือ การออกสู่ท้องถนน ด้วยความมึนเมา กับยานพาหนะทั้งสองล้อ สี่ล้อ และมักจะตามมาด้วยอุบัติเหตุ นี่คือ วงจรของปัญหา ที่เจ้าหน้าที่ ไม่เคยเข้าไปแตะ หรือจะแตะบ้างก็น้อยมาก เหมือนหรี่ตาข้างหนึ่ง การทำงานที่มุ่งเน้นกันอยู่จึงเป็นการแก้ปัญหาแบบเกาไม่ถูกที่คัน ไม่พยายามที่จะแตะ สาวไปหาต้นสายปลายเหตุ ต้นธารอุบัติเหตุ การสูญเสียชีวิต”

ชูวิทย์ ระบุว่า กฎหมายมีกำหนดไว้ชัดเจน ทั้งการห้ามขายให้คนเมา ห้ามขายให้เด็กอายุต่ำกว่า 20ปี ห้ามขายเกินเวลาที่กำหนด ห้ามส่งเสริมการขาย เป็นต้น แต่กฎหมายจะมีผลในทางปฎิบัติที่จริงจังหรือไม่นั้น ข่าวสารที่ปรากฏในแต่ละวันจะเป็นตัวบ่งบอก เขายกตัวอย่าง ว่า เมื่อเด็กวัยรุ่น เยาวชน อายุต่ำกว่า 20ปี เกิดอุบัติเหตุในช่วงเทศกาล ถ้าเจ้าหน้าที่ตำรวจสาวไปถึงต้นตอ ก็จะพบว่าเด็กกินดื่ม มาจากร้านไหน ซื้อมาจากที่ไหน ซึ่งไม่ใช่เรื่องยากที่จะทำหากคิดว่าสำคัญและตั้งใจ รวมไปถึงการขายให้คนเมาครองสติไม่ได้ เมื่อรู้ที่มาก็เข้าไปดำเนินการกับร้านค้า ธุรกิจเหล่านั้นให้เข็ดหลาบ สิ่งที่จะตามมาคือ ร้านเหล่านั้น ก็จะมีความระมัดระวัง เพิ่มมากขึ้น ประเภทที่เอาแต่จะขายโกยเงินอย่างเดียวหลบเลี่ยงกฎหมายสารพัดมันจะทำได้ยากขึ้น แต่เจ้าหน้าที่ก็ให้ความสำคัญกับเรื่องนี้น้อยไป หลายกรณีสามารถตรวจสอบหลักฐานใบเสร็จ หรือกล้องวงจรปิด พยานแวดล้อมได้ กฎหมายมีอยู่ และมีความเข้มแข็งในระดับหนึ่ง แต่ในทางปฎิบัติของเจ้าหน้าที่ ไม่ได้เข้าไปแก้ไขปัญหาที่ต้นทาง ต่อให้มีการตั้งด่านเป็นร้อยเป็นพัน สูญเสียงบประมาณไปมากมาย ถ้าต้นตอไม่ถูกจัดการ ปัญหาก็ดำรงอยู่ สิบปีที่ผ่านมาปัญหาอยู่ในระดับทรงๆ เป็นเชื้อดื้อยาไปแล้วเพราะเรายังวนเวียนอยู่กับวิธีการเดิม ไม่กล้าไปแตะที่ต้นทางของปัญหา

นักกิจกรรมทางสังคมที่เกาะติดปัญหาเรื่องเหล้ามาตลอดมองว่า ทางออกในวันนี้ คือภาคประชาชนอย่างพวกเราจะต้องทำงาน สร้างเครือข่าย เก็บข้อมูล เปิดโปงฟ้องสังคม เพื่อให้เห็นว่า เจ้าหน้าที่รัฐได้ปฎิบัติหน้าที่ตามกฎหมายแล้วหรือไม่ ขณะเดียวกันก็ต้องเรียกร้องจิตสำนึกทางธุรกิจของผู้ผลิตและผู้ขายให้มากกว่านี้ หากจะกอบโกยสร้างรายได้งอกงามบนความเจ็บความตายของประชาชน ได้รับผิดชอบอะไรตรงนี้บ้าง เอาแค่อีเว้นเดียวก็สร้างคนเมาออกมาเกลื่อนถนนชนิดนับกันไม่ถ้วน ว่ากันว่าแค่ค่ายเดียวก็จัดกันเป็นพันอีเว้น และทุกค่ายก็ทำกันหมดลองคิดดูว่ามันมหาศาลขนาดไหนช่วงสงกรานต์

เขาทิ้งท้ายว่า ที่ผ่านมา หากมีการดำเนินการก็ไปได้แค่เจ้าของรายย่อย แต่รายใหญ่ไปไม่เคยถึง ถึงแม้มีการร้องเรียนไปหลายหน่วยงาน แต่ก็ถูกวิธีการตัดตอน มีคนออกหน้ารับแทนนายทุนใหญ่ ซึ่งส่วนหนึ่งก็ต้องยอมรับว่าเป็นเรื่องของช่องว่างในทางกฎหมาย ที่จะต้องมีการพัฒนา อุดช่องโหว่ เพื่อเท่าทันกลุ่มทุนธุรกิจใหญ่เหล่านี้ ซึ่งเขามักจะโยนความผิดให้ผู้ดื่มเพียงฝ่ายเดียวมาโดยตลอด และสังคมไทยก็คล้อยตามด้วย แทบจะไม่มีใครตั้งคำถามกับผู้ผลิต ผู้ขาย ถามหาความรับผิดชอบ ซึ่งพวกเขาก็ยังคงลอยนวลกันต่อไป

นอกจากนี้ เขายังมองปัญหาการเมาแล้วขับว่า ควรมีการปรับโหมดเพิ่มโทษ มันต้องเปลี่ยนเพดานโทษจากเดิมที่มองแค่เรื่อง “ประมาท” ต้องเป็นโทษ “เจตนาเล็งเห็นผล” เนื่องจากผลที่จะเกิดขึ้นมันชัดเจน สะท้อนได้จากเคสเมาแล้วขับ ชนคนตาย5ศพที่จังหวัดตรัง โดนโทษปรับแค่เพียง3,400บาทและจำคุก4ปี ดังนั้นหากยังไม่เปลี่ยนโหมดในการมองปัญหา มองโทษคนเมาแล้วขับเป็นเจตนา ปัญหาลักษณะนี้ไม่มีทางลดลงแน่นอน ซึ่งไม่ต้องแก้กฎหมาย แต่ลงโทษในเพดาน สูงขึ้น

ถึงเวลาแล้วที่สังคมไทย จะต้องทบทวนอย่างจริงจัง ท่ามกลางการทุ่มเท งบประมาณจำนวนมหาศาล ใช้ทรัพยากรบุคคล ต้นทุนของสังคมจะต้องสูญเสียไปอีกเท่าไหร่ และอีกนานแค่ไหนแนวโน้ม กราฟ สถิติการสูญเสีย จะค่อยๆชะลอ พร้อมกับ ความเข้าใจ มีจิตสำนึกในทุกระดับของคนในสังคม ในการร่วมไม้ร่วมมือกันป้องกัน

หรือ ต่อให้มีอีกสิบมาตรการ ทุกหน่วยงาน ออกมาป่าวประกาศเดินหน้า แต่ตราบใดที่ กฎหมายยังไม่เดินหน้า แก้ปัญหา สะสางไปให้ถึงต้นสายปลายเหตุตามที่กล่าวมา ผู้ผลิตผู้ขายยังห่างไกลคำว่ารับผิดชอบสังคม

ก็คงไม่แปลกที่ ต้องมีวัฒนธรรมในประเทศ 7 วันอันตราย เป็นเอกลักษณ์พิเศษ นับศพ บาดเจ็บ ล้มตาย แข่งกันตายเทียบสถิติแต่ละปีกันต่อไป?